นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศึกษาและฟื้นฟูการทอผ้าลีมา
หรือผ้าจวนตานี เปิดประวัติศาสตร์แห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น พบศิลปะบนผืนผ้าลีมาเป็นทั้งศาสตร์
และลีลาแห่งศิลป์ของช่างทอผ้าที่สะท้อนทัศนคติ ความเชื่อของบรรพชนจนกลายเป็นมรดก
อันล้ำค่าทางวัฒนธรรม
ผศ. จุรีรัตน์ บัวแก้ว หัวหน้าโครงการวิจัยผ้ากับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ของประเทศไทย กล่าวถึงความเป็นมาของการศึกษาวิจัยดังกล่าวว่าพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างจีนและอินเดีย
ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีสินค้าที่เป็นที่ต้องการของพ่อค้าต่างชาติ การแลกเปลี่ยน
ทางการค้านำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการใช้ผ้าเกิดขึ้นเมื่อ
ชาวอินเดียเข้ามาติดต่อค้าขายในภูมิภาคนี้ ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวจะแตกต่างจากภาคอื่น ๆ
นับตั้งแต่การใช้ผ้าในการแต่งกาย ประกอบพิธีทางศาสนา และประเพณีวัฒนธรรม จึงมีผ้า
หลายชนิดในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าจวนตานี ผ้ายกตานี ผ้ากะป๊ะห์ ฯลฯ เดิมชาวบ้านเมืองมี
การทอผ้าโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นผ้าเนื้อหยาบ จนได้รับการถ่ายทอดเทคนิคการ
ทอผ้าชั้นสูงจากชาวอินเดียที่เข้ามาอาศัยในภาคใต้ตอนล่าง ผสมผสานกับความรู้เดิม ประกอบ
กับมีการติดต่อกับประเทศจีน จึงได้นำเข้าเส้นใยจากประเทศจีน ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพ
ดีที่สุดในโลก ทำให้ผ้าที่ผลิตขึ้นใช้ในเวลาต่อมามีความสวยงามและมีคุณค่า แต่นับวันจะ
สูญหายไปจากภาคใต้ เนื่องจากอิทธิพลตะวันตกสินค้าประเภทเสื้อผ้าถูกนำมาขายในราคา
ที่ถูกกว่าผ้าทอพื้นเมือง ประกอบกับเส้นใยไหมต้องสั่งเข้ามาจากประเทศจีน ทำให้ผ้า
พื้นเมืองเช่นผ้าจวนตานีมีราคาต้นทุนสูง
อดีตผ้าจวนตานีที่ทอด้วยไหมมีความงดงาม ทำให้มีผู้ใช้กันมากแต่มีราคาแพง
เพราะต้นทุนสูง เนื่องจากต้องสั่งซื้อเส้นไหมจากประเทศจีน เมื่ออิทธิพลตะวันตกเข้ามา
เผยแพร่ในไทย เสื้อผ้าราคาถูกเข้ามาแทนที่ทำให้อุตสาหกรรมพื้นบ้านลดความสำคัญลง
ประกอบกับผ้าจวนตานีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทอด้วยไหม มีล่องจวน
(แนวหรือร่องที่ปรากฏบนตัวผ้าและเชิงผ้า) ปรากฏอยู่ระหว่างตัวผ้าและเชิงผ้า บริเวณเชิงผ้า
ส่วนใหญ่ใช้ย้อมสีแดง แต่ละผืนมีลวดลายตั้งแต่ 5 9 ลาย สีสันของตัวผ้าจะติดกับเชิงผ้า
สีที่ใช้เป็นสีธรรมชาติได้แก่สีแดง เขียว ม่วง น้ำตาล ดำ และชมพู นอกจากนี้ยังใช้เชือก
กล้วยตานีเท่านั้นในการมัดย้อม จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการผลิตค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน
โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยไม่สามารถสั่งนำเข้าเส้นใยจากต่างประเทศได้
ยิ่งส่งผลให้ผ้าจวนตานีเสื่อมความนิยมลงและค่อย ๆ สูญหายไปในที่สุด ดังนั้นจึงได้มีการ
ศึกษาและฟื้นฟูการทอผ้าจวนตานีหรือผ้าลีมาตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ โดยศึกษาความเป็นมาของผ้าแต่ละชนิดที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในวิถีชีวิต
ของชาวไทยมุสลิมห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต ศึกษารูปแบบ ลวดลาย และสีสันที่
ปรากฏบนผ้า ศึกษาเทคนิคการทอผ้าชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะผ้าไหมลีมาหรือผ้าจวนตานี
โดยเน้นเรื่องลวดลายและสีสันบนผืนผ้าที่สะท้อนให้เห็นสุนทรียภาพและขนบธรรมเนียม
ประเพณีท้องถิ่น จากนั้นจึงดำเนินการถอดแบบลวดลายของผ้าไหมลีมาแก่วิทยากรต้นแบบ
เพื่อการถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป โดยตั้งสมมุติฐานว่าลวดลายและสุนทรียภาพที่
ปรากฏบนผืนผ้าเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางด้านจิตใจ ความละเอียดอ่อนของ
ผู้ผลิต ผสมผสานกับค่านิยมและความเชื่อของบรรพชนในอดีต
ผศ. จุรีรัตน์ บัวแก้ว กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยว่าผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของ
ไทยมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายชนิดที่สำคัญคือ ผ้าพื้น ผ้ายกตานี ผ้าปลางิน
ผ้ายาวา ผ้าบือแร ผ้าสะมารินดา และผ้าไหมลีมาชนิดไหมต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับผ้าไหม
ลีมาหรือผ้าจวนตานีนั้นเป็นผ้าที่เคยทอในเมืองปัตตานีคือ จังหวัดยะลา นราธิวาส และ
ปัตตานีในปัจจุบัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสวยงามที่สุดกล่าวคือ เป็นผ้าไหมมัดหมี่โบราณ
ประเภทผ้าปูม ได้รับอิทธิพลจากผ้าปโตลา (patola) ของอินเดียทั้งในด้านรูปแบบ
ลวดลาย และสีสัน โดยผ่านทางชวา บาหลี และเขมร ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 18
สำหรับในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้สันนิษฐานว่าอาจรับเทคนิคการทอผ้าลีมาจากอินเดีย
ชวา บาหลี และเขมร มาผสมผสานกับเทคนิคการทอผ้าของท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม
ลักษณะเด่นของผ้าไหมลีมาคือ เป็นผ้ายาวหรือผ้าปล่อย คล้ายผ้าขาวม้า กว้าง
80 85 เซนติเมตร และยาว 210 220 เซนติเมตร องค์ประกอบของผ้าลีมาได้แก่ เชิงผ้า
ล่องจวน และตัวผ้า วัสดุที่ใช้ในการทอได้แก่ เส้นใยไหมที่มีคุณภาพดี นอกจากนี้ยังพบว่า
มีการใช้เส้นใยฝ้ายแกมไหมในการทอบ้างแต่ไม่มาก สีของผ้าลีมาส่วนใหญ่มีสีของตัวผ้า
เป็นสีเขียว ม่วง น้ำตาลแกมแดง และแดงอิฐ จุดเด่นของผืนผ้าอยู่ที่เชิงของผ้ามักมีสีแดง
เท่าที่พบในขณะนี้ผ้าลีมาทุกผืนมีเชิงสีแดงทั้งหมด แต่พบไม่กี่ผืนที่มีเชิงสีน้ำตาลแกมแดง
สีของผ้าลีมาเหมือนกับสีของผ้าปโตลาและยังมี 5 สีเหมือนผ้าปโตลาด้วย เทคนิค
การผลิตจะใช้เทคนิคการทอมัดหมี่ซึ่งเป็นเทคนิคการทอที่ยากที่สุด มีการผูกมัดเส้นไหม
แล้วนำไปย้อมสี เพื่อทำให้เกิดลวดลายหลากสี ขึ้นอยู่กับเทคนิคและจำนวนครั้งในการ
มัดย้อมเส้นไหม โดยมีลวดลายหลายรูปแบบตามประเภทต่าง ๆ อาทิ กลุ่มลีมาปาลีกัต
หรือลายตาหมากรุก มีจุดเด่นของผ้าอยู่ที่ลวดลายมัดหมี่ตรงเชิงผ้า กลุ่มลีมาบินตังหรือลีมา
ลายดาวกระจาย ตัวผ้ามีลายคล้ายดวงดาวกระจายอยู่ทั่วทั้งผืนผ้า คล้ายดอกประจำยาม
และคล้ายดอกไม้ ลายผ้ามนกลุ่มนี้มีทั้งลายที่เกิดจากกรรมวิธีมัดหมี่ กลุ่มลีมาปูก๊ะ ลายตาข่าย
หรือลายก้านแย่งจะพบมากกว่าลายอื่น ๆ ลักษณะลายมีขนาดใหญ่ รูปทรงป้อมอ้วน
โดยเฉพาะผ้าไหมลีมาสีน้ำตาลเข้มส่วนใหญ่ทอในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ใช้เทคนิค
มัดหมี่จากการทอยก ลวดลายมีความสวยงามเนื่องจากมีขนาดเล็ก ไม่เป็นลายต่อเนื่อง กลุ่มลีมา
อายะหรืออายัตหรือลายตัวอักษรอาหรับ กลุ่มนี้พบน้อยที่สุด ผืนผ้าเป็นตัวอักษรอาหรับทั้งผืน
มักใช้เป็นผ้าสำหรับคลุมศพผู้ตาย กลุ่มลีมาจูวา ลายจวนตานีหรือลีมาล่องจวน กลุ่มนี้มี
ลักษณะเด่นอยู่ที่รูปแบบของลายคือใช้ล่องจวนทำเป็นลายในตัวผ้า โดยการจัดวางเป็นแถว
ตามขวางและยาวของผ้า
การใช้สอยผ้าลีมา เป็นผ้าของชนชั้นปกครองและผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจสูง สวมใส่
เป็นเครื่องนุ่งห่ม เป็นผ้าที่ทอจากเส้นใยคุณภาพดีจึงมีราคาสูง ใช้ในงานพิธีการสำคัญ ๆ
เท่านั้น กษัตริย์นิยมมอบผ้าลีมาเป็นเครื่องราชบรรณาการ เป็นของพระราชทานแก่ขุนนาง
และข้าราชการ ให้เป็นของกำนัลเป็นของขวัญในงานแต่งงาน ในการแต่งกายของหญิงใช้เป็น
ผ้าสไบพาดไหล่ คลุมไหล่ คลุมศีรษะและกระโจมอก สำหรับชายใช้เป็นผ้าสำหรับนุ่งแบบ
ปูฌอปอตอง หรือเป็นผ้าสะลินดังนุ่งปิดทับกางเกงขายาว นอกจากนี้ยังใช้ผ้าลีมาเป็น
ผ้าคลุมศพ
ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาวิจัยเรื่องผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานี ทำให้ทราบถึง
ประวัติการใช้เครื่องนุ่งห่มในวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจบทบาท
ของผ้าในวิถีชีวิตที่สอดแทรกอยู่ในประเพณีความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยัง
สามารถนำความรู้ในเรื่องการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมสอนแก่วิทยากรต้นแบบ ส่งผลให้มี
การรื้อฟื้นการทอผ้าไหมลีมาอย่างดั้งเดิมที่เคยสูญหายไปให้กลับมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นความสำเร็จที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติและท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่างในการ
สืบสานงานหัตถศิลป์พื้นถิ่นที่ควรอนุรักษ์และเผยแพร่ออกสู่สายตาสาธารณชน ดังพระราชเสาวนีย์
ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงาน
วิจัยดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 ว่า ผ้าลีมาสวยงามมาก สมควรที่จะค้นคว้าทดลอง
ต่อไป
กล่าวได้ว่างานวิจัยเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์และเผยแพร่ผ้าไหมลีมา
ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เปรียบเสมือนหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น
ของมวลชนในภาคใต้ตอนล่าง ได้เปิดเผยตนเองให้เห็นคุณค่าแห่งความงดงามบนผืนผ้าที่
สะท้อนทัศนคติและความเชื่อของบรรพชนในอดีต จนกลายเป็นมรดกอันล้ำค่าทางวัฒนธรรม
ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในท้องถิ่นสืบไป ผศ. จุรีรัตน์ บัวแก้ว กล่าว
******************************************
|