: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 09 ประจำเดือน 02 2553
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ. ปัตตานี ร่วมกับปราชญ์ท้องถิ่น จัดการองค์ความรู้วัตถุทางวัฒนธรรมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
       นักวิชาการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับปราชญ์ท้องถิ่น
จัดการองค์ความรู้วัตถุทางวัฒนธรรมใน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อนำไปประยุกต์เข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอน
และใช้ประโยชน์ในวงวิชาการ
         นางสาวนราวดี  โลหะจินดา  หัวหน้าโครงการการจัดการองค์ความรู้วัตถุทางวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วมของปราชญ์ท้องถิ่น  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ตามแต่ละภูมิภาคและชาติพันธุ์  มีวิถีชีวิตที่เป็นพลังทางภูมิปัญญาทั้งในด้านสังคม  เศรษฐกิจ  และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็น
สิ่งที่คนในสังคมสะสมสืบทอดให้แก่กันและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า  ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นเป็นเครื่องมือ
ที่มีค่ายิ่งต่อกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมและวัฒนธรรม  ในอันที่จะสร้างสำนึกและความขัดแย้งของคนกลุ่มต่าง ๆ  
ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  จากปัจจัยที่รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินการและจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้  ถือเป็นสถานที่ที่มี
ความพร้อมเป็นอย่างยิ่งในการจัดกิจกรรมทางวิชาการ  เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม  โดยเฉพาะวัฒนธรรม  
๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่มีความผสมผสานและความหลากหลายจากชน ๓  กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่  ชาวไทยมุสลิม  
ชาวไทยพุทธ  และชาวไทยเชื้อสายจีน  ที่มีการแลกรับ  ปรับเปลี่ยน  ผสมผสานจนกลายเป็นวิถีในการดำเนิน
ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ  ซึ่งการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมเหล่านี้ สามารถนำได้โดยการจัดนิทรรศการทาง
วิชาการที่มีเนื้อหาสาระที่ถูกต้อง  เหมาะสม  มีทั้งโบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ  และภาพประกอบยืนยันข้อมูล  เพื่อสร้าง
องค์ความรู้  สร้างความเพลิดเพลินในการศึกษาเรียนรู้งานวิชาการ  นอกเหนือจากการจัดทำข้อมูลประเภทเอกสาร
หรือตำรา
         นางสาวนราวดี  โลหะจินดา  กล่าวเพิ่มเติมว่าการพัฒนากระบวนการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น  ควรมีแนวทางในการศึกษา
อย่างเป็นระบบ  ซึ่งสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  มีความพร้อม
ด้านทรัพยากรวัตถุทางวัฒนธรรม  ได้แก่   ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ   รวมถึงทรัพยากรบุคคล  อันได้แก่  นักวิจัย  นักวิชาการ  
รวมทั้งเครือข่ายปราชญ์ที่สามารถนำแนวทางการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น มาจัดทำเป็นเอกสารและพัฒนาไปสู่หลักสูตร
การเรียนการสอนทุกระดับ  รวมถึงการนำไปใช้ในวงวิชาการ  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  จึงได้จัดทำโครงการ
การจัดการองค์ความรู้วัตถุทางวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วมของปราชญ์ท้องถิ่น  เพื่อนำไปปรับประยุกต์เข้าสู่หลักสูตร
การเรียนการสอนและการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการต่อไป  ทั้งนี้คาดหวังว่าสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  
มีเอกสาร  ตำราเกี่ยวกับวัตถุทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นจากประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้าน  นักวิจัย  นักวิชาการ  
และเยาวชน  ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นใน  ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นรูปเล่ม
และมีการเผยแพร่ต่อไป

                                                              *******************************
โดย : * [ วันที่ ]