: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 05 ประจำเดือน 05 2547
หัวข้อข่าว : ตือตรีกับการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บชาวไทยมุสลิม
รายละเอียด :
         ปัจจุบันนี้เมื่อกล่าวถึงอาการเจ็บไข้ได้ป่วย  เราก็จะต้องนึกถึงโรงพยาบาล  และผู้บำบัด
รักษาคือ  แพทย์  พยาบาล  หรือไม่ก็จะไปหาตามร้านขายยาที่มีเกลื่อนเมืองนั้น  แต่เมื่อ
3 ทศวรรษที่ผ่านมามีชาวไทยมุสลิมทั่วไปในบริเวณสามบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ
ประเทศไทย  อันได้แก่  จังหวัดปัตตานี  ยะลาและนราธิวาส  มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า  
ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรืออำนาจลึกลับของภูตผีปีศาจ  หรือ
เพราะถูกคุณไสยของผู้อื่นที่ประสงค์ร้ายนำมาให้ถูกต้องผู้ป่วย  และมีการรักษาผู้ป่วย
ที่ทำกันอยู่แบบพื้นบ้านก็คือการเซ่นสรวง  พลีกรรม  ทำพิธีติดต่อกับภูตอผีที่เข้าสิงอยู่ใน
ร่างกายของผู้ป่วยไปเสีย  หรือไม่ก็บอกเครื่องยาตลอดทั้งวิธีการรักษาให้หายจากความ
เจ็บป่วยที่เป็นอยู่ซึ่งมีวิธีติดต่อเจรจากับภูตผีที่เข้าสิงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยนั้น  จะต้องจัด
เตรียมเครื่องเซ่น  และการละเล่นพื้นบ้ายโดยใช้ดนตรี  วิธีการเช่นนี้เรียกว่าการเล่นหรือ
การแสดง  “ตือตรี”  จึงเป็นพิธีกรรมแบบหนึ่งของชาวไทยมุสลิม
         คำว่าตือตรี  มีเรียกกันลายสำเนียงผิดเพี้ยนกันไปตามท้องถิ่น  เช่น  เรียกว่า  ตือตรี
ตือปี  บ้าง  ตริบ้าง  ในบางท้องถิ่นเรียกเป็นอย่างอื่นไปเช่นเรียกว่า  มายตือฆี  มะตือรี  บาแฆะ  
หรือเรียกว่า  มอแปะ  เป็นต้น
         ตือตรีตามที่ชาวบ้านเล่าว่า  ไม่ทราบว่ามีตั้งแต่เมื่อใด  ได้มาจากไหนและไม่ทราบ
ว่าใครเป็นผู้คิดค้นเป็นคนแรก  มีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยผีบอกวิธีการให้  ซึ่งความเชื่อถือ
เรื่องไสยศาสตร์อำนาจลึกลับเช่นนี้  เป็นสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของมวลมนุษยชาติทุก
ภาษา  ดังนั้นการแสดงตือตรีเพื่อการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บของชาวไทยมุสลิมจึงน่าจะเป็นสิ่งที่มี
มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  โดยใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้คิดค้นตามภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ
และสภาพของสังคมในสมัยนั้น
         โอกาสการแสดง
         ตือตรีเป็นดนตรีเพื่อการรักษาไข้  จะไม่แสดงในโอกาสอื่นนอกเสียจากการรักษา
ผู้ป่วยเท่านั้นและถ้าผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยก็ไม่นิยมนำมาแสดงต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการหนัก
แล้ว  ในโอกาสนั้นญาติจะไปรับคณะตือตรีมา  การแสดงตือตรีจึงไม่ถือฤกษ์ถือเวลาคือ
จะแสดงกันในวันใด  เวลาไหนก็ได้ที่ผู้ป่วยมีอาการหนักมากๆ
         เครื่องดนตรีตือตรี
         เครื่องดนตรีของตือตรีมีอยู่ 4-5 ชิ้น  ได้แก่
         1. รือบะ  เป็นเครื่องดนตรีประเภทสายคล้ายซอสามสาย  มีการแกะลายนกสวยงาม
ทั้งที่คันซอและคันชัก  รือบะจะให้ทำนองเพลงที่นุ่มนวลไพเราะและนับว่าเป็นเครื่องดนตรี
ชิ้นสำคัญที่สุดของคณะตือตรี
         2. ฆงคือห้องจำนวน 1 คู่ใบหนึ่งเสียงทุ้มอีกใบหนึ่งเสียงแหลม  เนื่องจากเป็นห้อง
ที่เป็นขนาดใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14-16 นิ้ว  จึงนิยมผูกแขวนกับส่วนใดส่วนหนึ่ง
ของบ้าน
         3. ฆือแน  คือกลองแขก 2 หน้า  จำนวน 1 คู่
         4. มง  หรือ  โหม่ง  จำนวน 1 คู่  โหม่งของตือตรีเป็นโหม่งที่มีรูปทรงไม่สวยงาม
และไม่มีรางเหมือนโหม่งของโนราหรือหนังตะลุง  และไม้ตีโหม่งก็ทำจากเปลือกมะพร้าว
เวลาตีจะเกี่ยวสายโหม่งกับหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง
         5. ถาด  ปีบ  สังกะสีหรือแผ่นโลหะอย่างอื่นที่ตีแล้วทำให้เกิดเสียงดังน่ารำคาญ
เครื่องดนตรีชนิดนี้คณะดนตรีจะไม่เตรียมมา  เพราะปกติไม่ได้ใช้และถ้าหากถึงเวลา
จำเป็นต้องใช้ก็หยิบเอาจากบ้านผู้ป่วยได้สะดวก  จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อคณะได้แสดงดนตรี
อย่างไพเราะนิ่มนวลด้วยเครื่องดนตรี 4 ชิ้นข้างต้นแล้ว  แต่ภูตผียังไม่ออกจากร่างของ
ผู้ป่วยหรือผู้ป่วยนอนเฉยๆไม่พูดไม่จาซึ่งแสดงว่าภูตผีที่สิงอยู่นั้นดื้อแข็ง     ไม่สามารถที่จะ
ติดต่อเจรจากันด้วยวันติวิธีที่นิ่มนวลได้  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องใช้วิธีรุนแรง  โดยใช้เครื่องดนตรี
ชนิดที่ 5  นี้มาระดมตี  ให้เกิดเสียงดังอย่ากวนประสาท  เชื่อว่าภูตผีจะทนความรำคาญไม่ได้  
แล้วจะออกร่างผู้ป่วยไปหรือยอมเจรจาด้วย
         วิธีแสดงและขนบธรรมเนียมในการแสดง
         การแสดงตือตรีจะแสดงเป็นคณะซึ่งมีผู้ชายล้วนประมาณ 6-7 คนประกอบด้วย
หมอผู้ทำพิธีคนหนึ่ง  คนนี้มีฐานะเป็นหัวหน้าคณะและมีหน้าที่ในการจัดเครื่องเซ่น  เรียกผี
ติดต่อเจรจากับผีที่สิงอยู่ในร่างของผู้ป่วยอีก 4-5 คนเป็นผู้เล่นดนตรีประกอบพิธีทั้งหมด
และการแต่งกายจะแต่งกายอย่างปกติ  ตือตรีบางคนจะมีอีกคนมาทำหน้าที่เป็นคนทรง  คือ
หมอจะเรียกผีให้ออกจากผู้ป่วยเข้ามาประทับทรงในร่างคนทรง  แล้วจึงเจรจากัน
         เมื่อเจ้าภาพไปรับคณะตือตรีมาถึงบ้าน  พิธีการแสดงตือตรีก็จะเริ่มขึ้นต่อหน้าผู้ป่วย
โดยให้ผู้ป่วยนอนหงายเหยียดยาวในท่าปกติมีเสื่อ  มีหมอนเช่นเดียวกับการนอนธรรมดา
สถานที่เป็นกลางห้องหรือที่ระเบียงบ้านตามแต่สะดวกเมื่อผู้ป่วยนอนเรียบร้อยแล้ว  หมอ
ผู้ทำพิธีจะจัดเครื่องเซ่นซึ่งประกอบด้วยข้าวเหนียวเหลือง  ข้าวตอก  ไข่ไก่ดิบใส่ในถาด
วางไว้  ในที่สูงข้างๆผู้ป่วย  แล้วจะนั่งลงทางปลายเท้าของผู้ป่วยพร้อมกับจัดอุปกรณ์ที่หมอ
ต้องใช้  คือหมอนใบหนึ่งกับหมัดหวายหรือมัดใบพ้อใบหนึ่งวางไว้หน้าตัก  ส่วนผู้เล่นดนตรี
จะนั่งรายล้อมผู้ป่วยกับหมอที่ทำพิธี  เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วหมอจะเริ่มเผากำยานให้มีควัน
และกลิ่นอบอวลครู่หนึ่งผู้เล่นรือบะก็จะเริ่มขับบทไหว้ครู  กล่าวอ้างสรเสริญถึงอำนาจบารมี
ถึงผีสางเทวดาผสมผสานไปกับเสียงรือบะและเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆที่บรรเลงให้จังหวะ  
พอไหว้ครูเสร็จหมอจะร่ายคาถาอาคมเป็นภาษมลายูถิ่นสลับกับเสียงดนตรีหลายทำนอง  
เป็นการบอกกล่าวให้ผีรับรู้  ในระหว่างที่ร่ายคาถาอยู่นี้หมอจะใช้หมัดหวายตีเบา  ๆ  ลงบน
หมอนบ้าง  บนร่างผู้ป่วยบ้างเป็นระยะและบางระยะหมอเอาหูแนบที่เท้า  หน้าอกและ
ที่ศีรษะของผู้ป่วยพร้อมกับเสกคาถาสลับกับเสียงดนตรีไปจนผู้ป่วยมีการสั่นเทิ้ม  ซึ่งถือว่า
ผีที่สิงอยู่นั้นรับรู้ถึงการเซ่นสรวงและรู้ถึงจุดมุ่งหมายของพิธีแล้ว  ต่อจากนั้นหมอก็จะเริ่ม
สนทนาโต้ตอบกับผีในทำนองว่า  ผีชื่ออะไร  เป็นผีของใครหรือใครใช้ให้มา  เข้ามาสิงอยู่
เช่นนี้เพื่ออะไร  ผู้ป่วยทำอะไรผิดผีจึงได้ทำโทษ,จะรักษาให้หายได้อย่างไรและสุดท้าย
ก็ขอให้ผีช่วยบอกยาหรือแก้อาการไข้ให้ด้วยเป็นต้น  
         วิธีการโต้ตอบกันระหว่างหมอกับผีสิง  หมอต้องใช้จิตวิทยาอย่างสูง  คือทั้งขู่  
ทั้งปลอบทั้งหาวิธีการตะล่อมให้ผู้ป่วยสบายใจและพูดออกมา  ซึ่งเชื่อว่าผู้ป่วยไม่ได้พูดเอง  
หากแต่ผีที่สิงอยู่นั้นเป็นผู้พูดเอง  ในระหว่างรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักด้วยการตีแผ่นโลหะ
ให้เกิดเสียงดังในเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ก็จะมีอาการหยุดพักเหนื่อย  เจ้าภาพระดม
ญาติมิตรช่วยกันหุงหาอาหารมาเลี้ยงดูคณะตือตรีและญาติๆที่มาเยี่ยมไข้  และเมื่อคณะ
ตือตรีหายเหนื่อยแล้วถ้ายังไม่ยอมออกมาปรากฏอาการ  คณะตือตรีก็จะเริ่มตีแผ่นโลหะ
ให้เกิดเสียงดังต่อไป  เรื่อยๆจนบางครั้งผู้ป่วยตายคาลงไปเลยก็มี  หรือไม่ก็เชื่อว่าผู้ที่ใช้ผี
มานั้นมีวิชาแก่กล้าเหนือกว่าหมอมากนักจึงยอมนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล  ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้ง
ที่ผู้ป่วยมีอาการเพียบหนักมากจนเกินที่แพทย์จะช่วยชีวิตไว้ได้เสียแล้ว
         การแสดงตือตรีจะหยุดลงก็ต่อเมื่อผีสนทนาโต้ตอบกันได้และบอกวิธีรักษาให้แล้ว  
และเมื่อผู้ป่วยขาดใจตายไป  และหรือนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล  การแสดงตือตรีสมัยโบราณ
จะไม่มีค่าตอบแทนใดๆนอกจากความภูมิใจที่คณะได้รับคำ “ขอบคุณ” จากเจ้าภาพ  และ
อิ่มใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามเจ็บไข้  ทั้งเจ้าภาพเองก็แสดงน้ำใจตอบแทนด้วย
การช่วยการงานอย่างอื่นเมื่อคณะตือตรีมาไว้วานในภายหลังแต่ในช่วงหลังเนื่องจากสภาพ
สังคมและเศรษฐกิจไม่ค่อยจะเอื้ออำนวย  คณะตือตรีจึงมีการตั้งค่าสินจ้างเป็นเงินกันบ้าง
แล้ว  ซึ่งตกประมาณ 300-400 บาท  สำหรับการแสดงครั้งหนึ่ง
         ความเชื่อและวัฒนธรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
         ในการแสดงตือตรีมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่น่าจะเชื่อได้ว่า  เป็นสิ่งที่รับเอา
วัฒนธรรมของชาวอินเดียเข้ามา  คือการเผากำยาน  เพราะในพิธีสำคัญๆ ทางศาสนาอิสลาม  
เช่น  การทำละหมาดพร้อมกัน  ณ  มัสยิดหรือสุเหร่า  ในทุกวันศุกร์ของสัปดาห์  เป็นต้น  
ก็ไม่มีการเผากำยาน  การเผากำยานมีอยู่ในวัฒนธรรมอินเดียมาแล้วตั้งแต่ครั้งโบราณ  และ
ชาวอินเดียได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเผยแพร่วัฒนธรรมของตนในบริเวณเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้อย่างแน่นแฟ้นในคริสตวรรษต้นๆ  จึงน่าจะเชื่อว่าการเผากำยานในการแสดงตือตรี
เป็นสิ่งที่ชาวไทยมุสลิมรับมาจากชาวอินเดียมากกว่าจะเป็นกรรมวิธีในวัฒนธรรมของตน
มาตั้งแต่ดั้งเดิม
         ในปัจจุบันชาวไทยมุสลิมรุ่นผู้ใหญ่ในท้องถิ่นทุรกันดารและไม่ได้รับการศึกษา  ยังมี
ความนับถืออย่างจริงจังว่าความเจ็บไข้เป็นผลจากอำนาจลึกลับของภูติผีปีศาจและวิธีการ
แก้ไขมีอยู่หนทางเดียวคือ  อาศัยการแสดงตือตรีดังที่กล่าวมาแล้ว  แต่สำหรับผู้ที่ได้รับ
การศึกษา  มีความเข้าใจด้านวิทยาการด้านการแพทย์สมัยใหม่จะห่างเหินไปจากความเชื่อ
เช่นนั้น  กลับหันมานิยมส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  บุคคลเช่นนี้นับวันจะมี
มากขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งนี้เพราะความเอาใจใส่ของรัฐบาลเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล  ไม่ว่าจะเป็นครู  
ทหาร  ตำรวจ  แพทย์  พนักงานอนามัย  เจ้าหน้าที่สาธารสุข  ฯลฯ  ซึ่งต่อมาก็ได้ช่วยเหลือ
ชี้แนะทิศทางที่ถูกต้องให้  ชื่อตือตรีจึงน้อยคนนักที่รู้จักว่าคืออะไร  และในที่นี้จึงขอกล่าว
เรื่องราวมาเพื่อให้อนุชนได้เห็นคุณค่ากับความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมระหว่างมนุษย์กับ
ธรรมชาติที่มีคุณค่าจะอาศัยซึ่งกันและกัน  เรื่องราวทั้งหมดนี้ผู้เขียนได้เก็บความมาจาก
การลงไปเก็บข้อมูลจากภาคสนามเรื่องเรือนพื้นถิ่น (ไทย-มุสลิม) 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
และค้นคว้าจากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้และดนตรี  กีฬา  และการละเล่นของชาวไทย
มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยของไพบูลย์  ดวงจันทร์

                                        **********************************
โดย : * [ วันที่ ]