: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 02 ประจำเดือน 01 2552
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ. ปัตตานี นำเสนอการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์
รายละเอียด :
         นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  นำเสนอรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษจังหวัด
ชายแดนภาคใต้  โดยบูรณาการการเมืองการปกครองท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทาง
วัฒนธรรม  พร้อมทั้งการจัดการทรัพยากรและงบประมาณท้องถิ่นให้เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
         ผศ. ดร. ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี  ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องการปกครองท้องถิ่นพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าการจัดการปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการเสนอ
รูปแบบการเมืองการปกครองแบบธรรมาภิบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างอำนาจของ
ฝ่ายต่าง  ๆ  ความสำนึกในวัฒนธรรม  และปัญหาอำนาจรัฐ  โดยต้องเข้าใจลักษณะองค์ประกอบของรัฐในระดับ
ภูมิภาคและท้องถิ่น  เพื่อให้เกิดการผสมผสานและบูรณาการลักษณะพิเศษทางวัฒนธรรมให้เข้ากับลักษณะพิเศษ
การเมืองการปกครองและอำนาจ  การทำให้โครงสร้างรัฐและระบบราชการมีความเป็นตัวแทนทั้งในด้านคุณลักษณะ
ทางประชากร  ทางสังคมและวัฒนธรรม  จึงเป็นตัวแทนสำคัญที่ทำให้รัฐไม่เป็นคนแปลกหน้าของสังคม  และมี
การกระจายอำนาจอันชอบธรรมให้ชุมชนและสังคม
         จากแนวคิดการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ทำให้เกิดโครงสร้างและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ได้แก่  องค์กรประสานงานการบริหารและการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้  มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน  เป็นองค์กรบริหารส่วนภูมิภาคแบบใหม่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและการแก้
ปัญหานโยบายในการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีฐานะทางกฎหมายเรียกว่าทบวงการบริหารการพัฒนา
จังหวัดชายแดนภาคใต้  ขึ้นต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีทบวง  มีฐานะเทียบเท่าทบวงพิเศษ  มีการปกครอง
ส่วนกลางและการบริหารงานส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษในส่วนภูมิภาค  มีรัฐมนตรีทบวงเป็นผู้ดูแลนโยบาย  มีปลัดทบวง  
รองปลัดทบวง  และผู้อำนวยการเขตทำหน้าที่ดูแลในแต่ละพื้นที่ในฐานะข้าราชการส่วนภูมิภาคแบบพิเศษ  ควบคู่
ไปกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในทุกระดับ  นอกจากนี้ควรมีองค์กรสมัชชาประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  
เป็นสภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจ
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และพิจารณากลั่นกรอง   รวมทั้งรับรองจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนที่ให้แก่องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นและงบประมาณโครงการการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  นอกจากนี้ยังมีองค์กรปกครองท้องถิ่น
ในระดับตำบลและเทศบาลเมืองรูปแบบเดิมที่มาจากการเลือกตั้งและมีองค์กรสภาผู้รู้ทางศาสนาในระดับตำบล  
ได้มาจากการเสนอชื่อและการเลือกสรรจากคณะกรรมการชุมชนผู้นำศาสนา  องค์กรประชาชน และสถาบัน
การศึกษาในท้องถิ่น
          ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี กล่าวสรุปรูปแบบการปกครองและบริหารแบบพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า  
การบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  จะต้องมีความสอดคล้องกับลักษณะพิเศษ  ๓  อย่าง  ได้แก่ ระบบ
การปกครองตนเองของชนชั้นนำ ระบบกฎหมายตามประเพณี และระบบการศึกษาที่บูรณาการการศึกษาทางศาสนา
กับสามัญ  เป็นรูปแบบการปกครองที่มีการกระจายอำนาจในลักษณะที่ผสมผสานดึงเอาองค์ประกอบในเนื้อหา
รูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับย่อยหรือจุลภาค  มาประสานกับการบริหารจัดการที่ดีหรือหลักธรรมรัฐ
ในระดับมหภาค  ดึงองค์ประกอบในด้านเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและหลักคุณธรรมในทางศาสนา  มาร่วมกับ
การปกครองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในระดับตำบลและหมู่บ้าน  ในขณะที่มีองค์ประกอบใน
ด้านการเงิน  การคลัง  และการบริหารงานที่ดีที่เกิดจากการประสานหน่วยย่อยเหล่านี้เข้าเป็นหน่วยใหญ่ในพื้นที่
จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในรูปทบวงการปกครองพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยไม่ขัดกับหลักการรัฐเดี่ยวของ
ประเทศไทย


                                                          **********************************
โดย : * [ วันที่ ]