: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 4 ฉบับที่ /0 ประจำเดือน 9/ 2552
หัวข้อข่าว : ปาฐกถา“เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” โดย ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
รายละเอียด :


                             ปาฐกถา  “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

                                   โดย ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์
                                       ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ

                                                  ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
                                                     งานวัน “ถือประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
                                                                  ในวันที่ 24 กันยายน 2552

                                                                   ***********************


เรียน  อธิการบดี  และผู้มีเกียรติ

         การที่อธิการบดีกรุณาเชิญให้มาพูดในวันสำคัญของมหาวิทยาลัยวันนี้  ผมถือเป็นเกียรติมาก  ขอขอบคุณทั้งอธิการบดี
และผู้มีเกียรติที่มาฟัง  ผมจะจดจำความมีน้ำใจของอธิการบดีไว้
ขอเรียนว่า  เรื่อง  “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”  ที่ผมจะพูดต่อไปนี้  เป็นวลีหรือประโยคที่ผมกำหนดขึ้นเองเมื่อประมาณ
๒๐  ปีมาแล้ว  ผมกำหนดขึ้นเนื่องจากผมได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ
ไปยังท้องถิ่นต่าง  ๆ  เป็นเวลาหลายปี  ได้ทราบพระราชปณิธาน  ได้เห็นล้นเกล้าฯ  ทั้งสองพระองค์  ทรงงานเพื่อช่วยเหลือราษฎร
จึงเกิดแรงบันดาลใจ ประกอบกับมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อแผ่นดิน  และเมื่อกำหนดขึ้นแล้วได้เริ่มพูดให้เพื่อนบ้าง
ผู้สนิทชิดชอบบ้าง  องค์กรต่าง  ๆ  บ้าง  ฟังตามที่โอกาสจะอำนวย  เพื่อให้บุคคลและองค์กรได้ฟังได้ช่วยคิด  หากเห็นด้วย  ผมก็ขอร้อง
ให้ช่วยเผยแพร่  วลีหรือประโยคนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาครั้งแรก        เมื่อสิบปีมาแล้วคือ    เมื่อ  ต.ค. ๔๒    ครั้งนั้นเป็นครั้งแรก
ที่มูลนิธิค่ายเปรมติณสูลานนท์เชิญไปพูดที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น มีคนให้ความสนใจพอสมควร จำได้ว่ามีอาจารย์
จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปฟังด้วยหลายคน
                               ทุกคนตระหนักดีว่า  สถานศึกษาเป็นองค์กรที่สำคัญมาก  มีหน้าที่สำคัญมาก  ๆ  อย่างหนึ่งคือ  มีหน้าที่บ่มเพาะนักเรียน
นักศึกษา  เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเด็กเยาวชนและยุวชนของชาติให้เป็นคนมีคุณค่า  มีประโยชน์ต่อตนเอง  ต่อครอบครัว  ต่อสังคม  
และต่อชาติบ้านเมืองของเรา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ก็มีหน้าที่สำคัญเช่นนั้นเช่นเดียวกัน

                               รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ได้บัญญัติหน้าที่ของชนชาวไทยไว้ในหมวด  ๔  ตั้งแต่มาตรา  ๗๐  ถึงมาตรา  ๗๔  
ไม่มีมาตราใดบัญญัติว่าคนไทยต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน  มีมาตรา  ๗๑  บัญญัติว่า  “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ  รักษาผลประโยชน์
ของชาติ  และปฏิบัติตามกฎหมาย”  มาตรานี้น่าจะพออนุโลมได้กระมัง  ผมเห็นว่าการสำนึกรู้บุญคุณของผู้และองค์กรที่มีบุญคุณต่อเรา
แม้มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่เราต้องบัญญัติไว้ในใจในจิตวิญญาณของคนไทย  แผ่นดินนี้มีบุญคุณมหาศาลต่อคนไทยทุกคน  น่าจะไม่มีใครเถียง  ไม่มีใครค้าน  
ยิ่งไปกว่านั้น  การสำนึกรู้บุญคุณและการตอบแทนบุญคุณของผู้และองค์กรที่มีพระคุณ  เป็นวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม  ยิ่งใหญ่  
และศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยตั้งแต่มีประเทศของเรา  เป็นมรดกสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้  และไม่มีวันจะจางหายไป

                               มีคำถามว่า  “แล้วจะให้ทำอย่างไร  จึงจะได้ชื่อว่า  ได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”  คำตอบที่สั้นที่สุดคือ  “เป็นคนดี”  
ผู้ถามยังไม่พอใจคำตอบ  ถามต่อว่า  “เป็นคนดีคือเป็นคนอย่างไร”  อธิการบดีครับ  อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายครับ  กรุณาช่วยผมด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ให้คำนิยามว่า  “คนดีคือ  คนที่มีคุณงามความดี  คนที่มีคุณธรรม”  ฟังดูง่าย  แต่เข้าใจยาก
ราชบัณฑิตบางท่านพูดเพิ่มเข้าไปอีกว่า “เป็นที่ต้องการ  เป็นที่ปรารถนา  เป็นที่น่าพอใจของคนอื่น”  ฟังดูก็พอจะทำให้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผม  ผมนิยามว่า  คนดีคือคนที่  ๑.  ยึดมั่นและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา  หรือคำสั่งสอนของศาสนาที่ท่านนับถือ
โดยเคร่งครัด  สมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  เคยรับสั่งว่า  สำหรับคนไทยที่เป็นพุทธ  อย่างน้อยขอเพียงศีลห้าเท่านั้น
๒.  มีความซื่อสัตย์  สุจริต  เสียสละ  และจงรักภักดี  ต่อชาติ  ศาสนา  และพระมหากษัตริย์  นอกจากตนเองจะซื่อสัตย์  สุจริต  เสียสละ  
และจงรักภักดีแล้ว  ต้องดูแล  อบรม  สั่งสอนให้คนรอบตัว  ซื่อสัตย์  สุจริต  เสียสละ  และจงรักภักดีด้วย  ๓.  รู้และเข้าใจ  คำว่า  “ส่วนรวม”
และ  “ส่วนตน”  ยึดถือและเชื่อมั่นว่า  “ส่วนรวม”  ย่อมสำคัญกว่าและต้องมาก่อน  “ส่วนตน”  (เรื่องนี้มหาวิทยาลัยนี้ยึดถือและเชื่อมั่นอยู่เสมอ)
๔.  ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  ๕.  เคารพกฎหมาย  ๖.  ดำรงรักษาพิทักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยไว้ให้ได้  และ  ๗.  ประพฤติปฏิบัติตน
เป็นตัวอย่างที่ดีและเหมาะสมทุกเมื่อ
                               ขอเชิญย้อนไปดูคำนิยาม  “ความดี”  ของราชบัณฑิตสถาน  ในพจนานุกรมได้ใช้คำ  ๒  คำคือ  คุณงามความดี
และคุณธรรม เป็นที่เข้าใจกันดีว่า  ทั้ง  ๒  สิ่งนั้น  เป็นนามธรรม  จับต้องไม่ได้  แต่ผมคิดว่าเราสัมผัสได้ด้วยใจและมโนธรรม  การประกอบ
คุณงามความดีนั้นยากมาก  แต่ผมเห็นว่าการรักษาคุณงามความดีให้อยู่กับเราไปตลอดชีวิตยากกว่ามากนัก  มีหลายคนที่ทำความดีไว้มาก
และนาน  แต่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ตลอดไปน่าเสียดาย มีผู้รู้กล่าวไว้ว่า  คนดีแบ่งออกเป็น  ๔  อย่างคือ  ๑.  คนดีของครอบครัว  
๒.  คนดีของสังคม  ๓.  คนดีของชาติ  และ  ๔.  คนดีของโลก
         เรียนไว้แค่นี้และขออนุญาตไม่ลงไปในรายละเอียด  ขอเรียนว่าคนเรานั้น  เพียงแต่คิดว่าจะทำแต่ความดีเท่านั้น  ก็ถือได้ว่าเป็นคนดีแล้ว
อนึ่ง  ที่ตอบว่าการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน  คือ  “เป็นคนดี”  นั้น  ขอให้หมายรวมถึง  การเป็นสถาบันที่ดี  เป็นองค์กรที่ดี  เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
เข้าไปด้วย  เพราะในสถาบันที่ดีและองค์กรที่ดีเป็นที่รวมของคนดีนั่นเอง  เพราะฉะนั้นสถาบันและองค์กรต่าง  ๆ  ต้องกระทำความดีเพื่อตอบแทน
บุญคุณแผ่นดิน  สถาบันและองค์กรใดทำไม่ดี  ทำให้คนอื่น  ทำให้สังคม  เดือดร้อน  ย่อมทำให้ส่วนรวมเสียหาย  ชาติบ้านเมืองเสียหาย
เมื่อพูดถึงคำว่า  บุญคุณ  คนไทยทุกคนเข้าใจความหมาย  นิยามได้  เป็นคำไทยที่ใช้กันมานานมาก  แต่แปลเป็นภาษาอังกฤษยาก  (ยากพอ  ๆ  กับคำว่า
“เกรงใจ”)  อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเขาไม่ค่อยจะสนใจเรื่องบุญคุณกัน  เมื่อนายจอห์น  เอฟ. เคนเนดี้  เป็นประธานาธิบดี  เขาบอกประชาชนอเมริกันว่า
Ask  not  what  your  country  can  do  for  you ,  ask  what  you  can  do  for  your  country  คำกล่าวนี้  น่าจะนัยแบบฝรั่งที่พอจะบ่งบอกถึงบุญคุณก็ได้
ผมได้ขอให้  ดร. กฤษณ์  กาญจนกุญชร  อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองราชเลขาธิการ  มีความรู้ภาษาอังกฤษดีมาก
จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย  Oxford  ช่วยแปล  “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”  เป็นภาษาอังกฤษ  ดร. กฤษณ์  กรุณาแปลว่า
Our  duty  in  life  is  to  repay  the  motherland                          
             ตามที่ได้เรียนไว้แต่ต้นว่า  คนดีในทัศนะของผมต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ  ๗ ประการ หากอธิการบดีและผู้มีเกียรติทั้งหลาย
จะกรุณาพิจารณาเป็นข้อ ๆ  ไป  น่าจะพอสรุปได้ว่า  ผู้ใดมีคุณสมบัติครบถ้วน  ๗  ประการ  เราต้องปรบมือให้และยกย่องว่าเป็นคนดี  
อาจจะมีบางประการ ที่น่าจะลงลึกในรายละเอียดเช่น  ข้อ  ๖  และข้อ  ๗  แต่ผมขอไม่ลง  เพราะผมรู้ดีว่าในที่ประชุมนี้  ประกอบด้วย
ผู้คนที่มีการศึกษาสูง  มีประสบการณ์สูง  จึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น
                               การยกย่องคนดีและการตำหนิคนไม่ดี  เป็นเรื่องสำคัญมาก  จำเป็นจะต้องร่วมมือกัน  ทำให้ปรากฏชัดเจน  ให้สังคมรับรู้
และร่วมมือกันทำ  เพื่อยืนยันว่าสังคมเข้าใจสาระสำคัญและเห็นด้วย การยกย่องคนดี  ย่อมเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับ  เป็นกำลังใจแก่ผู้ทำความดี
เป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้อื่นได้เอาอย่างโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  เราพูดกันเสมอมิได้ขาดว่า  เด็กคืออนาคตของชาติ  ฉะนั้นต้องถือว่า
เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องบ่มเพาะให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีให้จงได้  เด็กต้องได้เห็นสิ่งดี  ๆ  เด็กต้องการต้นแบบที่เขาจะดำเนินรอยตาม
เด็กต้องมีความเชื่อมั่นว่า  ในบ้านเมืองของเรามีคนดีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลจำนวนคนดีมีมากพอที่จะสกัดกั้นความไม่ดีที่ก่อขึ้นโดยคนไม่ดี
ได้แน่นอน  เด็กจะต้องมั่นใจได้ว่า  จะมีพวกเรา  คนดีทั้งปวงจะรักษาแผ่นดินนี้ไว้ให้เขา เพื่อเขาจะรับช่วงต่อ  ต่อยอดให้ประเทศของเรา
พัฒนาก้าวหน้าในช่วงชีวิตของเขา
                               การตำหนิคนไม่ดี  เป็นการป้องกันมิให้มีคนไม่ดีเพิ่มมากขึ้น  การตำหนิต้องหมายรวมถึง  การไม่ให้เกียรติ  การไม่เคารพนับถือ
การไม่กราบไหว้คนไม่ดี  ไม่ว่าเขาจะเป็นมหาเศรษฐีหรือยาจก  ไม่คบหาสมาคมกับคนไม่ดี  คนไม่ดีจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย  จะต้อง
สำนึกว่าการช่วยเหลือคนไม่ดีให้พ้นผิดเป็นสิ่งที่คนดีต้องละเว้น  การยกย่องคนดี  การตำหนิคนไม่ดี  ดังได้กล่าวมาแล้ว  ต้องนำไปใช้กับองค์กร
และสถาบันต่าง  ๆ  ในทำนองเดียวกัน  องค์กรและสถาบันมีความสำคัญและมีความหมายต่อสังคมและชาติบ้านเมืองสูง  ผมเห็นว่าการยกย่อง
หรือตำหนิเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ  วางเฉยไม่ได้  ที่นี้ก็จะมีคำถามต่ออีกว่า  แล้วใครละจะเป็นผู้ทำ  คำตอบก็คือพวกเรา  พวกเราคนดี  
พวกเราที่กล้าหาญ  พวกเราที่เสียสละ  พวกเราที่ยึดมั่นว่า  ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัว
                               มีเรื่องไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น  ผมอ่านพบในหนังสือพิมพ์  มีคนคนหนึ่งพูดว่า  “การให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองนั้น  พูดทีไรก็ถูกทีนั้น
แต่คนดีคืออะไรละ”  แสดงว่า  ผู้พูดไม่สามารถแยกคนดีออกจากคนไม่ดีได้  หวังว่าคนคนนั้นจะบอกตนเองได้ว่า  ตนเองเป็นคนดีหรือคนไม่ดี
                               อธิการบดีครับ  โดยที่วิทยาเขตนี้  มีทั้งอาจารย์และนักศึกษานับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก  ผมจึงใคร่ขออนุญาต
อธิการบดีพูดถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลามสักเล็กน้อย  ผมจะไม่แตะ  ไม่วิเคราะห์  ไม่วิจารณ์  ปัญหาที่กำลังมีอยู่ใน
๓  จังหวัดปักษ์ใต้บ้านเรา  ผมขอพูด  ๒  หัวข้อ  คือความเป็นไทยกับความเป็นธรรม
                               เมื่อผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ  สงขลา  ผมมีเพื่อนที่นับถือศาสนาอิสลาม  ๒ – ๓  คน  เราเป็นเพื่อนกันได้ดีมาก
ไม่เคยพูดถึงเรื่องความแตกต่างของความเชื่อ  เราไม่ใส่ใจว่าใครจะนับถือศาสนาใด  เรามีแต่ความเป็นเพื่อน  แหลงกันแต่เรื่องหนุก  ๆ  สมัยผม
พ่อแม่จะจัดอาหารกลางวันใส่ชั้น  (ปิ่นโต)  เพื่อไปกินที่โรงเรียน  บางวันเรากินข้าวด้วยกัน  ผมกินอาหารในชั้นของเรา  เขากินอาหารในชั้นของผม
เราสนุกเพลิดเพลิน  ไม่มีความหวาดระแวงในใจแม้แต่นิด  เรื่องศาสนาไม่เป็นและไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อเรื่องความเป็นเพื่อน
                               เมื่อสัก  ๓ – ๔  ปีที่แล้วมา  ผมได้ขอให้  ดร. อาชว์  เตาลานนท์  ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานหอการค้า  ได้กรุณาหาทาง
ช่วยเหลือพี่น้องใน  ๓  จังหวัดภาคใต้  ดร. อาชว์  ยินดีและภูมิใจมาก  ได้ขอความร่วมมือนักธุรกิจหลายท่านและร่วมกันตั้งโครงการ
“สานใจไทย  สู่ใจใต้”  ขึ้น สร้างมาตรการในการปฏิบัติการช่วยเหลือ  ดร. อาชว์และเพื่อนของท่าน  ดำเนินโครงการนี้ไปด้วยความเรียบร้อย  
สักประมาณ  ๑  ปีเห็นจะได้  ในที่สุด  ดร. อาชว์  มาแจ้งให้ผมทราบว่า  เพื่อนนักธุรกิจและท่านเองมีภาระหน้าที่มาก  จึงใคร่ขอหยุดโครงการ
และมอบเงินส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ของโครงการให้ผมจำนวนหนึ่ง  ประมาณ  ๘  ล้านบาท  เพื่อสมทบทุนมูลนิธิรัฐบุรุษ  ผมเองไม่อยากให้เลิกโครงการ
จึงเรียน  ดร. อาชว์ว่า  หากมูลนิธิรัฐบุรุษจะขอรับโครงการนี้มาดำเนินการต่อ  จะเห็นด้วยไหม  เมื่อตกลงกันแล้ว  มูลนิธิรัฐบุรุษ
จึงเป็นเจ้าของโครงการนี้ต่อมา  โครงการนี้มีคณะกรรมการ  มี  พล.อ. สุรยุทธ์  เป็นประธาน  มีรองประธาน  ๒ – ๓  คน  ท่านหนึ่งคือ
ดร. อาชว์  อีกท่านหนึ่งคือ  คุณอารีย์  วงศ์อารยะ  เมื่อมูลนิธิรับโครงการมาทำ  ผมได้เสนอคณะกรรมการว่า  เราน่าจะนำเด็กหนุ่มสาว
ที่นับถือศาสนาอิสลามใน  ๓  จังหวัดภาคใต้  ให้มาอยู่กับครอบครัวคนไทยอิสลามในภาคกลาง  สัก  ๕  วัน  ๗  วัน  ให้ได้แลกเปลี่ยน
ความคิดเห็น  ให้ได้มีประสบการณ์  ผมมั่นใจว่าการกระทำเช่นนั้นน่าจะได้ประโยชน์  ขอให้ช่วยกันคิด  เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบ
แล้วเราก็เริ่มทำกัน  โครงการนี้สร้างความสุข  ความผูกพัน  และให้ความสนุกสนานมาก  ที่เราพอใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือ  ความยินยอม
เห็นชอบของบิดามารดาเด็ก  ความร่วมมืออย่างดี  และความเบิกบานของครอบครัวอุปถัมภ์  ความร่วมมือของหน่วยงานของรัฐคือ
กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการทั้งสามจังหวัด  กระทรวงศึกษาธิการ  (คุณหญิงกษมา)  พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์  สำนักจุฬาราชมนตรี
คณะกรรมการอิสลามทั้ง  ๓  จังหวัด  เป็นต้น
                               ผมขอไม่ลงในรายละเอียด  ขอเรียนว่า  ภายใต้ร่มของมูลนิธิรัฐบุรุษ  โครงการนี้ได้ดำเนินการมา  ๕  ปีมาแล้ว  ภายใต้ความภูมิใจ
ความสนุกสนาน  และความรักความผูกพันกับเด็กและบิดามารดาของเด็กของครอบครัวอุปถัมภ์   เราสัญญากันว่าเราจะทำโครงการนี้ต่อไป
จนกว่าเด็กจะบอกให้หยุด
                               ทุกครั้งที่มีพิธีเปิดโครงการ  ผมจะขออาสาไปเปิด  เพื่อเด็กกับผมจะได้รู้จักกัน  และผมจะได้พูดกับเด็ก  อธิการบดีครับ
ผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ  ทุกครั้งที่ผมพูดกับเด็ก  เรื่องที่ผมขาดพูดไม่ได้คือ  เรื่องความเป็นไทยและความเป็นธรรม
                               ผมบอกเด็กว่า  เธอทุกคนเป็นคนไทย  มีส่วนเป็นเจ้าของประเทศไทยเท่าเทียมกับคนไทยคนอื่น  มีความเป็นไทยเท่ากับผม
มีสิทธิ  มีหน้าที่เหมือนและเท่าเทียมกัน  การที่เธอนับถือศาสนาอิสลามไม่ได้ทำให้ความเป็นไทยของเธอลดน้อยลงหรือเพิ่มมากขึ้น  ไม่มีใคร
ในประเทศนี้ที่จะแบ่งเฉือนความเป็นไทยของเธอลงได้  เรามีความเป็นไทยเท่ากันเสมอและตลอดไป  ขอให้เธอภูมิใจในความเป็นไทย  
ให้ยืดอกพูดว่า  ผมเป็นคนไทย  หนูเป็นคนไทย  ถ้าใครมาเรียกเธอว่า  แขก  ให้ต่อยเลย  ผู้มีเกียรติโปรดเข้าใจว่า  ผมมิได้สอนให้เด็กทำร้ายร่างกายผู้อื่น
แต่แปลว่าใครจะเรียกคนไทยมุสลิมอย่างนั้นไม่ได้  ไม่สมควร  และแสดงความไม่พอใจให้ผู้ปากเสียได้รู้ได้เห็นชัดเจนว่า  การเรียกอย่างนั้น
ถือว่าดูหมิ่นกัน  อาจจะมีกรณียกเว้น  สำหรับผู้ที่เป็นเพื่อนสนิทกัน  เพื่อน  ๆ  พล. อ. สนธิ  เรียก  พล. อ. สนธิ  ว่า  “บัง”  รุ่นพี่เรียกว่า  “อ้ายบัง”
รุ่นน้องเรียกว่า  “พี่บัง”  อย่างนั้นไม่เป็นไร
                               เรื่องความเป็นธรรม  ผมหมายความว่า  พี่น้องไทยทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรมจากรัฐเสมอกัน  ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด
การนับถือศาสนาอิสลาม  การเป็นไทยมุสลิม  ไม่ได้ทำให้ความชอบธรรมในอันที่จะได้รับความเป็นธรรมลดลงหรือเพิ่มขึ้น  เจ้าหน้าที่ของรัฐ
ไม่มีสิทธิไม่มีอำนาจตามกฎหมายใด  ๆ  ที่จะปฏิบัติต่อพี่น้องไทยมุสลิมแตกต่างออกไป  พี่น้องไทยมุสลิมก็เช่นเดียวกัน  ย่อมไม่มีความชอบธรรม
ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้  ทุกคนจะได้รับคุณได้รับโทษมาตรฐานเดียวกันภายใต้กฎหมาย  ไม่มีข้อยกเว้น
ผมบอกเด็ก  เพื่อให้เด็กได้เข้าใจว่า  ความชอบธรรมมีแค่ไหน  ความเป็นธรรมคืออะไร  ที่ผมพูดนี้คือหลักการ  หลักปฏิบัติ  แต่แน่นอนอย่างยิ่งว่า
คนไม่ดีย่อมไม่พอใจ  คนเห็นแก่ตัวไม่ชอบ  คนปรารถนาร้ายจะต่อต้าน

         ผู้มีเกียรติทั้งหลายครับ  พวกเราคนไทยทุกคนทราบดีว่า  นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์โดยธรรมมาจนถึงบัดนี้
ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสแก่คนไทยเป็นจำนวนมาก  พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเหล่านั้นมีคุณค่ามหาศาล
เฉพาะที่พระราชทานแก่นักศึกษาในโอกาสต่าง  ๆ  น่าจะเป็นจำนวนหลายร้อย  ผู้รับพระราชทานต่างก็รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม  แต่มีบางท่าน
ทำหล่นไปเสียก็มีเหมือนกัน  ในหลายโอกาส  คนที่ผมรู้จักและสนิทสนมหลายคนมีปัญหาและมาปรึกษาหารือ  ถ้าผมมีปัญญาพอที่จะให้คำตอบ
คำปรึกษาได้  ผมก็ให้  แต่ถ้าผมจนปัญญา  ผมก็จะตอบว่า  กลับไปหาพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสอ่านเถอะ  จะเจอคำตอบแน่  ๆ  
เรื่องรู้รักสามัคคี  เรื่องสมานฉันท์  ที่เรากำลังไขว่คว้าหากันอยู่เวลานี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้คนไทยมากกว่า  ๒๐  ปีแล้ว
                               ทุกครั้งที่ผมได้รับเชิญให้พูดถึงเรื่องของชาติบ้านเมือง  หรือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของแผ่นดิน  ในตอนท้ายผมจะเรียน
ผู้ฟังเสมอว่า  ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  ใครก็ตามแม้เพียงคิดที่จะยึดเป็นของตนเองหรือพรรคพวกของตน  เพื่อประโยชน์อันไม่ชอบธรรม
ต่อตนเองหรือต่อพรรคพวกตน  จะพบความหายนะในที่สุด  พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองคนดีและจะสาปแช่งคนไม่ดี  ให้มีอันต้อง
ตกทุกข์ได้ยากตลอดชีวิต
                               หวังว่า  การพูดของผมในวันนี้  จะยังประโยชน์แก่ผู้มีเกียรติบ้าง
                               ขอขอบคุณอธิการบดี  อีกครั้งหนึ่ง  สวัสดีครับ



                                                                            ******************************
                               

โดย : * [ วันที่ ]