: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 7 ฉบับที่ 02 ประจำเดือน 02 2547
หัวข้อข่าว : นิทานชาดก : วัฒนธรรมสอนคุณธรรม
รายละเอียด :
         นิทานชาดกเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้า  เมื่อครั้งที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์  ทรงเสวย
พระชาติต่าง  ๆ  เป็นมนุษย์บ้าง  อมนุษย์บ้าง  เทวดาบ้าง  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ใด  
จะทรงยกชาดกซึ่งเป็นนิทานอิงธรรมมาเล่าเป็นบุคลาธิษฐาน  คือเป็นวิธีการสอนแบบยกเอาเรื่องราว
นิทานมาประกอบ  เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย  แทนที่จะสอนธรรมะกันตรง  ๆ  นิทานชาดกเรื่องที่จะ
ยกมาเป็นตัวอย่างนี้  เป็นพระธรรมเทศนาของพระเผด็จ  ทตตชีโว  รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย  
เป็นนิทานชาดกที่แสดงถึงความฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์  เรื่องอารามทูสกชาดก  ซึ่งมีเนื้อหา
ชาดกดังนี้
         ในอดีตกาล  เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชย์สมบัติกรุงพาราณสี  มีนายอุทยานคนหนึ่ง  
เป็นผู้ดูแลพระราชอุทยานของพระเจ้าพรหมทัต
         วันหนึ่งมีงานนักขัตฤกษ์ในเมือง  ชาวเมืองทั้งหลายต่างพากันไปเที่ยวเล่นกันอย่างสนุกสนาน  
นายอุทยานอยากออกไปเที่ยวสนุกเช่นคนอื่น  ๆ  บ้าง  แต่ก็เป็นห่วงว่าต้นไม้ในพระราชอุทยาน
ที่เพิ่งปลูกจะขาดน้ำ  เนื่องจากเป็นฤดูแล้ง  ถ้าตนจะออกไปเที่ยวเสียก็จะไม่มีใครรดน้ำต้นไม้
         แต่แล้วนายอุทยานก็นึกถึงฝูงลิงที่อาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน  หวังจะให้ฝูงลิงช่วยรดน้ำต้นไม้
แทนตน  จึงเดินไปหาลิงที่เป็นจ่าฝูงแล้วกล่าวว่า
         “นี่แน่ะ  เพื่อน  เราเคยร่วมทุกร่วมสุขกันมาไม่น้อย  อุทยานนี้เป็นที่อยู่กินของเพื่อน  เพื่อน
คงอยากให้อุทยานแห่งนี้มีความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ตลอดไปใช่ไหม”
         “ใช่ซิท่าน  ถ้าไม่มีอุทยานนี้  พวกฉันคงลำบาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ท่านคอยดูแล
เอาใจใส่  บำรุงรักษาต้นไม้  ให้ออกดอกออกผลตามฤดูกาล  นับว่าท่านมีพระคุณต่อพวกฉันจริง  ๆ”  
ลิงจ่าฝูงตอบ
         “แหม  เราดีใจที่เพื่อนพูดอย่างนี้  แต่นี่แน่ะเพื่อน  สองสามวันนี้ในเมืองมีงานนักขัตฤกษ์  
ฉันอยากจะไปเที่ยวจริง  ๆ  แต่ก็เป็นห่วงว่าจะไม่มีใครรดน้ำต้นไม้ที่เพิ่งปลูกไว้  ไม่ทราบว่าถ้าฉัน
จะฝากเพื่อนช่วยดูแลรดน้ำให้  จะเป็นการรบกวนเกินไปหรือเปล่า”  นายอุทยานถามทันที
         “โธ่...ไม่รบกวนอะไรหรอก  เชิญท่านไปเที่ยวให้สบายใจเถิด  พวกฉันจะเอาใจใส่  ดูแล
รดน้ำให้อย่างดีทีเดียว”  ลิงจ่าฝูงรับปาก
         นายอุทยานจึงนำกระออม  (ภาชนะที่ใช้ตักน้ำ)  จำนวนมากมาวางไว้ให้  แล้วตนเองจึง
ออกไปเที่ยว  เมื่อนายอุทยานไปแล้ว  พวกลิงทั้งหลายจึงฉวยกระออมเตรียมตักน้ำจะรดต้นไม้
         ขณะนั้นเองลิงจ่าฝูงเกิดความคิดขึ้นมาอย่างหนึ่ง  จึงรีบกล่าวแก่บริวารว่า
         “เดี๋ยว  หยุดก่อน  หยุด  หยุด  อย่าเพิ่งรีบตัก  ทำอย่างนั้นมันเปลืองน้ำ  เราควรถอนต้นไม้
มาดูรากเสียก่อนว่า  รากยาวหรือรากสั้น  ถ้ารากยาว  เราก็รดมากหน่อย  ถ้ารากสั้น  เราก็รดน้อยหน่อย  
อย่างนี้จะได้ไม่เปลืองน้ำ  เพราะน้ำหายากอยู่  หมู่นี้ฝนยิ่งไม่ค่อยตกอยู่ด้วย”
         ลิงบริวารทั้งหลายต่างเห็นดีเห็นงามตามจ่าฝูง  จึงช่วยกันถอนต้นไม้มาดูรากแล้วจึงรดน้ำ
         ขณะนั้นบัณฑิตผู้หนึ่งเดินผ่านมา  เห็นพวกลิงถอนต้นไม้ขึ้นมารดน้ำ  จึงสอบถามลิง  เมื่อ
ทราบเรื่องแล้วก็ได้แต่รำพึงว่า
         “โธ่เอ๋ย  เจ้าลิงโง่  คิดจะทำประโยชน์  แต่กลับทำเสียหาย”
         จากนั้นจึงได้กล่าวเป็นวาทะว่า
         “การประพฤติประโยชน์  โดยผู้ไม่ฉลาดในประโยชน์  มิอาจนำความสุขมาให้เลย  ผู้มี
ปัญญาทราม  ย่อมทำประโยชน์ให้เสียเหมือนลิงที่ทำสวนฉันนั้น”
         ข้อคิดจากชาดก
         1.  ผู้ที่ไม่ฉลาดในประโยชน์  แม้คิดว่าจะทำประโยชน์  ก็มักจะเป็นการทำให้เสียประโยชน์
แทน  คนเช่นนี้มักไม่คิดถึงผลได้ผลเสีย  มักจะเสนอโครงการอะไรต่ออะไร  ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปแล้ว
แทนที่จะเกิดผลดีกลับเป็นผลเสียเช่น  เสนอให้คนพกอาวุธได้  โดยอ้างว่าเพื่อไว้ใช้ป้องกันตัว  
แต่เมื่อคนเราต่างมีอาวุธไว้ในครอบครอง  ก็มักฮึกเหิมใช้อาวุธทำร้ายกันเอง  ตัดสินกันด้วย
อารมณ์และอาวุธ  แทนที่จะใช้ปัญญาระงับปัญหา  หรือการเสนอให้ตั้งสถานเริงรมย์ครบวงจร  
แหล่งอบายมุข  เพื่อดึงดูดเงินตราเข้าประเทศ  ข้อเสนอนี้ดูเผิน  ๆ  แล้วอาจเห็นว่าดี  เพราะจะได้
เงินตราจากต่างประเทศ  แต่ถ้ามองให้ฝึก  ๆ  แล้วกลับเป็นการทำให้คนเกียจคร้าน  เป็นแหล่ง
เพาะนักเลงการพนัน  นักเลงสุรา  นักเลงผู้หญิง  ฯลฯ  ประเทศชาติก็เหมือนตกอยู่ในความมืดมน
         2.  ผู้ใดที่มีลูกน้องที่ไม่ฉลาด  หากจะมอบหมายงานให้ทำ  ควรกำหนดตารางงานให้  
อย่าปล่อยให้ตัดสินใจวางแผนเอง  เพราะหากเกิดผิดพลาด  กลายเป็นผลเสียหาย  ยากแก่การ
แก้ไข
         3.  ผู้นำที่ฉลาดแต่มีลูกน้องโง่แสดงว่า  มีอดีตชาติแม้ตนจะไม่ดื่มสุรา  ไม่เสพยาเสพติด  
แต่ก็มีส่วนสนับสนุนผู้อื่นบ้าง  ฉะนั้นผู้นำที่ดีจึงควรฝึกลูกน้องให้มีสติอยู่เสมอ  ไม่ตกเป็นทาส
ของสิ่งมึนเมาและอบายมุขทั้งปวง  จะได้เกิดเป็นคนฉลาด
         การอบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาในสมัยโบราณท่านมีกุศโลบาย  วิธีการในการ
อบรมสั่งสอนลูกหลานด้วยภูมิปัญญาที่ชาญฉลาด  เพราะนอกจากการอบรมสั่งสอนกันโดยตรงแล้ว  
ท่านยังมีวิธีการอบรมสั่งสอนโดยทางอ้อม  ประกอบการบันเทิงนันทนาการของกุลบุตรกุลธิดา
เหล่านั้นด้วยการเล่านิทานชาดก  นิทานพื้นบ้าน  การยกสุภาษิตอุปมาอุปมัยเปรียบเทียบกับพฤติกรรม
ของมนุษย์บ้าง  สัตว์บ้าง  หรือใช้สิ่งแวดล้อมอื่น  ๆ  รอบตัว  ใช้เป็นแนวทางในการกำหราบ
พฤติกรรมที่ไม่ดีเอาไว้  ล้วนเป็นวัฒนธรรมการสอนคุณธรรมด้วยนิทานทั้งสิ้น  กุลบุตรกุลธิดา
เหล่านั้นก็จะสนุกสนานไปกับนิทาน  ชอบฟัง  ปรารถนาจะฟัง  ทำให้คุณธรรมความดีที่
อบรมสั่งสอนได้แทรกซึมเข้าสู่จิตใจ  จึงทำให้ไม่ก่อพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่อสังคมในสมัยนั้น
         ในยุคโลกภิวัตน์นี้  ผู้คน  สังคม  มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากมาย  แต่ครอบครัว  พ่อแม่  
ปู่ย่าตายายไม่มีเวลามาเล่านิทานชาดกหรือนิทานพื้นบ้านให้บุตรหลานได้ฟัง  มอบภาระการอบรม
สั่งสอนบุตรหลานให้กับโรงเรียนอย่างเดียวและปล่อยบุตรหลานให้หาความบันเทิงสนุกสนานกับ
สื่อโทรทัศน์  เกมคอมพิวเตอร์  วัฒนธรรมการสอนคุณธรรมให้กับเด็กและเยาวชนในยุคนี้ค่อย  ๆ  
หายไปจนเกือบไม่มีเหลือ  หลายต่อหลายครั้งที่เด็กและเยาวชนในยุคนี้ได้สร้างปัญหาให้กับสังคม  
ซึ่งหากกลับมาฟื้นฟูวัฒนธรรมการสั่งสอนคุณธรรมด้วยการเล่านิทานเพื่อสร้างคุณธรรมในจิตใจ
แก่เด็กและเยาวชนกันอีกครั้ง  ปัญหาที่เด็กวัยรุ่นยกพวกตีกัน  ตั้งแกงค์โจรกรรมทรัพย์สินหรือ
ปัญหาต่าง  ๆ  ของวัยรุ่น  ก็คงจะลดลงอย่างแน่นอน

                                             *******************************************

โดย : * [ วันที่ ]