: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 02 ประจำเดือน 01 2551
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี ร่วมกับสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาภูมิศาสตร์กับการบริหารจัดการพิบัติภัยเชิงพื้นที่
รายละเอียด :
               ภาควิชาภูมิศาสตร์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   วิทยาเขตปัตตานี   ร่วมกับ
สมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย   จัดสัมมนาเรื่องภูมิศาสตร์กับการบริหารจัดการพิบัติภัยเชิงพื้นที่   ในวันที่  23 – 25  
มกราคม  2551  ณ  โรงแรม  ซี. เอส. ปัตตานี  เพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยใช้
ความรู้ทางภูมิศาสตร์
         รองศาสตราจารย์ระวีวรรณ   ชอุ่มพฤกษ์   คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน  มีทั้งผลดีและผลเสีย  ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบ
มากมาย  การเพิ่มขึ้นของประชากร  การเกิดนวัตกรรมใหม่  ๆ  ผนวกกับความเป็นมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอเพียง  ทำให้โลก
ซึ่งใช้เวลาในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์มาหลายพันล้านปีต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  
ประชากรที่เพิ่มขึ้นกว่า  6,000 ล้านคน ทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปแล้วหลายชนิดและกำลังถูกใช้
อย่างมหาศาลอีกหลายชนิดจนเสียสมดุลย์ของธรรมชาติ   นอกจากนี้เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้น
เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ  ได้ถูกใช้โดยปราศจากการระวัง  ผลแห่งการเสียสมดุลย์และ
ยังมีการใช้ทรัพยากรต่าง  ๆ  อย่างมหาศาลนี้เอง ทำให้มนุษย์ต้องพบกับภัยพิบัติมากมายในทุกภูมิภาคของโลก  
ในปัจจุบันแต่ละปีมีความเสียหายเกิดขึ้นทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลและนับวันจะรุนแรงเพิ่มขึ้น
         ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัย  ภัยแล้ง  
แผ่นดินไหว  สึนามิ  และแผ่นดินถล่ม  ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง  3 – 4  ปีที่ผ่านมา  ภัยพิบัติเหล่านี้ได้สร้าง
ความเสียหายนับแสนล้านบาทและนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น  รวมทั้งภัยจากโรคร้ายต่าง  ๆ  ที่เกิดกับผู้คน  ภัยจาก
ความขัดแย้งในด้านสังคม  วัฒนธรรม  และการเมือง  ภัยต่าง  ๆ  เหล่านี้ล้วนสร้างความเสียหายและเป็นตัวขวางกั้น
การพัฒนาประเทศไปสู่ความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ  ดังนั้นผู้ที่มีความรู้  ผู้บริหาร  และประชาชนทั่วไป  
จำเป็นต้องหาแนวทางในการป้องกันและลดผลกระทบดังกล่าวโดยเร็ว
         คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวเพิ่มเติมว่า    
ภูมิศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิดภัยพิบัติดังกล่าวข้างต้น   แต่คนทั่วไปยังไม่เห็นบทบาทของ
นักภูมิศาสตร์และความรู้ทางภูมิศาสตร์ในการช่วยเหลือหรือบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมากนัก   ดังนั้นการศึกษาวิจัย
และนำความรู้เชิงลึกของภูมิศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาดังกล่าว  จึงเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและมีเป้าหมาย
ที่ชัดเจน  ภาควิชาภูมิศาสตร์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
ร่วมกับสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย  จัดสัมมนาเรื่อง  ภูมิศาสตร์กับการบริหารจัดการพิบัติภัยเชิงพื้นที่  ในวันที่  
23 – 25  มกราคม  2551  ณ  โรงแรม  ซี. เอส. ปัตตานี  เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  และเพื่อนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ  โดยเฉพาะในด้านการบริหาร
จัดการภัยพิบัติ  และเพื่อเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ  ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นในด้าน
การบริหารจัดการภัยพิบัติ  โดยใช้ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้องใน
ประเทศ  กิจกรรมประกอบด้วย  การอภิปรายทางวิชาการโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิศาสตร์และภัยพิบัติ  
การนำเสนอผลงานวิชาการของนักวิจัยจากหน่วยงานต่าง  ๆ  การแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพิบัติภัยต่าง  ๆ  
การศึกษานอกสถานที่  และผลงานวิจัยของอาจารย์และนักวิจัย


                                                          ***********************************


โดย : * [ วันที่ ]