รายละเอียด :
|
การถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
โดย นายพลากร สุวรรณรัฐ
องคมนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์นั้น
ทรงห่วงใยราษฎรและได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดโครงการ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมายาวนาน และได้มีความสำเร็จเป็นประโยชน์
แก่พี่น้องประชาชน นับเนื่องมาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน
การทรงงานด้านพัฒนา เริ่มจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ ภายหลังจากที่เสด็จขึ้น
ครองราชย์เพื่อทรงรับทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ ปัญหาของราษฎรในพื้นที่ต่างๆ โดยเริ่มจากพื้นที่ภาคกลางก่อน จากนั้น
ก็ต่อไปยังภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรนี้ จึงเป็นที่มาของพระราชดำริในเรื่อง
ต่าง ๆ เช่น เรื่องฝนหลวง เรื่องฝายชะลอความชุ่มชื้น ที่เรียกกันว่า ฝายต้นน้ำลำธาร ได้ทอดพระเนตรสภาพความแห้งแล้ง
ในหลายภูมิภาคเช่น พื้นที่ภาคอีสาน และทรงหาแนวทางที่จะทำให้ฝนตกในฤดูกาลที่แห้งแล้ง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและ
ฟื้นฟูสภาพป่า ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติ
ทรงวางแผนและดำเนินการเป็นขั้นตอนสำหรับงานพัฒนา โดยเริ่มศึกษาทดลองในบริเวณพระราชวังที่ประทับ
คือ สวนจิตรลดา ก่อน ทรงทำให้เป็นโรงเรียนสอนผู้ที่จะนำไปปฏิบัติ และในการทดลองส่วนมากที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อประสบผล
สำเร็จ แล้วจึงพระราชทานให้นำไปปฏิบัติในพื้นที่จริง
การทรงงานพัฒนาในช่วงแรกๆ เป็นการพระราชทานความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ด้านสุขภาพอนามัย
การแก้ไขปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ และการเกษตรเพื่อให้ประชาชนมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ทรงวางแนวทาง
การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการศึกษา การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ
ในพื้นที่ป่าเขาที่ถูกบุกรุกทำลาย ดินเสื่อมสภาพ อันเป็นที่มาของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
หลังจากเสด็จฯ เยือนต่างประเทศทั่วโลกแล้ว ก็เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็น
ประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยที่มิได้เสด็จฯ ไปต่างประเทศอีกเลย ยกเว้นครั้งเดียว คือ เสด็จฯ ไปทรงเป็นองค์ประธาน
ร่วมกับประธานประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการเปิดโครงการเชื่อมโยงสายเคเบิลใต้น้ำ
และโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก ๒๒) ในประเทศ สปป.ลาว การเสด็จฯ คราวนั้นเป็นครั้งเดียว
ที่เสด็จฯ ออกนอกราชอาณาจักร หลังจากที่ได้เสด็จฯ ไปต่างประเทศครบทุกประเทศแล้ว โดยใช้เวลาทรงงานพัฒนา
เพื่อช่วยเหลือราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างหนักมาโดยตลอดกว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา
การทรงงานพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีกระบวนการติดตามการดำเนินงานทุกโครงการ
อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนจะเสด็จฯ ไปทรงติดตามความก้าวหน้าของโครงการในพื้นที่ที่ได้วางแนวพระราชดำริไว้ เจ้าหน้าที่
ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำรายงานขึ้นมาทูลเกล้าฯ เมื่อก่อนจะเสด็จฯ กลับจากพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็จะทำรายงานขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายก่อนว่ามีอุปสรรค มีปัญหาอะไร เพื่อจะได้พระราชทานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาตรงนั้นด้วย
จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสรับเสด็จฯ และฟังคำบอกเล่าถ่ายทอดจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยตามเสด็จฯ ไปในการ
ทรงงานทำให้สามารถกล่าวได้ว่าผู้ที่ติดตามเสด็จฯ ในการทรงงานได้ “ครูที่พิเศษสุด” ที่ดีที่สุด ประสบการณ์สูงสุด
ในการพัฒนาครบทุกด้าน ถือว่าเป็นบุญเป็นวาสนาของผู้ที่ได้ติดตามเสด็จฯ เหล่านั้น
ผมมีโอกาสได้รับเสด็จฯ ๒ ครั้ง ในช่วงที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งที่จังหวัด
เชียงใหม่ ประมาณ ๑๒ ปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการค้นคว้า จากคำบอกเล่าสู่กันฟังของผู้ที่ได้มีโอกาสติดตามเสด็จฯ
ไปในพื้นที่ทรงงานในหลายพื้นที่ พยายามปะติดปะต่อดูว่า ทรงมีหลักการทรงงานอย่างไร หรือทรงมีวิธีวางแผนทรงงาน
อย่างไร
ผมรับราชการในสำนักงานนโยบายและแผนมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย มาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ รวม
เบ็ดเสร็จแล้วประมาณ ๑๒ ปี สำนักงานฯ ส่งไปรับการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นๆ ที่ต่างประเทศเกี่ยวกับการวางแผน
พัฒนาชนบทโดยเฉพาะ แต่เมื่อมาศึกษาแนวคิดและวิธีทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องยอมรับว่าเรื่องที่
เล่าเรียนและรับการฝึกอบรมมาตามหลักทฤษฏี ในตำรา หรือแม้กระทั่งศึกษาเชิงปฏิบัติการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กล่าวได้ว่าทั้งในตำราและตามทฤษฎีแต่ละสำนักนั้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลน้อยกว่า
แนวพระราชดำริและวิธีทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนทั้งทางตรงและทางอ้อม
หลักการทรงงานในเบื้องต้น เมื่อจะทำอะไรต้องหาข้อมูลก่อน ทรงหาข้อมูลก่อนจะลงพื้นที่ จากเอกสาร จาก
ภาพนิ่ง จากภาพวิดีโอ จากภาพยนตร์ ที่เจ้าหน้าที่ทูลเกล้าฯ ถวาย สมัยนี้มีภาพถ่ายดาวเทียมประกอบด้วย ความลาดชัน
ความสูงของพื้นที่ ต้นน้ำลำธาร ตรงไหนเป็นพื้นที่สีเขียว ตรงไหนเป็นหิน เป็นดิน เป็นชุมชน เมื่อทรงศึกษาข้อมูลจาก
เอกสาร และข้อมูลจากเครื่องมือทางเทคโนโลยีจนครบถ้วนแล้ว เมื่อลงพื้นที่จริง ก็ทรงตรวจสอบว่าสิ่งที่ได้ทรงศึกษาจาก
เอกสาร ข้อมูล กับพื้นที่จริงนั้นเหมือนกันอย่างไร มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง โดยเฉพาะแผนที่ภูมิประเทศ ๑ : ๕๐,๐๐๐
ซึ่งถือว่าเป็นตาวิเศษถ้าอ่านแผนที่เป็น จะอ่านภูมิประเทศออกหมด แต่อาจจะมีความผิดพลาดบ้าง ทรงพกแผนที่ไปและ
ทรงแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของพื้นที่ เช่น ที่เนินเขาลูกนี้ อาจจะสูงกว่าลูกนั้น แต่ในแผนที่กลับบอกอีกลูกสูงกว่า
หรือว่าน้ำไหลมาทางนี้ แต่แท้จริงสายน้ำเปลี่ยนไปแล้ว เป็นต้น
เมื่อทรงตรวจสอบพื้นที่จริงกับแผนที่แล้ว ก็จะหาข้อมูลโดยตรงจากบุคคลตั้งแต่เจ้าหน้าที่ กรมชลประทาน
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หัวหน้าอุทยานฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ยังไม่ทรงเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ว่าคนเหล่านี้จะมีข้อมูล
ที่ถูกต้อง และชาวบ้านบางคนเกิดที่นั่น ชาวบ้านบางคนอยู่อาศัยทำกินตรงนั้น จะทรงขอให้ไปตามผู้เฒ่าผู้แก่มาถามว่า
เมื่อก่อนสายน้ำนี้ไหลมาจากทิศนั้นจริงใช่ไหม มาจากร่องน้ำนั้นใช่ไหม ผู้เฒ่าผู้แก่อาจจะบอกว่าใช่ แต่บัดนี้เปลี่ยนมา
ทางทิศนี้แล้ว การตรวจสอบข้อมูลเช่นนี้ก็เพื่อจะยืนยันความถูกต้องและแม่นยำจริงๆ และทรงให้ความสำคัญของข้อมูล
จากคนเก่าคนแก่ในพื้นที่นั้น ๆ เสมอ
เมื่อทรงแน่ชัดแล้วว่า ปัญหาความต้องการของประชาชนคืออะไร สมมุติว่าหมู่บ้านนี้ขาดแคลนน้ำทั้ง ๆ ที่น่า
จะมีน้ำ มีพื้นที่ภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำแต่ว่าชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ สมมุติว่าจะทรงกั้นแหล่งน้ำเล็กๆ หรือฝายขนาดเล็กจะทรงถาม
ก่อน เพื่อขอประชามติผู้นำกลุ่มต่างๆ ที่จะมีหลายกลุ่มหลายหมู่บ้าน ถ้ากั้นน้ำตรงนี้ได้อ่างเก็บน้ำแล้ว มีท่อส่งน้ำไป หมู่บ้าน
ก็จะมีน้ำกินน้ำใช้ และส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร จะพอใจไหม ใครคิดว่าได้ประโยชน์มากได้ประโยชน์น้อย ใครเดือดร้อน
ฟังความเห็นของประชาคมอย่างไม่เป็นทางการมาก่อน ถ้าทรงเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์มาก แต่ก็คงมีประชาชน
ส่วนน้อยที่เดือดร้อน อาจจะต้องสละที่ดินที่ใช้ทำการเกษตร จะทรงคิดว่า ทำอย่างไรให้ผู้ที่เดือดร้อน เดือดร้อนน้อยที่สุด
และได้รับการชดเชยเยียวยา คือสรุปว่า หากโครงการใดจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน จะไม่ทรงทำ ไม่ทรงเริ่ม
และทรงแนะนำให้เริ่มทำโครงการก็ต่อเมื่อจะเกิดความพึงพอใจครบถ้วน ครบองค์ประกอบ วิธีคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น
มานานก่อนที่คำว่า “ประชาพิจารณ์” หรือ “ประชาคม” จะเกิดขึ้น
เมื่อเกิดความยินยอมพร้อมใจแล้วก็เริ่มดำเนินโครงการ ท่ามกลางความเข้าใจ ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ จากนั้น
ก็นำไปปฏิบัติ ทุกขั้นตอนต้องมีการประเมินผล จะมีการประเมินถึงระยะเวลาที่ทำตามแผนว่ามีอุปสรรคอะไร จะทรงประชุม
วางแผนกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาทุกครั้งไป ทรงมีความรู้จากประสบการณ์ที่ได้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองอย่างจริงจัง
จนได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคทุกฝ่ายว่าจะทรงมองอะไรที่ลึกซึ้งมากและคาดการณ์ทุกอย่างได้อย่างแม่นยำ
เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ต้องมีการติดตามการใช้ประโยชน์ว่าเป็นไปตามที่ได้วางแผนหรือคาดการณ์ไว้
หรือไม่ ถ้ามีใครเดือดร้อนจะช่วยเขาอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยเยียวยาประชาชน
ดังนั้นโครงการกว่าสี่พันโครงการ คิดว่ากว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ ประชาชนมีความพอใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
ถามว่าโครงการเหล่านี้ประสบความสำเร็จทุกโครงการหรือไม่ บางโครงการอาจจะมีอุปสรรค ปัญหา หรือภัยธรรมชาติ
บางอย่างทำให้โครงการนี้เสียหาย ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้เกิดประโยชน์ตามที่ได้คาดหวังไว้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนว่า อย่าตกใจ อย่าเสียใจ ถ้าโครงการใดจะมีการผิดพลาด หรือไม่เสร็จ
ตามเป้าหมายที่วางไว้ ให้ถือเป็นบทเรียน และศึกษาให้ละเอียด ทำไม พลาดตรงไหน ผิดตรงไหน และอย่าท้อถอย จงยอมรับ
ความผิดพลาด ขอโทษประชาชนและเริ่มต้นใหม่ ทรงสอนว่า พวกเราไม่ใช่เทวดา ที่จะทำทุกอย่างให้ดีถูกต้องได้ผล
๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นเรื่องมนุษย์ปุถุชนคนเดินดิน
ดังนั้น การวางแผนที่ดีจะต้องไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอยต่อปัญหาอุปสรรค และต้องไม่หวั่นไหว ต่อเสียงวิพากษ์
วิจารณ์ด้วย ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์ทำเพื่อความหวังดี ต้องยอมรับฟังด้วยสติ ด้วยความอดทน ความเข้าใจ ทุกสิ่งทุกอย่าง
ผิดพลาดได้
เมื่อโครงการแล้วเสร็จประมาณ ๓ ปี จะกลับมาประเมินใหม่ ว่ายังดีอยู่ไหม ฝายที่ทำไปแล้ว ยังเก็บน้ำไหม
น้ำไปช่วยหมู่บ้านชุมชนได้จริงไหม ฝายมีตะกอนทับถมไหม น้ำล้นจนต้องทำการเสริมฝายขึ้นมาอีกหรือไม่ ต้องประเมิน
ทุก ๓ ปี ๕ ปี ไม่ใช่ว่าเสร็จแล้วเลิกเลย ที่สำคัญต้องบันทึกขั้นตอนทุกขั้นตอนไว้ เป็นบทเรียนในการทำโครงการที่
คล้ายคลึงกันในคราวต่อไปว่า ทำอะไรใหม่ทุกครั้งจะต้องทำให้ดีขึ้น ลดโอกาสผิดพลาดลงให้น้อยที่สุด ในช่วงปี
พ.ศ. ๒๕๓๖ ผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีได้ปีกว่าๆ มีโอกาสรับเสด็จฯ ที่อำเภอสายบุรี ได้ทรงวางโครงการทำ
คลองระบายน้ำ ยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร จากพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่เรียกว่า “พรุ” ซึ่งสภาพดินและน้ำมีความเป็นกรดสูง ในภาคใต้
จะมีพวกแร่ธาตุหลายๆ อย่าง ที่เป็นการทับถมของเศษซากพืชต่างๆ ในพื้นที่ที่น้ำมีความเป็นกรดสูง สีของน้ำเป็นสีกากีแก่ๆ
มีพระราชดำริให้ระบายน้ำเปรี้ยวจากพรุลงทะเลไป ระยะทางประมาณ ๕-๗ กิโลเมตร หากโครงการนี้สำเร็จ จะสามารถเปิดพื้นที่
ตรงนั้นเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรเพิ่มเติมให้แก่ราษฎรได้ วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕ เป็นปีแรกที่เสด็จฯ ไปทรงติดตามตรวจสอบ
ข้อมูลกับสภาพภูมิประเทศ ในปีนั้นเองก็ได้พระสหายที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ คุณลุงวาเด็ง วันที่เสด็จฯ ไปช่วงค่ำๆ แล้ว ก็ยังหาไม่พบ
ว่าคลองน้ำจืดมาบรรจบกันที่พรุตรงไหน ดูแผนที่ที่ทำไว้ให้ว่าผิด ก็ทรงคิดว่าจะทรงพระดำเนินไปประมาณ ๕๐๐ เมตร
พวกหน่วยถวายความปลอดภัยก็เกรงว่าอาจจะเกิดอันตราย เพราะมืดแล้ว มีพระราชดำรัสว่าจะต้องไป ทรงพระดำเนินไปตามทางคันนาบ้าง
เป็นคันร่องสวนบ้าง เป็นสวนยางบ้าง ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านบ้าง เจ้าของบ้านคือลุงคนหนึ่งตอนนั้นนุ่งโสร่งตัวเดียว เสื้อไม่ได้ใส่
เป็นผู้ชายตัวเล็กๆ อายุประมาณ ๗๐ ปี พูดไทยไม่ได้แม้แต่คำเดียว ทรงสอบถามผ่านล่ามว่า คลองน้ำจืดมาจากไหน มาอย่างไร
หน้าน้ำมาอย่างไร ล้นตลิ่งอย่างไร น้ำมันไหลไปทางไหน ในที่สุดสรุปว่า ทรงไปหาข้อมูลจากลุงคนหนึ่งซึ่งพูดไทยไม่ได้เลย
แล้ววันนั้น ลุงวาเด็งได้ชี้ไปที่ต้นทุเรียนบอกว่าจะขอถวายทุเรียนได้ไหม เพราะวันนี้ไม่มีอะไรจะถวาย จะขอถวายทุเรียนลูกหนึ่ง
ทรงตอบว่า ทุเรียนยังไม่สุกขอฝากไว้ปีหน้าค่อยมาเอา ในที่สุดลุงวาเด็งได้ถวายเครื่องสูบน้ำที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ๑ เครื่อง เรื่องดังกล่าว
จึงก่อเกิดมิตรภาพระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรคนหนึ่ง ที่พูดไทยไม่ได้แม้แต่คำเดียว แต่จิตใจผูกพันจงรักภักดีจนมาถึงบัดนี้
ลุงวาเด็ง จะส่งสิ่งของมาถวายตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนถึงปีนี้ อายุประมาณ ๙๐ ปี ยังแข็งแรง บางปีส่งจำปาดะ คือ ขนุนชนิดหนึ่ง
ที่มีกลิ่นแรงมาก ใส่กล่องบรรจุภัณฑ์ไปรษณีย์ ฝากทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่คนที่เขียนจดหมายคือลูก
เขียนจ่าหน้ากล่องพัสดุภัณฑ์ถึงตัวผมเพื่อฝากนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ปรากฏว่าพัสดุไปรษณีย์มาถึงที่ทำงานของผม กว่าที่ผมจะพบ
เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอก แต่โทรมาบอกว่ามีกล่องพัสดุมีกลิ่นแรงมากไม่รู้ว่าเป็นอะไร ผมก็บอกให้เปิดดูก็เป็นจำปาดะที่เน่าแล้ว
เพราะหลายวันแล้ว ผมไม่ได้ทูลกล้าฯ ถวาย แต่ได้กราบบังคมทูลว่ามีของฝากมาจากพระสหายจากปัตตานี พระสหายคนนี้
ก็ยังมีความผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จฯ ไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช พระสหายคนนี้ก็ให้ลูกหลาน
พามาลงนามถวายพระพรด้วย
ในปีต่อมา คือ ปี ๒๕๓๖ เสด็จฯ มาทรงติดตามความก้าวหน้าของการขุดคลอง เริ่มมีการขุดคลอง แต่ยังไม่เสร็จ
มีเต้นท์ที่ราษฎรมานั่งเฝ้าฯ รับเสด็จฯ เต้นท์แรกๆ มีชาวนามุสลิมหลายคนเอาข้าวมาถวาย ทรงถามว่า เป็นข้าวที่ไหน ชาวนาก็บอกว่า
ข้าวที่สายบุรี ปัตตานี แต่เม็ดเล็กไม่งาม เพราะน้ำไม่มี มีพระราชดำรัสให้กำลังใจว่า อย่าท้อถอย จงปลูกข้าวไปคนไทยเรากินข้าว
เราต้องปลูกข้าว เราจะมีสวนยาง สวนลองกอง เราจะมีสวนเงาะ สวนทุเรียน แต่อย่าลืมการปลูกข้าว อย่าทอดทิ้งการทำนา และชาวนา
บอกว่าข้าวปลูกแล้วไม่พอกิน ต้องซื้อจากจังหวัดพัทลุง ทรงรับฟังว่าเราต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว และพัฒนาที่นาให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อจะได้
ไม่ต้องซื้อข้าวกิน
เสด็จฯ มาถึงเต้นท์ที่ ๒-๖ ก็มีกล่องโฟมตั้งอยู่บนโต๊ะ มีราษฎรที่ยืนเฝ้าฯ บ้าง นั่งเฝ้าฯ บ้างก็เสด็จฯ มาข้างหน้า ทรงเปิดกล่องโฟม
ทอดพระเนตรเห็นปลาแช่น้ำแข็งอยู่ก็ตัวเล็กๆ ดำๆ ก็ทรงถามว่า ทำไมปลาตัวเล็กชาวบ้านก็ไม่พูด แต่กลับยื่นอัลบั้มรูปใส่ซองพลาสติกถวาย
และทรงเปิดทอดพระเนตร ผมอยู่เบื้องหลังพระองค์ ก็เห็นเป็นรูปถ่ายปลาอยู่ในคลองแล้วก็ตาย ลอยเป็นแพเต็มคลอง ก็ทรงถามว่า
ทำไมปลาตาย ชาวบ้านก็ไม่พูดยืนร้องไห้ ผู้ชาย ๓-๔ คน ก็ร้องไห้ ทรงถามว่า ทำไมร้องไห้ ผมเองก็ตอบไม่ถูกว่าทำไมชาวบ้านร้องไห้
แต่นายอำเภอสายบุรีมาสารภาพภายหลังว่าเป็นผู้สั่งไม่ให้ราษฎรถวายฏีกา ไม่ให้ชาวบ้านพูดอะไรทั้งสิ้น คือ ให้ถวายปลาได้แต่ห้ามพูด
ชาวบ้านก็กลัวไม่กล้าพูด ร้องไห้อย่างเดียว ก็เลยถวายอัลบั้มรูปแทน ในที่สุดจึงทรงทราบว่าปลาตายเพราะน้ำในพรุไหลลงคลองน้ำจืด
ที่ชาวบ้านยกกระชังขึ้นไม่ทัน ปลาก็เลยตายเพราะเจอน้ำเปรี้ยว เป็นปัญหาการสื่อสารระหว่างชลประทานที่ปล่อยน้ำ ทุกปีเมื่อจะปล่อยน้ำมา
จะบอกล่วงหน้าสองวันก่อนน้ำเปรี้ยวจะมา ชาวบ้านจะยกกระชังปลาขึ้นให้น้ำเปรี้ยวไหลไปก่อนแล้วค่อยเอาปลาลง แล้วปลาก็จะอยู่ได้
แต่ปีนั้นสื่อสารกันไม่ดี น้ำเปรี้ยวมาถึงเก็บกระชังปลาไม่ทัน ปลาตายก็ทรงแก้ปัญหาเดี๋ยวนั้น ทรงเรียกแผนที่มาดู ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมา
ประชุมกันตรงนั้น ทรงถามว่าน้ำเปรี้ยวมาอย่างไร น้ำจืดมาอย่างไร มีพื้นที่ไหนที่จะเปลี่ยนน้ำเปรี้ยวไปลงทะเลไม่มายุ่งกับน้ำจืด ก็ทรงทราบ
ปัญหาและข้อมูลอย่างทันท่วงที
คืนนั้นทรงเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปประชุมด่วนที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ประชุมคืนนั้น รุ่งเช้าเครื่องจักรเข้าพื้นที่ ขุดคลองทันที
ภายใน ๗ วัน คลองเสร็จ ปีนั้นน้ำเปรี้ยวไหลลงทะเลไป ไม่ต้องกลัวว่าน้ำเปรี้ยวจะไหลลงมาอีก งานเลยเสร็จภายใน ๗ วัน งบประมาณ
มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซื้อน้ำมันมาใช้ก่อน งานเสร็จภายใน ๗ วัน ทรงเร่งรัด เวลาพูดถึงคลองนี้ก็เลยเรียก “คลองปลาร้องไห้”
มาจนถึงทุกวันนี้ ปลาไม่ได้ร้องไห้ แต่คนร้องไห้ คนพูดไม่ได้ เพราะนายอำเภอสั่งห้ามพูด คนก็เลยร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ พอปีต่อมาเสด็จฯ
มาทรงเยี่ยมโครงการนี้อีก ชาวบ้านก็รอรับเสด็จฯ ทรงเปิดกล่องโฟมทอดพระเนตร พบว่า ปลาตัวใหญ่ ขาว สวย ก็ทรงถามว่า ทำไมปลาปีนี้
ไม่เหมือนปลาปีที่แล้ว ชาวบ้านไม่กล้าพูด จึงมีพระราชดำรัสว่า “ปีนี้ปลาไม่ร้องไห้แล้วนะ” และบัดนี้ปลาก็อ้วนท้วนแข็งแรง ขายได้เงิน
มีกำไรดี และทุกครั้งที่เสด็จฯ ชาวบ้านก็จะนำปลามาถวายให้ทอดพระเนตร เห็นว่า ปลาตัวโต ก็มีพระราชดำรัสว่า “ในเมื่อให้ฉัน
ก็ให้เจ้าหน้าที่ขนกลับไป” ชาวบ้านก็ดีใจที่พระองค์ท่านจะเสวยปลาของเขา เพราะจากการที่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือ
ทำให้อาชีพเลี้ยงปลาในกระชังดังกล่าวไม่ขาดทุนอีกแล้ว
นี่เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทรงหาข้อมูลทันทีที่ฉับไว เรียกผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมด่วนเพื่อดูรายละเอียดว่า
ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็มาประชุมกันตรงนั้นเลย เป็นการประชุมและมีการปฏิบัติที่เร็วที่สุด
เวลาที่บันทึกการประชุม ๐๐.๑๕ น. ของวันใหม่ พอรุ่งเช้าก็รุดกันไปพื้นที่เลย เมื่อคลองสายใหม่ขุดเสร็จก็ประเมินทุก ๗ วัน
ว่าน้ำเปรี้ยวไหลลงทะเลจริงไหม จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเลหรือไม่ นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ประสบด้วยตนเอง
เอกสารประกอบการบรรยาย เรื่อง “การถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท” วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
|