สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้จัดงานมหกรรม
ศิลปวัฒนธรรม ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 2 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมี รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน รศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวรายงาน นายมานิตย์ วัฒนเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับและ
กล่าวถึงนโยบายและการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี สำหรับกิจกรรมที่จัดให้ในงานมหกรรม
ศิลปวัฒนธรรมครั้งนี้ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการวิชาการ การสาธิตภูมิปัญญาและหัตถกรรมพื้นบ้าน การสาธิต
อาหารพื้นบ้าน การแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน การแสดงบนเวทีกลางจากเยาวชนในจังหวัดปัตตานี การแสดงบริเวณ
ลานวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน การออกร้านสาธิตและจำหน่ายสินค้า OTOP และการแสดงมหรสพ นอกจากนั้น
ยังเป็นการรวบรวมสิ่งล้ำค่ามาแสดงให้ประชาชนได้เห็นคุณค่า นอกจากจะเป็นการปลุกจิตสำนึกในด้านสืบสาน
ศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์และใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวประสานความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชนในท้องถิ่น
ปัตตานี จังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายแดนภาคใต้
รศ. ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าศิลป
วัฒนธรรมมีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงความเป็นชาติ เพราะชาติที่เป็นอารยะย่อมมีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ฉะนั้นสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จึงได้มีการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปะประเพณีและวัฒนธรรม
ของชาติ ซึ่งเป็นงานหลักหนึ่งในสี่ของหน้าที่ที่กำหนดไว้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ การรวบรวมศิลปวัฒนธรรม
ของชาติมาเผยแพร่นับเป็นหน้าที่ที่สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ถือเป็นงานสำคัญจึงได้จัดงาน มหกรรม
ศิลปวัฒนธรรม ขึ้น ซึ่งเป็นครั้งที่ 12 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ศิลปวัฒนธรรมในการสร้างภาพพจน์ที่ดีในสายตา
ของชาวไทยทั่วประเทศให้เห็นคุณค่าทางความงามแห่งศิลปะและวัฒนธรรม และเพื่อดำรงอยู่ในสังคมภาคใต้
และภาคอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย ประกอบกับเป็นการอนุรักษ์
และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และภาคอื่น ๆ สู่สังคมและเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม
แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของศิลปะการแสดงและดนตรีพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ตลอดถึงหัตถกรรมพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้และของชาติ
รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่ามหาวิทยาลัยได้ตระหนัก
ถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ จึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ
จัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรม เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันวัฒนธรรม
ศึกษากัลยาณิวัฒนา เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบงานด้านดังกล่าว นอกจากนี้การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของ
ชาติถือว่าเป็นภารกิจหนึ่งในสี่ภารกิจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กัลยาณิวัฒนาที่จะต้องส่งเสริม อนุรักษ์ ทำนุบำรุง สืบสาน ถ่ายทอดไปสู่เยาวชนของชาติเพื่อการสืบสานสืบไป
วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตแห่งมนุษย์ ศิลปะคือสิ่งสวยงามที่มนุษย์ต้องการวิถีชีวิตที่อยู่ท่ามกลางความสวยงาม
อันล้ำค่า คือสิ่งบ่งบอกความเป็นผู้มีรสนิยมและความมีจิตใจสูงของมนุษย์ โดยเฉพาะของประชาชนชาวไทยที่อยู่กับ
บสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศิลปวัฒนธรรมของชาติจะเป็นตัวประสานความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชน
ในชาติ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความผาสุกในการอยู่ร่วมกันแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและภาพลักษณ์
อันดีให้แก่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดใกล้เคียง และประเทศเพื่อนบ้าน
นายมานิตย์ วัฒนเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวถึงนโยบายและการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม
ของจังหวัดปัตตานีว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลที่คอยควบคุมดูแลการบริหารงานภาครัฐให้เป็นไปตามนโยบาย
ของรัฐบาล จังหวัดปัตตานีในอดีตเป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าในภูมิภาคอาเซีย สถานที่ที่เคยเป็น
ศูนย์กลางการติดต่อย่อมเป็นแหล่งพักพิงของคนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม
ประเพณี นั่นคือที่มาของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานี การจัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู เผยแพร่ศิลป
วัฒนธรรมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ เพื่อให้ชาวไทยและชาวโลกรับรู้ สอดรับกับนโยบายของจังหวัดที่ต้องการ
คงไว้ซึ่งทุนทางสังคมอันประมาณค่ามิได้ของความหลากหลายทางวัฒนธรรมซึ่งดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึง
ปัจจุบัน การจัดงานของสถาบันที่จัดอย่างต่อเนื่องกันมาปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว แสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของ
สถาบันที่ต้องการอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่วัฒนธรรมของจังหวัดและของภาคใต้ให้คงอยู่เป็นทุนที่จะชักนำให้
นักท่องเที่ยวได้มาศึกษามาเที่ยวจังหวัดปัตตานี กิจกรรมที่จัดนี้ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่
จังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายหลักของจังหวัดปัตตานี
มหกรรมศิลปวัฒนธรรม อันบ่งบอกถึงการแสดงศิลปะประจำท้องถิ่นภาคใต้แล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึง
ชีวิตของพ่อค้าและแม่ค้าเร่ที่มาจำหน่ายสินค้าภายในงาน เป็นที่น่าสังเกตว่าพ่อค้าแม่ค้าเร่ที่ตั้งร้านจำหน่ายสินค้า
มาจากทุกสารทิศทั่วประเทศไทย สินค้าส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของภาคต่าง ๆ อาหารพื้นบ้าน
ของเล่น ของใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เป็นต้น สำหรับการเดินทางมาของแต่ละร้านนั้น
จะมากันในรูปแบบคาราวาน และบางคนก็มารถส่วนตัวโดยจะได้รับใบปลิวและหนังสือเชิญจากหน่วยงานเอกชน
ซึ่งเป็นผู้รับเหมาสัมปทานในงานนี้เป็นประจำทุกปี
นางวิรัตน์ วิลาทอง แม่ค้าขายเสื้อทอผ้าฝ้าย ได้เปิดเผยว่าตนได้เดินทางมาจากหมู่บ้านละว้า ตำบลเมืองเพลีย
จังหวัดขอนแก่น อาชีพเก่าที่บ้านเป็นชาวนา ตนได้ตั้งร้านขายเสื้อผ้ามาเป็นเวลานานเพื่อหารายได้ในช่วงหมดฤดูกาล
ดำนา ชีวิตช่วงนี้ก็ตระเวนไปตามงาน โรงเรียนต่าง ๆ ส่วนงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมก็มาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว
โดยก่อนหน้านี้เดินทางไปจังหวัดพัทลุง ชีวิตการเดินทางในการค้าขายเป็นกิจกรรมที่ท้าทายและสนุกสนาน นอนกลางดิน
กินกลางทราย แต่ประสบการณ์ที่ได้พบเห็นล้วนแล้วแต่ได้รับรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ที่
แตกต่างกัน ได้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน
***************************************
|