มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์
นิเทศ รุ่นแรกปีการศึกษา ๒๕๕๒ ผนวกศาสตร์วิทยาศาสตร์และนิเทศศาสตร์ เน้นผลิตบัณฑิตให้มี
ความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ระบบการสื่อสารเป็นการลดช่องว่างความเข้าใจของ
ประชาชนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พักตรา คูบุรัตถ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าผลสืบเนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน
ระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ สาเหตุจากค่าใช้จ่ายและจำนวนบุคลากรด้านการ
วิจัยและพัฒนาต่ำ การขาดการจัดการด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ และ
การละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดวิธีคิดอย่างวิทยาศาสตร์หรือการคิด
ด้วยเหตุผล จากความสำคัญที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์และเป็น
ปัจจัยหลักของการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุน การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จาก
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกระดับ โดยเน้นการเผยแพร่ความรู้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา
ภาคประชาชน และประชาคมท้องถิ่น ได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ประกอบกับการเร่งพัฒนาคนให้สนใจและเข้าใจ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทุกประเภทที่มีอยู่ สื่อมวลชนจึงเป็นทรัพยากรหลักด้านหนึ่ง
ที่จะช่วยสร้างและกระตุ้นความรู้ความเข้าใจ เชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่สังคม ด้วยคุณสมบัติ
อันโดดเด่นของสื่อมวลชนคือ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากได้อย่างกว้างไกล แต่ในปัจจุบันพื้นที่
การนำเสนอข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์ยังมีสัดส่วนที่น้อย ทำให้ไม่สามารถใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์นำสังคมได้
หากการสื่อสารวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้รับความสำคัญทั้งในแง่ปริมาณ คุณภาพ และความต่อเนื่อง
ผศ. พักตรา คูบุรัตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากบทบาทของสื่อมวลชนที่มีศักยภาพสูงในการถ่ายทอดความรู้
ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่สังคม แต่ในขณะเดียวกันการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์นิเทศในประเทศไทยยังอยู่ใน
ระยะเวลาเริ่มต้น และหลักสูตรด้านนิเทศศาสตร์ในปัจจุบันมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อย
ประกอบกับการผลิตนักวิทยาศาสตร์นิเทศหรือนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรี เพราะบัณฑิต
เหล่านี้จะต้องลงไปทำงานระดับปฏิบัติการเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความจำเป็นในการผลิตบัณฑิตสาขาดังกล่าว
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและคณะวิทยาการสื่อสาร ซึ่งมีความพร้อมในศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์
และการสื่อสาร จึงได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์นิเทศ เน้นผลิตบัณฑิตสาขา
วิทยาศาสตร์นิเทศที่มีความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สามารถพัฒนาและใช้ระบบ
การสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแพร่หลาย
ในสังคมไทย โดยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ปีการศึกษา ๒๕๕๒ คาดหวังว่าบัณฑิตวิทยาศาสตร์นิเทศ
เป็นสื่อกลางการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ หรือสร้างระบบคิดเชิงวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนให้เกิด
ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งปลูกฝังและสร้างสำนึกที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของนักการสื่อสารวิทยาศาสตร์ต่อไป
********************************
|