พิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลี เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของพระเทพญาณโมลี
อดีตเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร จังหวัดปัตตานี ท่านเป็นผู้เก็บรวบรวมศิลปโบราณวัตถุต่าง ๆ ไว้
ตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณร ต่อมาท่านเห็นว่าโบราณวัตถุดังกล่าวมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์
ศิลปะและโบราณคดี ควรจะหาสถานที่จัดแสดงให้สาธารณชนได้ชมและศึกษาค้นคว้าสืบไป ดังนั้น
ท่านจึงได้เลือกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งได้
บริจาคทุนทรัพย์ 2 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อก่อสร้างเสร็จจึงตั้งชื่อว่าพิพิธภัณฑ์
พระเทพญาณโมลี ตามชื่อของพระคุณเจ้าและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2531
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์พระเทพญาณโมลีชั้นล่างแบ่งเป็น 2 ห้องใหญ่ และชั้นบน
1 ห้องใหญ่ โดยจัดนิทรรศการชั่วคราว 2 ส่วนคือ
ห้องที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานี
โดยเริ่มตั้งแต่ลักษณะสภาพต่าง ๆ ของเมืองปัตตานีเช่น สภาพภูมิศาสตร์ เป็นต้น โบราณ
วัตถุที่นำมาจัดแสดงจะควบคู่กับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของปัตตานีได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังแทรกความรู้ทางประวัติศาสตร์ของ
สถานที่สำคัญต่าง ๆ ในจังหวัดปัตตานี เช่น วัง 7 หัวเมือง เป็นต้น อีกมุมหนึ่งของห้องเป็นเรื่องราว
เกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่ทำคุณประโยชน์ให้กับปัตตานีตั้งแต่ในอดีต เช่น พระยาพิบูลพิทยาพรรค
เป็นต้น
ห้องที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวเรื่องศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานีคือ
กริช ความเป็นมาของกริช และลักษณะของกริช ผ้าจวนตานี เครื่องทองเหลือง ภาพถ่ายบ้านเรือน
ไทยมุสลิมและกรงนก
อาคารชั้นบน 1 ห้องใหญ่ จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่พระเทพญาณโมลีบริจาคให้แก่
มหาวิทยาลัย สามารถแบ่งเป็นห้องปีกซ้ายและห้องปีกขวา ส่วนตรงกลางจัดแสดงเครื่องใช้ประจำวัน
ของพระเทพญาณโมลี
ส่วนที่ 1 ห้องทางด้านปีกขวา จัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูป ซึ่งมีหลายแบบหลายสมัยตั้งแต่
สมัยรัตนโกสินทร์ไปจนถึงสมัยศรีวิชัย
ส่วนที่ 2 ห้องทางด้านปีกซ้าย จัดแสดงในเรื่องของเครื่องถ้วยประเภทต่าง ๆ เช่น
เครื่องถ้วยชุดอักษรพระนาม จ.ป.ร. รวมไปถึงการจัดแสดงเหรียญซึ่งมีทั้งเหรียญตราและเหรียญกษาปณ์
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จึงขอเชิญผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ เวลา 09.00 16.00 น. ทุกวันและเวลาราชการ
โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์เข้าชมได้ล่วงหน้าที่ สถาบันวัฒนธรรม
ศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 181 ถนนเจริญประดิษฐ์
ตำบลรูสมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000 โทร. 0 7333 1250
*************************************
|