รายละเอียด :
|
กองแผนงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจภาวการณ์ได้งานทำของบัณฑิตระดับ
ปริญญาตรีที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีการศึกษา 2545 จำนวน
2,589 คน พบว่าบัณฑิตปริญญาตรีได้งานทำร้อยละ 71.0 หรือ 1,837 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7
เป็นปีที่ 4 บัณฑิตศึกษาต่อร้อยละ 13.4 ส่วนร้อยละ 15.6 ยังไม่ทำงานเนื่องจากกำลังรอ
คำตอบจากหน่วยงาน ยังไม่ประสงค์จะทำงาน และยังหางานทำไม่ได้
รายงานข่าวจากกองแผนงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แจ้งว่าคณะที่บัณฑิตได้
งานทำมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ คณะพยาบาลศาสตร์ ร้อยละ 93.7 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
วิทยาเขตตรัง ร้อยละ 87.9 คณะอุตสาหกรรมเกษตร ร้อยละ 78.6 คณะอุตสาหกรรมบริการ
ร้อยละ 75.4 และคณะศึกษาศาสตร์ ร้อยละ 72.1 และเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา คณะที่
บัณฑิตมีอัตราการได้งานทำเพิ่มขึ้นได้แก่ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาเขตตรัง เพิ่มร้อยละ
15.9 วิทยาลัยอิสลามศึกษา เพิ่มร้อยละ 9.2 อุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มร้อยละ 7.6 วิศวกรรม
ศาสตร์ เพิ่มร้อยละ 7.5 วิทยาการจัดการ เพิ่มร้อยละ 6.1 และวิทยาศาสตร์ เพิ่มร้อยละ 2.3
บัณฑิตส่วนใหญ่ร้อยละ 63.5 ทำงานเป็นพนักงานและลูกจ้างเอกชน โดยคณะอุตสาหกรรม
เกษตรเป็นคณะที่บัณฑิตทั้งหมดทำงานในบริษัทเอกชน รองลงมาคือรับราชการ ลูกจ้าง พนักงาน
ของรัฐ ร้อยละ 28.3 บัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่บัณฑิตได้งานทำเนื่องจากมีข้อ
ผูกพันกับราชการ ได้เงินเดือนสูงสุดเฉลี่ย 16,625 บาท รองลงมาคือคณะวิศวกรรมศาสตร์
ได้เงินเดือนเฉลี่ย 14,072 บาท ในขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของบัณฑิตทั้งหมดคือ 10,259 บาท
บัณฑิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2546 และได้งานทำแล้ว
เป็นผู้มีภูมิลำเนาของบิดาอยู่ในภาคใต้ จำนวน 1,524 คน หรือร้อยละ 83.0 แต่ทำงานใน
ภาคใต้จำนวน 1,018 คน หรือเพียงร้อยละ 66.8 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา บัณฑิต
ทำงานในภาคใต้ลดลงร้อยละ 3.5 และเข้าทำงานในกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นเพิ่มขึ้นร้อยละ
3.0 และ 0.5 ตามลำดับ
ส่วนมหาบัณฑิตหรือผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีได้งานทำร้อยละ 96.5
ในจำนวนดังกล่าวทำงานในส่วนราชการร้อยละ 73.3 พนักงาน ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 14.7
กองแผนงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังได้แจ้งอีกว่าจากการสำรวจพบว่าบัณฑิต
ส่วนใหญ่ได้นำความรู้ที่ได้รับจากสถานศึกษาไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยคณะที่สามารถนำ
ความรู้ไปประยุกต์ใช้มากที่สุดคือ คณะแพทยศาสตร์ รองลงมาคือคณะพยาบาลศาสตร์ คณะ
ทันตแพทยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ ตามลำดับ บัณฑิตส่วนใหญ่ร้อยละ 67.8 ได้รับการ
ฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติมจากหน่วยงานหลังการสำเร็จการศึกษาแล้ว
**************************************
|