: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 04 ประจำเดือน 04 2547
หัวข้อข่าว : วัฒนธรรม การชมศิลปะ
รายละเอียด :
          ความหมายของศิลปะ
         ศิลปะตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พ.ศ. 2493  ได้อธิบายไว้ว่า  ศิลปะ (สินละปะ)  
น.ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างน่าพึงชม  และเกิดอารมณ์สะเทือนใจ
         ศาสตราจารย์ศิลปะ  พีระศรี  ให้ความหมายศิลปะ  หมายถึง  งานอันเป็นความพากเพียรของ
มนุษย์  ซึ่งต้องใช้ความพยายามด้วยฝีมือและด้วยความคิด
         ตอลสตอย  นักประพันธ์ชาวรัสเซียกล่าวว่าศิลปะคือ  การถ่ายทอดความรู้สึกเป็นวิธีการสื่อสาร
วิธีหนึ่งระหว่างมนุษย์ด้วยกันว่าเราใช้คำพูดสำหรับสื่อความคิด  แต่ใช้ศิลปะสำหรับสื่อสารความรู้สึก
         ท่านพุทธทาสภิกขุ  กล่าวไว้หนังสือศิลปะแห่งการดูด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญาหรือปัญญาเห็น
อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง  เป็นการบรรยายธรรมประจำวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม 2523  ลานหินโค้ง
สวนโมกข์ว่า  ศิลปะประกอบด้วย  ความหมาย 3 อย่าง คือ  งามสำเร็จประโยชน์และกระทำด้วยฝีมือ
ความสำคัญของศิลปะ
         ศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์  เพราะศิลปะเป็นสิ่งสะท้อนอกมาจากจิตใจมนุษย์ออกมา
เป็นรูป (Form) เป็นสีสัน  เป็นเสียง  และเป็นบทกวี  และศิลปะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต  และชีวิต
สะท้อนให้เห็นศิลปะ  ศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตมนุษย์ที่ขาดไม่ได้  และศิลปะก็จะไม่เกิดขึ้นเช่นกัน
ถ้าขาดชีวิตมนุษย์
         ทุกวันนี้ศิลปะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก  ทั้งศิลปะบริสุทธิ์  หรือวิจิตรศิลป์
และประยุกต์  หรือศิลปะด้านอื่นๆ  ถึงแม้ว่ามนุษย์จะเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์
เพียงใด  ศิลปะซึ่งเป็นความต้องการทางจิตใจก็ยิ่งจำเป็นต่อมนุษย์มากเป็นเงาตามตัว  แต่ศิลปะโดยเฉพาะ
วิจิตรศิลป์นั้น  เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเข้าใจยากและเป็นปัญหาในการชื่นชมและการเสพของมนุษย์มา
แทบทุกยุคทุกสมัย  ที่เป็นเช่นนี้  สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะความก้าวล้ำไปข้างหน้าของผลงาน  
ศิลปะที่ศิลปินสร้างขึ้นจนผู้คนร่วมยุคร่วมสมัยไม่เข้าใจ  ไม่สามารถชื่นชมและสื่อความรู้สึกนึกคิด
ที่เป็นศิลปินออกมาได้  จนเมื่อเวลาล่วงเลยมาแล้วประชาชนจึงเข้าใจชื่นชมและรู้คุณค่าของศิลปะ  
ซึ่งความไม่เข้าใจผลงานของศิลปินชั้นแนวหน้าแต่ละสมัยเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้ประชาชนปฏิเสธศิลปะ  
จนเกิดความรู้สึกว่า “ศิลปะ”  เป็นสิ่งที่เข้าใจยากและเป็นสิ่งสูงเกินความสามารถของคนทั่วไป
ที่จะเข้าใจและชื่นชมศิลปะ  การเสพศิลปะจึงต้องปีนบันได  ความจริงแล้วศิลปะไม่ใช่สิ่งสูงส่ง
เกินความสามารถของมนุษย์จะเข้าใจได้  และศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  มนุษย์จึงควรเข้าใจ  
ความเข้าใจและการชื่นชมศิลปะเป็นสิ่งที่ฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนาเช่นเดียวกับศาสตร์อื่นๆ  ทั้งที่ศิลปะ
เป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตเราอย่างแนบแน่นมาแต่โบราณกาล  โดยเฉพาะศิลปะประยุกต์
(applied art) ซึ่งเป็นศิลปะเพื่อใช้สอย  เป็นศิลปะที่ช่างพัฒนาเครื่องใช้ไม้สอย  พัฒนาชีวิต
ความเป็นอยู่และรสนิยมของมนุษย์ให้ดีขึ้นมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน  โดยศิลปะประเภทนี้ใกล้ชิด
กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ตลอดมา  แต่เรามักไม่ได้ให้ความสำคัญและมองผ่านไปโดยไม่สังเกต
และไม่สนใจ  ส่วนวิจิตรศิลป์ (fine art) นั้นเป็นเรื่องราวของความรู้สึกนึกคิดจิตใจและภูมิปัญญา
ของมนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัย  ซึ่งมีศิลปินเป็นตัวแทนในการแสดงออก  ดังนั้นศิลปะจึงเป็น
องค์ประกอบส่วนหนึ่งของชีวิตที่จะขาดเสียมิได้  แต่ปัจจุบันศิลปะกลับขาดหายไปจากชีวิตของ
ผู้คนจำนวนมากจนเกิดช่องว่าง  เกิดความรู้สึกห่างเหินและปฏิเสธศิลปะ  การหันกลับมาฟื้นฟู
การยอมรับและชื่นชมศิลปะจึงควรจะเป็นสิ่งที่จะกระทำได้ไม่ยาก  เพราะเป็นสิ่งที่จิตใจมนุษย์
ต้องการอยู่แล้ว  หากแต่ภาวะแวดล้อม  เศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง เป็นอุปสรรคทำให้เกิด
ช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่คับแค้น
ยากจน  และเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ  ในสังคมยุคนี้กล่าวกันว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่แยกออกจาก
ศิลปะออกจากจิตวิญญาณของประชาชน
หลักสำคัญในการชมศิลปะ
         การชมศิลปะ  ความจริงไม่ใช่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนทั่วไปมากนัก  หากการชื่นชม
นั้นเป็นเพียงการชื่นชมเพียงเพื่อความพอใจส่วนตัวมิใช่การชื่นชมถึงขั้นเข้าใจอย่างลึกซึ้งและ
ประเมินคุณค่าแล้ว  ก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากนัก  การชื่นชมศิลปะก็เช่นเดียวกับการชื่นชมสิ่งอื่น  ๆ  
ที่ค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยให้เกิดขึ้นก่อนก็จะชื่นชมได้ไม่ยาก  
แต่จะให้การชื่นชมไปถึงขั้นเข้าใจและรูถึงคุณค่า  จะต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังและต้องมี
การศึกษาไปด้วย
         การชื่นชมศิลปะขั้นแรกสุดคือ  การให้ความสนใจและสร้างคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง  
การอ่าวรรณกรรมจนถึงการชมภาพเขียน  ชมงานประติมากรรมหรือผลงาน  ทัศนศิลป์อื่น  ๆ ก็ตาม  
การพาตนเองเข้าไปใกล้ชิดกับงานศิลปกรรมเป็นการเริ่มต้นการชื่นชมที่ดีที่สุด  โดยมิต้องคำนึงถึง
สาระหรือความเข้าใจแต่ประการใดการให้ความสนใจจะทำให้เกิดความคุ้นเคย  เป็นการเริ่มต้น
ที่จะนำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น  ทำให้ไม่ปฏิเสธหรืต่อต้านขึ้นในใจว่า  ตนเองไม่มีความรู้  
ไม่ได้เรียน  ไม่ได้ศึกษามาโดยตรง  จึงเป็นสาเหตุเบื้องต้นของการปฏิเสธศิลปะ  ดังนั้น  การทำใจ
ให้ยอมรับโดยไม่มีอคติจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี  เมื่อทำใจได้เช่นนี้แล้ว  ก็พยายามพาตนเอง
เข้าไปหาศิลปะทั่วไปหรือศิลปะชั้นดีที่ยอมรับของคนทั่วไปแล้วจะยิ่งเป็นการดี  อาจจะเริ่มไปชมงาน
ศิลปะตามพิพิธภัณฑ์  ตามหอศิลป์  การไปฟังคอนเสิร์ตดีๆ  ไม่ใช้คอนคอนเสิร์ตที่ไร้สุนทรียรส
อย่างทุกวันนี้  ควรเลือกฟังคอนเสิร์ตที่เลือกฟังเพลงดีๆ  อาจจะเป็นเพลงที่มีลักษณะ  กึ่งเพลงคลาสสิค
ก็จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี  หรือจากการที่ได้มีโอกาสชมภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดอารามต่าง ๆ  นั้น
ซึ่งเป็นภาพที่ดูง่ายทั้งรูปแบบและเนื้อหา  เพราะเป็นศิลปกรรมที่ใกล้ชิดกับขนบประเพณี  วัฒนธรรม
และวิถีชีวิตของเราอยู่แล้ว  หากได้ชมจิตรกรรมฝาผนังบ่อยๆ  ก็จะทำให้เกิดความคุ้นเคยทางศิลปะได้  
การชมครั้งแรก  ๆ  อาจจะเป็นเพียงการดูอย่างผิวเผิน  หรือเรียกว่า “เพียงให้ผ่านหูผ่านตาเท่านั้น”  
ไม่ต้องคำนึงถึงเนื้อหาสาระต่อเมื่อคุ้นเคยแล้ว  จึงเพิ่มความสนใจมากที่ละขั้นๆ  จากการดูสีสัน
มาเป็นการให้ความสนใจเนื้อหาและเรื่องราวของภาพ  และให้คามสนใจสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น
เป็นลำดับ  ๆ  ก็จะทำให้เราพัฒนาการรับรู้ศิลปะได้และเปลี่ยนความรู้สึกปฏิเสธศิลปะมาเป็น
การยอมรับ  จากความรู้สึกห่างเหินมากเป็นความคุ้นเคย  ถัดจากการสร้างความคุ้นเคยแล้ว
อาจจะตามมาด้วยความอยากรู้และการแสวงหาความเข้าใจ  จากการชมเฉย  ๆ มาเป็นการอ่าน  
เริ่มมีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นและจะต้องหาเหตุผลมาตอบตนเองให้ได้
         การพัฒนาการชมศิลปะขั้นต่อไป  หลังจากที่มีความคุ้นเคยกับศิลปะจนรู้สึกใกล้ชิด
สนิทสนมดีแล้วก็ควรถึงขั้นให้ความสนใจอย่างจริงจัง  ซึ่งก็เหมือนกับการคบเพื่อนเมื่อมีความ
คุ้นเคยกันพอสมควรแล้วก็ต้องให้ความสนใจนิสัยใจคอเขามากขึ้น  ต้องพิจารณาบุคลิก
ลักษณะ  รสนิยมองค์ประกอบในตัวเขาว่าเป็นอย่างไร  ต้องตั้งคำถามต่อตัวเองว่าชอบหรือ
ไม่ชอบเขาดีหรือไม่ดีอย่างไร  ต้องให้ความสนใจมากขึ้นเพื่อแสวงหาคำตอบให้ตนเอง
ให้ได้มากและชัดเจนที่สุดซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง  เป็นเรื่องที่จะต้อง
มีการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาการรับรู้ (perception)  ให้มากขึ้น  ซึ่งการให้ความสนใจ
ศิลปะอย่างจริงจังจะเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การชื่นชมและซาบซึ้งได้ในที่สุด  การให้ความ
สนใจเริ่มตั้งแต่การเพิ่มประสบการณ์ทางศิลปะให้กับตนเอง  อาจจะเป็นการฟังมาก  ดูมาก  
และอ่านมาก  ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการรับรู้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้นช่วยให้
เกิดการเปรียบเทียบ  เกิดวิจารณญาณที่จะมองเห็นความแตกต่างกันของงานศิลปะได้ขั้นหนึ่ง  
ความสนใจในการเพิ่มประสบการณ์  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเสพศิลปะ  เพื่อช่วย
ในการพัฒนาการรับรู้นำไปสู่ความเข้าใจและจะได้รับสุนทรีย์รสอารมณ์ความรู้สึกจากงานศิลปะ  
นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในการชื่นชมศิลปะคือ  การชื่นชม
ศิลปะจะต้องให้เวลาและต้องมีสมาธิ  เพราะการชื่นชมศิลปะนั้น  จะต้องให้เวลาในการปรับ
ตนเอง  ปรับความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ให้กับตนเองและจะต้องสร้างสมาธิในการชม  การฟังและการอ่าน
         ดังที่กล่าวมาแล้วการชื่นชมศิลปะ  การทำความเข้าใจศิลปะไม่ใช่เรื่องยากเกิน
ความสามารถของคนทั่วไป  การชื่นชมศิลปะเป็นสิ่งพัฒนาได้  หากมีการเริ่มต้นที่ดี  และหาก
จำนวนของผู้ให้ความสนใจมากขึ้นก็จะเป็นผลดีในการพัฒนาวงการศิลปะให้ก้าวไปข้างหน้า  
และเป็นประโยชน์แก้ประชาชนในการพัฒนารสนิยมทางศิลปะให้สูงขึ้น  เพื่อนำผลจากการชม
ศิลปะมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีสุนทรียภาพก่อให้เกิดความสุข  สงบและมีสันติสุขในสังคม

                                               ************************************

โดย : * [ วันที่ ]