คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศึกษาวิจัยและพัฒนาการส่งเสริม
นวัตกรรมเครือข่ายการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการ
เครือข่าย พัฒนาครูและเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการแก่เครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพ
การศึกษาในพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยใช้การพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายการเรียนรู้บนอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ได้มา
ซึ่งองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริง และสอดคล้องกับความต้องการ
ของชุมชนและท้องถิ่น
รศ.ดร. ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรมเครือข่ายการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา
กล่าวว่าสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีนโยบายให้สถาบันผลิตครู จำนวน ๑๑ แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการ
วิจัยและพัฒนาโดยสร้างและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานจัดการศึกษาสถานศึกษาที่จัด
การศึกษาทุกระดับในพื้นที่ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเครือข่ายพัฒนาครูและเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา
ทางวิชาการแก่เครือข่าย โดยมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ให้สูงขึ้น ซึ่งเครือข่ายการเรียนรู้
เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหา แสวงหา
แนวทางการพัฒนา โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นกลไกในการค้นหาคำตอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้
ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้จริง และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
และท้องถิ่น ทั้งนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเดินทางของครูและบุคลากรทางการศึกษา
มีความเสี่ยง อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้การแลกเปลี่ยน
เรียนรู้น้อยลง เวลาที่จำกัด และการเดินทางที่อันตราย จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลอย่างยิ่ง
ต่อคุณภาพการจัดการศึกษาและนำมาซึ่งคุณภาพผู้เรียนในที่สุด
คณะศึกษาศาสตร์ เล็งเห็นว่าการจัดให้มีนวัตกรรมที่แก้ปัญหาดังกล่าว เป็นความสำคัญและถือเป็น
ความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่มีเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
เพื่อนำไปสู่การจัดการความรู้ที่เป็นระบบ จึงได้จัดการศึกษาวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรม
เครือข่ายการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาในเครือข่าย ประกอบด้วยโรงเรียนเบญจมราชูทิศ
จังหวัดปัตตานี โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร
อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โรงเรียนเทศบาล ๑ บ้านจะบังติกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็น
แนวทางในการแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา โดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้เป็นกลไกในการค้นหา
แนวทางการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ใช้พื้นที่จังหวัดปัตตานีเป็นกรณีศึกษา
ทั้งนี้การดำเนินงานของเครือข่ายการเรียนรู้ คำนึงถึงกรอบแนวคิดทางด้านวัฒนธรรมองค์กร โครงสร้าง
องค์กร ภาวะผู้นำและบริบทด้านสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ตลอดจนสภาพสังคม เศรษฐกิจของ
พื้นที่เป็นสำคัญ
รศ.ดร. ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาการส่งเสริมนวัตกรรมเครือข่าย
การเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเครือข่าย
มีความคาดหวังในบาทบาทของคณะศึกษาศาสตร์ในฐานะสถาบันผลิตครู โดยให้เป็นแหล่งเรียนรู้
ที่ทันสมัยให้กับชุมชน เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางความคิดโดยอาศัยการวิจัย และยังเห็นด้วย
กับการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายการเรียนรู้ศรีตรัง หรือเครือข่าย sen (Sritrang Educational
Network) บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต คณะศึกษาศาสตร์ เพราะสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่
ประสบสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังนำเสนอเชิงนโยบาย
โดยให้มีการส่งเสริมให้โรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย
และเพียงพอ มีการเพิ่มบุคลากรสายสนับสนุนเพื่อให้ครูไม่ทำหน้าที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่การสอน สนับสนุน
ให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้มากขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ
ศึกษามากขึ้น
“ในการนำผลการวิจัยไปใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อพัฒนา
คุณภาพผู้เรียน ควรคำนึงความต้องการที่แท้จริงของครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจน
ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างค่านิยมใหม่ในการจัดการเรียนรู้โดยใช้
เทคโนโลยีเป็นฐาน รวมทั้งความเหมาะสมทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาที่ยั่งยืน”
รศ.ดร. ชุมศักดิ์ อินทร์รักษ์ กล่าว
**********************************
|