: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 65 ประจำเดือน 12 2551
หัวข้อข่าว : “รองเท้าวัว” นวัตกรรมใหม่ ลดการนำเข้า ส่งเสริมการค้าภายในประเทศ
รายละเอียด :
         นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทาน
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สาขาเทคโนโลยี จากผลงาน
“ รองเท้าวัว ” จากการชนะเลิศในโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ 8  Thailand Innovation
Awards 2008  เมื่อวันที่ ๑๘ – ๑๙  สิงหาคม ๒๕๕๑ ณ ลานปาฐกถาประดิษฐ์  เชยจิตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
โดยนำเสนอนวัตกรรมสำหรับใช้รักษาอาการเจ็บขาของโคนม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งเสริมการค้า
ภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตนมวัวลดลง ส่งผลให้ลดการขาดทุนในการคัดโคนมที่เป็นโรคกีบเท้าอักเสบ
ออกได้เป็นมูลค่า ๓๐,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐  บาท ต่อ ๑ ตัว ทั้งเป็นการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติให้เกิดวิถีแห่งความพอเพียง
         คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เน้นให้
นักศึกษายึดแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในสาขาภาควิชาเทคโนโลยี  
ที่เน้นให้นักศึกษาในสาขาวิชาได้ผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมานำเสนอและพัฒนาโดยเน้นการผลิตผลงานที่สามารถ
จัดหาวัสดุที่มีในท้องถิ่นและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งล่าสุดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ได้ส่งผลงาน “รองเท้าวัว”
สำหรับใช้รักษาอาการเจ็บขาของโคนม เข้าประกวดในโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (นวท.) ครั้งที่ ๘  
Thailand Innovation Awards 2008 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง
นราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๘ – ๑๙  สิงหาคม ๒๕๕๑ ณ ลานปาฐกถาประดิษฐ์ เชยจิตร มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ ในการประกวดครั้งนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น ๑๑ ผลงาน  จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่  วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี   และมหาวิทยาลัย
ราชภัฏสงขลา ในสาขาวิทยาศาสตร์ ๕ ผลงาน สาขาเทคโนโลยี ๓ ผลงาน สาขาปิโตรเคมี พอลิเมอร์ และเชื้อเพลิง
ทดแทน ๓ ผลงาน โดยผู้นำเสนอผลงานรองเท้าวัวคือ  นายสิชล  ศิลปวัฒนวงศ์  และนายเยี่ยมพล  นัครามนตรี  นักศึกษา
สาขาวิชาเทคโนโลยียาง ชั้นปีที่ ๓  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
         นายสิชล ศิลปวัฒนวงศ์ นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียาง ชั้นปีที่ ๓  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี เจ้าของผลงานรองเท้าวัว สำหรับใช้รักษาอาการเจ็บขาของโคนม กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการผลิตรองเท้าวัว
ว่า  “ การผลิตอุปกรณ์รองเท้าวัว มีวัตถุประสงค์  ๒ ประการ คือ ประการแรกประโยชน์ในระดับประเทศ ถือเป็นการลด
การนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ  และนำวัสดุที่อยู่ในประเทศมาแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น  เพื่อเกษตรกรจะสามารถ
จัดหาซื้ออุปกรณ์รักษาโรคเท้าวัวอักเสบได้ง่าย ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตปริมาณน้ำนมของโคนม  ส่วนประการที่สอง
ในด้านของสัตว์แพทย์ผู้รักษานั้น  สามารถหาซื้อเครื่องมือในการรักษาโรคกีบเท้าวัวอักเสบได้ง่ายในต้นทุนต่ำ และ
รักษาวัวที่เป็นโรคได้อย่างทั่วถึง เพราะผลงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า อาการกีบเท้าอักเสบของวัวเกิดขึ้น ๕๕ % กับ
จำนวนวัวทั้งหมดในประเทศ ๔ แสนตัว การแก้ปัญหาโดยการสั่งอุปกรณ์การรักษาจากต่างประเทศมาใช้นั้น มีต้นทุน
สูงมากใช้ได้กับฟาร์มโคนมที่มีขนาดใหญ่เพราะต้องสั่งมาเป็นจำนวนครั้งละมาก ๆ ทำให้ฟาร์มที่มีขนาดเล็กไม่มี
กำลังพอที่จะลงทุน  ประการที่สำคัญที่สุดคือ  สาขาวิชาฯ ต้องการที่จะปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงตามแนว
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ที่ทรงประสงค์ให้ชาวไทยมีความเป็นอยู่อย่างพอเพียงไม่เกินตัว  
สิ่งใดสามารถผลิตใช้ร่วมกันในประเทศได้โดยไม่ต้องอาศัยสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ  ก็เป็นการดี ซึ่งในการผลิต
อุปกรณ์รองเท้าวัวชิ้นนี้ผลิตจากยาพารา  ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่นของเราเอง”
         ด้านนายเยี่ยมพล นัครามนตรี  หนึ่งในผู้ร่วมผลิตผลงานรองเท้าวัว กล่าวถึงสาเหตุของการผลิตรองเท้าวัวว่า
“ฟาร์มโคนมในปัจจุบันนิยมให้อาหารโคนมด้วยอาหารข้นเพื่อเร่งน้ำนม เมื่อโคกินเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดกรดเกิน
ในเส้นเลือดระหว่างเนื้อเยื่อกีบเท้าวัว ทำให้เกิดการอักเสบของกีบเท้า  ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับโคนมเป็นประจำ
และอีกปัญหาหนึ่งคือการเลี้ยงโคในฟาร์มที่มีพื้นเป็นปูนซีเมนต์ จะทำให้โคไม่สามารถกระจายน้ำหนักตัวได้ทั่วถึง
ทำให้เกิดอาการอักเสบของกีบเท้าได้ง่ายและปัจจุบันนี้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้เพิ่มปริมาณ
ของผลิตภัณฑ์โคนมเพิ่ม ทำให้จำเป็นต้องใช้สารอาหารข้นเพื่อเร่งน้ำนมวัวให้มากขึ้น เมื่อกีบเท้าเกิดอาการอักเสบ
วัวจะไม่เคลื่อนไหวเพราะปวดเท้า ปัญหาที่ตามมาทำให้ปริมาณนมลดลง เกษตรกรต้องคัดเอาโคออก ซึ่งคิดเป็นเงิน
๓๐,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ บาทต่อ  ๑  ตัว  ทำให้ขาดทุนส่งผลต่อรายได้ในแต่ละวัน   ซึ่งรองเท้าวัวเป็นวิธีการที่ใช้รักษา
อาการกีบเท้าอักเสบกันมานาน  แต่ในเมืองไทยไม่มีอุปกรณ์ที่จะรักษา  ถ้ามีก็จะเป็นอุปกรณ์ของสัตวแพทย์ที่ทำ
จากไม้ ไม่สามารถกระจายแรงเพราะว่าไม้ไม่มีความยืดหยุ่นเหมือนกับยางพารา  ภาควิชาเทคโนโลยียางและ
พอลิเมอร์ จึงคิดวิธีการรักษาโดยปรับเปลี่ยนจากวัสดุที่ทำด้วยไม้เป็นยางพารา ซึ่งปัจจุบันในฟาร์มใหญ่ ๆ
จะสั่งซื้ออุปกรณ์ชนิดนี้มาจากต่างประเทศ เพราะมีประสิทธิภาพดี ถ้ารวมค่าภาษีทั้งหมด คิดเป็นเงินข้างละ ๑,๕๐๐  บาท  
ซึ่งเป็นราคาต้นทุนที่สูงเกิน ๑๐ เท่า  เมื่อเทียบกับราคาที่เราสามารถผลิตใช้เองภายในประเทศ
         นายเยี่ยมพล นัครามนตรี  ยังอธิบายถึงขั้นตอนการทำรองเท้าวัวจากยางพาราโดยสังเขป ว่า “ขั้นแรกให้นำ
ยางพาราจากธรรมชาติมาผสมกับสารเคมีตามลักษณะที่ต้องการ สารที่ใส่เข้าไปจะส่งผลต่อความแข็ง ความนุ่มยืดหยุ่น  
สีของยาง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยใส่สารเคมี จากนั้นนำเข้าเครื่องบดผสมยาง และนำไปขึ้นรูปอัดเบ้ายางรูป
รองเท้าโดยใช้ความร้อนและอุณหภูมิตามที่กำหนด ซึ่งสาเหตุที่ต้องผลิตเป็นรูปรองเท้าเพราะในการใช้นำไปใช้นั้น  
จะใส่กับกีบเท้าวัวข้างที่ไม่อักเสบ  เพื่อให้ข้างที่อักเสบไม่สัมผัสกับพื้น เพราะธรรมชาติของวัว เวลาเกิดอาการอักเสบ
จะอักเสบเพียงกีบข้างใดข้างหนึ่งของเท้าเท่านั้น โดยก่อนที่จะนำมาใช้จริงภาควิชาฯ  ได้มีการทดลองใช้กับโคนมที่
บริษัท เคเคเค แดรี่ฟาร์ม จำกัด จังหวัดสระบุรี ในระยะเวลา ๒ สัปดาห์ ผลปรากฏว่าปริมาณน้ำนมโคที่ลดลงได้เพิ่ม
ปริมาณขึ้นเท่าเดิม  จากผลความสำเร็จครั้งนี้เราจึงคาดหวังว่าในอนาคตเราจะมีผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ใช้ภายในประเทศ   เพื่อให้ได้
ราคาต้นทุนที่ต่ำ   ฟาร์มขนาดเล็กสามารถที่จะหาซื้ออุปกรณ์มาใช้ได้และถ้าราคาอุปกรณ์ถูกลง แนวโน้มผลิตภัณฑ์
ที่ทำจากนมโคก็จะถูกลงด้วยและคาดหวังว่าเราจะส่งออกผลิตภัณฑ์ต่าง  ๆ ที่ผลิตภายในประเทศด้วยคุณสมบัติที่ดีกว่า
ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ”
         เจ้าของผลงานรองเท้าวัวทั้งสองยังได้ฝากถึงเยาวชนรุ่นต่อไปว่า  “ถ้ามีแนวคิดดี ๆ เชิงสร้างสรรค์ให้กล้าที่จะ
แสดงออกและนำเสนอผลงานสู่สาธารณชน  ก้าวสู่เวทีโลกอย่างภาคภูมิใจ”


                                                           **********************************


โดย : * [ วันที่ ]