มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระดมนักวิชาการ หอการค้าจังหวัด
สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์ครู ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ร่วมกันเสวนาเพื่อหาแนวทางสำหรับ
การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอโดยประมวลข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมเสวนา
นำเสนอภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงาน
อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผศ. ดร. วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และประธานการเสวนาเพื่อหาแนวทางสำหรับการแก้ปัญหา 3 จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่าเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด
ชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสังคมในพื้นที่ทุกระดับ เกิดความ
สับสนและความหวาดระแวงในสังคมอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่จึงได้เชิญประชาคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ระดมแนวคิดเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ โดยมีนักวิชาการ หอการค้า
จังหวัด สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์ครู ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้สนใจ รวมประมาณ
50 คนร่วมเสวนา สำหรับประเด็นที่ได้มีการเสวนาได้แก่ สถานการณ์ทั่วไปในพื้นที่ ผลกระทบ
ต่อเหตุการณ์ และแนวทางการแก้ปัญหา ทั้ง 3 หัวข้อที่นำเสนอในการเสวนาครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ
จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลและแนวทางการแก้ปัญหาจากประชาคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาในการแก้ปัญหาต่อไป
ผศ. ดร. วรวิทย์ บารู ได้เปิดเผยข้อสรุปจากการเสวนาในเบื้องต้นว่า สภาพปัญหา
จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน เกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นประจำ ซับซ้อน และ
ละเอียดอ่อน เป็นปัญหาที่มาจากพฤติกรรมของบุคคลที่ชอบใช้ความรุนแรงและอาศัยพื้นที่ดังกล่าว
เป็นเวทีประลอง เหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแยกให้ออก
เป็นกรณี ๆ ไป อย่าเหมารวมเป็นอันขาดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะปัญหา
ในพื้นที่เป็นปัญหาที่ถูกปล่อยปละมานานและมีการแก้ปัญหาอย่างไม่ตรงจุดมาตลอด จนส่งผล
ให้เกิดความแตกแยกของคนในพื้นที่ ผู้ร่วมเสวนาได้มองแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่ตรงกันว่า
ภาครัฐควรมองจังหวัดชายแดนอย่างถูกต้อง ตรงจุด ยุทธวิธีการแก้ปัญหาไม่ควรแก้ปัญหาแบบ
ไฟไหม้ฟางเช่นที่ทำกันแบบปัจจุบัน ควรใช้สติมากกว่าความรู้สึกในการแก้ปัญหา แก้ปัญหาด้วย
ความจริงใจและจริงจัง ไม่ใช่มีปัญหาครั้งหนึ่งก็แก้กันที นอกจากนี้ภาครัฐควรมองถึงคุณภาพชีวิต
ของประชาชนด้วย ที่ผ่านมามักจะไปให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการใช้ความรุนแรงหรือความ
ไม่สงบเพียงด้านเดียว โดยละเลยการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน เมื่อภาครัฐมองจังหวัด
ชายแดนอย่างถูกต้อง ตรงจุด เชื่อว่าจะเป็นคำตอบของการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ได้
อย่างถูกต้องและยั่งยืน
*******************************************
|