: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 07 ประจำเดือน 07 2547
หัวข้อข่าว : กิจกรรม ม.อ. วิชาการ
รายละเอียด :
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สำคัญของประเทศ  
มีพันธกิจที่จะต้องกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ภาคใต้  เพื่อยกระดับมาตรการศึกษาในท้องถิ่น  สนับสนุน
การพัฒนาภูมิภาคให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาและมีความเป็นเลิศ  สามารถตอบสนองความต้องการของภาคใต้
อย่างแท้จริง  ตลอดระยะเวลา  36  ปี  ที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติหน้าที่ตอบสนองพันธกิจที่รับมอบหมาย  สามารถ
กระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนใน  14  จังหวัดภาคใต้  ตอบสนองความต้องการของชุมชนในท้องถิ่น  
โดยเฉพาะการช่วยพัฒนาชุมชนที่ด้อยโอกาส  แสวงหาความรู้ในเชิงแก้ปัญหาของท้องถิ่น  ทำวิจัยเกี่ยวกับภาคใต้  
และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้  รวมทั้งผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคใต้  โดยบัณฑิตเหล่านี้
มากกว่าครึ่งหนึ่งได้งานทำทั้งภาคเอกชน  ภาคราชการในท้องถิ่นภาคใต้
         ปัจจุบันสังคมคาดหวังที่จะเห็นผลงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยปรากฏต่อสายตาของประชาชน
มากขึ้น  คาดหวังที่จะให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทช่วยสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในชุมชน  มหาวิทยาลัยจึงเห็น
ความจำเป็นในการที่จะสื่อให้สังคมเข้าใจและรับรู้ภารกิจของมหาวิทยาลัยมากขึ้นด้วยการจัด  “งาน  ม.อ. วิชาการ  
(PSU  OPEN  WEEK  2004)”  เมื่อวันที่ 2 – 4  กรกฎาคม  ที่ผ่านมา  โดยให้มีกิจกรรมหลายรูปแบบในการที่จะ
สื่อสารกับสังคมและชุมชนต่าง  ๆ  ตามแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  2544–2549  เป้าประสงค์ที่  3  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จะกระจายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาและจะเป็นสถาบันเพื่อการเรียนรู้
ตลอดชีวิต
         ผศ. ดร. อำภา  บุญช่วย  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  กล่าวว่าการจัดงาน  ม.อ. วิชาการ  ในปี  2547  จัดขึ้นในหัวข้อ  “เทิดไท้  72  พรรษา  มหาราชินี  
เกื้อวิถีถิ่นใต้  สงขลานครินทร์ก้าวไกล  นำปัญญาไทยสู่สากล”  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  
พระบรมราชินีนาถ  เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา  72  พรรษา  เพื่อความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ
ความเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ  ประกอบกับเพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาของภาคใต้  ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้
ชุมชนได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านต่าง  ๆ  มากยิ่งขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลงานวิจัย  ผลงาน
วิชาการ  การบริการวิชาการ  การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง  ๆ  การเผยแพร่วิทยาการและเทคโนโลยี  และการส่งเสริม
ศิลปะและวัฒนธรรม  ซึ่งมหาวิทยาลัยได้นำเสนอผลงานในรอบ  36  ปี  ประกอบด้วยตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  การประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่เด่นในรอบปี  เช่น  การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ
อ่าวปัตตานี  การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ทัศนคติที่มีต่อตำรวจของชาวไทยมุสลิม
ใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  การศึกษากลไกการแห้งของฟองยางธรรมชาติ  เป็นต้น  การออกร้านหนึ่งตำบล
หนึ่งผลิตภัณฑ์จากชุมชน  การจำลองสถานการณ์จริงและตัวอย่างที่ดีให้นักเรียนและผู้ชมงาน  เช่น  ศาล  โรงเรียน
ในฝัน  การแต่งกายชุดประจำชาติต่าง  ๆ  นอกจากนี้  ม.อ. วิชาการ  ในปี  2547  ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสและการแสดง
หาคำตอบต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  เช่น  การสัมมนาระดับชาติทางอิสลามเรื่องศาสนาและสันติภาพ  :  
หลักการแนวคิดและการประยุกต์ใช้ในสังคมโลก  การเสวนาเรื่องแนวทางสู่สันติประชาธรรม  :  มุมมองของชาวบ้าน
ต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  การเสวนาเรื่องแลใต้  มุมมองวิชาการต่อสถานการณ์ภาคใต้  เป็นต้น  
ผลงานที่นำเสนอในครั้งนี้จะส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดและเกิดสัมพันธภาพอันดีกับชุมชนมากขึ้น
         “แท้จริงแล้วงาน  ม.อ. วิชาการ  ที่วิทยาเขตปัตตานี  มีความหลากหลายและน่าสนใจ  สามารถเป็นแหล่ง
ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้อย่างดีเลิศ  เป็นโครงการที่ให้ความรู้และมีประโยชน์แก่ชุมชนมาก  สามารถ
เป็นแหล่งฝึกฝนให้ตนเองได้รับประสบการณ์ในการปฏิบัติจริง  และอยากให้มีกิจกรรมที่มีความรู้และสร้างสรรค์อย่างนี้
ทุก  ๆ  ปี  และในปีนี้ตนเองยังได้มีส่วนร่วมในการผลิตผลงานจัดนิทรรศการภาพวาดในหัวข้องาน  “ศิลปกรรมน้อมใจ
เทิดไท้พระราชินี”  เพื่อเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ  ในวโรกาสครบรอบ  72  พรรษา
มหาราชินี”  นางสาวเขมาวดี  เขมะศิริ  นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
กล่าว
         ด้วยความสำนึกแห่งการรับใช้ท้องถิ่นภาคใต้มาครบ  37  ปี  มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการกระจาย
ความรู้สู่ชุมชนในรูปของการบริการวิชาการทั้งในด้านเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรม  รวมถึงการใช้บริการชุมชนใน
หลากหลายรูปแบบ  เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต  พัฒนาสังคม  และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่าง
ชุมชนและมหาวิทยาลัย  เพื่อให้สถาบันแห่งนี้เป็นที่พึ่งทางวิชาการของชุมชนอย่างแท้จริง  โดยที่มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้ประกาศส่งเสริมความเป็นเลิศทางด้านอิสลามศึกษาและยางพารา  ซึ่งเป็น
สาขาที่จำเป็นต่อความเข้มแข็งของภูมิภาคและการพัฒนาประเทศ  เพราะตระหนักว่าความสำเร็จที่แท้จริงไม่ได้
อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น  แต่อยู่ที่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากที่สุด

                                                 **************************************


โดย : * [ วันที่ ]