นักวิชาการและประชาชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ระดม
ความคิดในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2547 ที่หอประชุม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีโต๊ะครูปอเนาะ และผู้บริหารโรงเรียนเอกชน
สอนศาสนาอิสลม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทน NGO ผู้แทนหอการค้า และ
สภาอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 300 คน
ทั้งนี้วิทยากรประกอบด้วย นายวินัย สะมะอูน รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลาม
แห่งประเทศไทย ผศ.ดร.อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี
ผศ.ปิยะ กิจถาวร นักวิชาการรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี นายกิตติ กิติโชควัฒนา อดีตผู้ว่าราชการ
จังหวัดยะลา เพื่อเป็นแนวทางการรวมพลังของสังคมในการสร้างสันติสุขและพัฒนาที่ยั่งยืนใน
จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวกับผู้ที่ร่วมสัมมนาว่า เนื่องจากสถานการณ์ความ
ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสังคมในพื้นที่ทุก
ระดับ เกิดความสับสนและความหวาดระแวงอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่จึงได้เชิญประชาคมในพื้นที่จังหวัดชายแดน
ภาคใต้ระดมแนวคิด เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา โดยมีนักวิชาการ หอการค้า
จังหวัด สภาอุตสาหกรรม ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้แทน NGO และผู้สนใจรวมประมาณ
300 คนร่วมระดมความคิด โดยมหาวิทยาลัยฯ จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูล และแนวทางการ
แก้ปัญหาจากประชาคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่
เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาในการแก้ปัญหาต่อไป
ผศ.ปิยะ กิจถาวร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี เปิดเผยว่าถึงสาเหตุการเกิดปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากโครงการวิจัย
เรื่องข้อค้นพบจากการศึกษา เพื่อทำความเข้าปัญหาพื้นฐานของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า
มาจากสาเหตุ 3 ประการคือปัญหาแนวคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาในสมัยการล่า
อาณานิคมซึ่งแนวคิดเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้มีการแบ่งแยกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา
ประกอบกับภาครัฐได้นำเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นตัวกำหนดการแบ่งแยก และเครื่องมือ
ในการใช้ความต่างของเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้เกิดการแบ่งแยก การเข้าใจ
ความต่างรัฐทำได้ไม่ยาก แต่ในส่วนของประชาชนในพื้นที่นั้นได้ใช้รูปธรรมที่ชัดเจนในการ
จัดการชุมนุมของตนเองและแก้ปัญหาความต่างในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา คือมีการเรียนรู้วัฒนธรรม
และประเพณีซึ่งกันและกัน แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐเองและสื่อได้สร้างความต่างของ
กลุ่มชาติพันธุ์ผู้มีอิทธิพลต่อการเกิดการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ โดยดูได้จากการแก้
ปัญหาของรัฐที่นำประเด็นของความต่างของกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นประเด็นสำคัญทำให้
ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่เข้าใจเช่นนั้น ทั้งนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมวัยรุ่นในพื้นที่ที่เริ่มมีปฏิกิริยา
ต่อต้านอำนาจรัฐเพราะเกิดจากการได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ผศ.ปิยะ กิจถาวร เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยอีกว่า แนวทางการลดความขัดแย้ง
ในพื้นที่นั้นมีอยู่ 7 ประการคือ ต้องเข้าใจหลักของศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่ การไปมา
พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในพื้นที่ที่ต่างศาสนา รู้ถึงความต้องการของทั้งฝ่ายเรา
และฝ่ายเขา เมื่อมีกรณีพิพาทกันไม่ควรกล่าวโทษผิดซึ่งกันและกันควรมีการปรึกษาหารือกัน
การให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ควรเท่ากันไม่มีความต่างในศาสนา และสุดท้าย
รัฐควรมีการปราบโจรและข้าราชการที่ทุจริตอย่างเด็ดขาด เพราะฉะนั้นปัญหาพื้นที่จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ โดยง่ายที่สุดที่รัฐพยายามแก้ไขคือสร้าง
ความเข้าใจในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่เองต้องมีการละลายพฤติกรรมให้สามารถใช้ชีวิต
อยู่กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีความเข้าใจกัน
นายวินัย สะมะอูน รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
กล่าวถึงมิติของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นมิติหนึ่งที่สร้างความไม่เข้าใจให้กับรัฐ ปัญหาต่าง ๆ
ทุกฝ่ายมองเห็นตรงกัน แต่อุปสรรคของการแก้ปัญหาอยู่ที่ว่าการปฏิบัติที่ไม่ได้ทำอย่าง
จริงจัง ไม่จริงใจ มีปัญหาครั้งหนึ่ง ก็ทุ่มงบประมาณเข้ามาในพื้นที่ครั้งหนึ่ง คนปฏิบัติเอง
หรือเจ้าหน้าที่ที่แก้ปัญหาเองยังมีความหวาดระแวง ดั้งนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ที่คนปฏิบัติ
และผู้แก้ปัญหาจะใช้ความรู้สึกตัวเองไม่ได้ในการแก้ปัญหา ต้องอาศัยความรู้ ส่วนการข่าว
ของรัฐยังอ่อนแอ รัฐได้ข้อมูลจากสายข่าวของหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงด้านเดียว โดยความ
เป็นจริงแล้วรัฐต้องรับฟังสายข่าวจากประชาชนด้วย ซึ่งปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน
ภาคใต้ ไม่ใช่เป็นปัญหาของชาวมุสลิมในพื้นที่นี้เท่านั้น แต่มีผลกระทบถึงจิตใจชาวมุสลิม
ทั่วประเทศ เพราะนั้นการแก้ไขปัญหาต้องมาจากความคิดเห็นของชาวมุสลิมทั้งประเทศ
ดังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือเข้าถึง เข้าใจและพัฒนา
ผศ.ดร.อิสมาแอ อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เสนอแนะต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม
หรือทางศาสนา ชาวมุสลิมต้องการความสันติสุขตามหลักการของศาสนา แต่จะมีการต่อสู้กัน
ก็จะเป็นไปในลักษณะการต่อสู้โดยสันติวิธี มีกฏิกาอยู่ในกฎระเบียบของภาครัฐ ปัจจุบัน
โอกาสการต่อสู้อย่างสันติวิธีของคนที่นี้มีมากมายโดยเฉพาะระบบการปกครองท้องถิ่น
ที่คนในพื้นที่เลือกปกครองตัวเอง ตั้งแต่ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และ
องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเราสามารถที่จะปกครองตนเองโดยชาวมุสลิมเอง ปัญหาที่
เกิดขึ้นเกิดจากปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้ที่ถูกกดดัน เช่นกรณีที่มีชาวมุสลิมไปศึกษาต่างประเทศ
มากเนื่องระบบการศึกษาไทยไม่สามารถที่จะรองรับนักเรียนมุสลิมโดยเฉพาะนักเรียน
มุสลิมที่เรียนเฉพาะด้านศาสนาอย่างเดียว จึงมีความจำเป็นต้องไปศึกษายังต่างประเทศ และ
นอกเหนือจากจากนั้นรัฐบาลไทยไม่เคยเข้าไปดูแล อำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเหล่านั้น
จึงกลายเป็นผู้ถูกทอดทิ้งสร้างความหวาดระแวงระหว่างนักศึกษาและภาครัฐของไทย และ
เมื่อจบการศึกษาแล้วเขาเหล่านั้นมีความต้องการที่จะมีทำงานในพื้นที่ แต่ด้วยระบบของ
การศึกษา และระบบของราชการไทยที่ไม่เอื้อต่อนักศึกษาเหล่านั้น ไม่สามารถรองรับ
วุฒิการศึกษาของผู้ที่จบมา เพราะฉะนั้นรัฐทำอย่างไรก็ได้ที่ให้นักศึกษาที่จบจากต่างประเทศ
สามารถเข้ามาทำงานในระบบราชการไทยได้
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เสนอแนวคิดหลากหลาย อาทิ ประเด็นที่ทางรัฐบาลยังไม่เข้าใจ
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับรัฐพยายามแทรกแซงชีวิต การใช้ชีวิตความเป็นอยู่
ที่เป็นแบบมุสลิม นอกจากนี้ได้กล่าวชมรัฐบาลในด้านนโยบายที่พยายามพัฒนาจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ แต่ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ขาดความจริงจังและจริงใจ มีอคติ
โดยใช้ความรู้สึกในการแก้ปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบในการสร้างความหวาดระแวงดังนั้นทางรัฐ
ต้องเข้าใจถึงจะแก้ปัญหาได้
***********************************
|