: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 03 ประจำเดือน 03 2547
หัวข้อข่าว : สามองค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมแสดงนิทรรศการร่วมสมัย ภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ โดยศิลปินเปโดร คาบอลเลโร่ ในผลงานชุดโลกลึกลับแห่งอาณาจักรเปรู
รายละเอียด :
         สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
ร่วมกับสถานทูตเปรูประจำประเทศไทย  และโรงแรมซีเอส. ปัตตานี  ร่วมแสดงนิทรรศการ
ร่วมสมัยภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบโดยศิลปินเปโดร  คาบอลเลโร่  (Pedro  Caballero)  ใน
ผลงานชุด  “โลกลึกลับแห่งอาณาจักรเปรู”  ณ  หอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  โดย  ฯพณฯ  นายชวน  หลีกภัย  อุปนายกสภา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เป็นประธานในพิธีเปิด  เมื่อวันที่  1  มีนาคม  ที่ผ่านมา
         นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ  “โลกลึกลับแห่งอาณาจักรเปรู”  
โดยศิลปินเปโดร  คาบอลเลโร่  (Pedro  Caballero)  จิตรกรผู้มีชื่อเสียงชาวเปรู  ซึ่งได้รับการ
ยอมรับจากวงการศิลปินและห้องแสดงภาพในอเมริกาใต้  ยุโรป  และสหรัฐอเมริกา  มีผลงานที่
พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ต่าง  ๆ  เลือกไปเก็บสะสมเป็นคอลเลคชั่นมากมาย  จัดขึ้นระหว่างวันที่  23  
กุมภาพันธ์ – 8  มีนาคม  2547  
         เปโดร  คาบอลเลโร่  (Pedro  Caballero)  เป็นจิตรกรหนุ่มชาวเปรู  สำเร็จการศึกษาทาง
ด้านศิลปะจากสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติในกรุงลิมา  เป็นจิตรกรที่มีความสามารถสูงในการใช้สี
และการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย  (Contemporary)  ตามแบบตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง  
ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยชุด  “โลกลึกลับแห่งอาณาจักรเปรู”  ของเปโดร  ชุดนี้มีภาพที่นำมาจัด
แสดงในครั้งนี้ทั้งสิ้น  20  ภาพ  แต่ละชิ้นงานมีขนาดความกว้าง  145 x 200  เซนติเมตร  ขึ้นไป  
เป็นการสร้างผลงานตั้งแต่ปี  1993  จนถึงปัจจุบัน  ลักษณะของชิ้นงานเป็นผลของการศึกษา
เกี่ยวกับรูปแบบ  สี  และภาพวาดโบราณต่าง  ๆ  ที่เหลือทิ้งไว้ของพวก  PARACAS ,  VICUS ,  
MOCHE  และ  CHANCY  เขาได้เปิดเผยความลี้ลับของวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของเปรู  
พร้อมทั้งได้ปลุกจิตสำนึกทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเปรูผ่านทางผลงานศิลปกรรมของเขา  
ในภาพเขียนของเขาจะสดสวยด้วยความหลากหลายของเสื้อผ้าอาภรณ์  เชือก  กระดาษยับ  
มัดเส้นใย  และผ้าห่อศพมัมมี่  ทุกสิ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อถึงโลกอันลึกลับแห่งอาณาจักร
เปรู  เช่น  เชือกต้องการสื่อให้เห็นถึงความต้องการของศิลปินในการผูกมัด  และสร้างความ
สัมพันธ์ที่ต้องการให้บรรพบุรุษแห่งเปรูได้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
         เมื่อสามพันปีที่แล้ว  วัฒนธรรมประเพณีโบราณของพวก  PARACAS  นั้นห่อหุ้ม
คนตายด้วยผ้าที่ปราณีตที่สุด  ทุกคนเดินทางไปสู่โลกที่อยู่เหนือธรรมชาติตามรูปแบบของเขา  
ผ้าที่ปราณีตอันนี้ปรากฏอยู่ในรูปแบบซึ่งแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ทั่ว  ทุกสิ่งที่นำมาแสดง
ในนิทรรศการเหมือนกับจดหมายลึกลับจากยุคสมัยก่อนการค้นพบทวีปอเมริกาของ
โคลัมบัส  วัฒนธรรมของพวก  PARACAS  อันนี้ได้ครอบงำทางชายฝั่งทะเลด้านใต้ของประเทศ
เปรู  ในช่วงระหว่างปี  1800  ก่อน  ค.ศ.  จนถึงปี  ค.ศ. 175  ประชากรของ  PARACAS  
เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทอผ้า  การย้อมสี  และการเย็บปักถักร้อย  การทอผ้าได้รับการทอด้วย
ใยฝ้ายและถักด้วยขนของ  ILAMA ,  VICUNA  หรือ  ALPACA  บ่อยครั้งความคิดที่เป็น
จุดสำคัญของศิลปะก็มีความหมายในทางเวทย์มนต์หรือในทางศาสนา  เป็นการสนองตอบ
เสมือนเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่กับผู้ที่ตายไปแล้ว  โดยผ่านทางการ
ทอผ้าของพวกเขา  ประชาชนเปรูเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงไหวพริบในทางศิลปะของพวกเขา
และบ่งบอกถึงความเชื่อของพวกเขา  และในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่ในแถบ
เทือกเขา  ANDES  ในทวีปอเมริกาใต้
         รศ. วุฒิ  วัฒนสิน  อาจารย์ด้านศิลปะ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  เปิดเผยถึงผลงานยอดเยี่ยมชุด  “โลกลึกลับแห่งอาณาจักรเปรู”  ว่าเป็นหนึ่งของการ
ส่งเสริมความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ  ก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมระหว่าง
ประเทศให้มีมากขึ้น  เพราะศิลปะและขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้มีคุณค่าในการแสดง
ความเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ  ความเข้าใจต่อกันอย่างลึกซึ้ง  จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้
โลกใบนี้เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนนานตลอดไป
         “เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าศิลปะเป็นเรื่องราวของความสามารถที่จะอธิบายให้ผู้อื่น
ทราบความคิดของตัวเอง  โดยรูปแบบและจินตนาการให้เป็นรูปลักษณ์ออกมาให้เห็น  อาจจะ
เป็นในลักษณะรูปภาพหรือการแสดงออกในรูปของเสียง  หรือออกมาในลีลาต่าง  ๆ  คนที่
สามารถทำอย่างนี่ได้  โลกก็ยอมรับว่าเป็นผู้มีความสามารถ  นั่นก็คือศิลปิน  การแสดง
ผลงานทางด้านศิลปะของศิลปิน  ทั้งระดับนานาชาติ  ระดับชาติ  ระดับภูมิภาค  หรือศิลปิน
รุ่นใหม่  คงต้องฝากความหวังไว้กับสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  ซึ่งรับผิดชอบดูแลหอศิลปวัฒนธรรมภาคใต้โดยตรง  ซึ่งได้ให้โอกาสแก่ศิลปิน
ในการนำเสนอและแสดงผลงาน  อันจะทำให้เกิดความรัก  หวงแหนวัฒนธรรม  การ
ถ่ายทอดโดยภาพเขียนทางด้านศิลปะ”  ฯพณฯ  นายชวน  หลีกภัย  อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการกล่าว

                                         *******************************************


โดย : * [ วันที่ ]