นักเรียนชั้น ป. 6 โรงเรียนอนุบาลสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ ในหัวข้อ โครงงาน
ถ่านไร้ควันพลังงานสูง ที่แสดงถึงศักยภาพทางด้านความคิดและทักษะการทดลองวิทยาศาสตร์ของ
เด็กไทย
ปัจจุบันแนวความคิดในเรื่องของการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งเน้นที่ความสนใจของผู้เรียน
เป็นสำคัญนั้น ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์
แนวใหม่ที่ต้องการให้เยาวชนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนรวมกลุ่มกันทำ
โครงงานวิทยาศาสตร์ในหัวข้อที่พวกเขาสนใจ แล้วใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ
พื้นฐานในการหาคำตอบให้กับความสงสัยของตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต
ตั้งสมมุติฐาน กำหนดตัวแปร และทำการทดลองจนกระทั่งได้ผลลัพธ์ที่สามารถตอบคำถามได้
ทั้งนี้คณาจารย์และผู้ปกครองมีบทบาทในการประสิทธิประสาทความรู้ให้นักเรียนแบบครบถ้วน
ผศ. ดร. อุไร ตันสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ฝึกทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ตั้งแต่วัยเด็ก เป็นกระบวนการที่สามารถพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแท้จริง
โครงงานดังกล่าวแสดงถึงศักยภาพทางด้านความคิดและทักษะการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเยาวชน
ไทยในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต
ประจำวัน รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญจึงได้มีการบรรจุโครงงานวิทยาศาสตร์ไว้ในสาระการเรียนรู้
วิชาวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรการเรียนรู้พื้นฐาน ดังนั้นการจัดตั้งชุมนุมวิทยาศาสตร์ขึ้นในโรงเรียนเป็น
กลยุทธ์หนึ่งในการปลูกฝังและพัฒนาทักษะและยังเป็นการปูพื้นฐานความรู้ในการศึกษาต่อระดับสูง
ตลอดจนสามารถนำไปประยุกต์ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
นางสาววิชชุดา จันแสงทอง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ โรงเรียนอนุบาลสาธิต
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าสำหรับการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยีระดับประเทศในระดับชั้นประถมศึกษา ประจำปี 2546 นับเป็นปีที่ 11 ซึ่งสมาคมวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัท เทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนา
กำลังบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์
รวมถึงนวัตกรรมทางปัญญาได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ในปี 2546 มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดรวม 250 โครงงาน
160 โรงเรียน และหนึ่งในโครงงานดังกล่าวคือ โครงงาน ถ่านไร้ควันพลังงานสูง ของนักเรียน
โรงเรียนอนุบาลสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง
ระดับประเทศ ซึ่งเป็นผลงานที่นำวัสดุอุปกรณ์และผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาแปรรูปให้มี
มูลค่าเพิ่มและเกิดประโยชน์ใช้สอย โดยมีผู้จัดทำประกอบด้วยเด็กหญิงรสิกมน ศิยะพงษ์ เด็กหญิงณกุณฑ์
แก้วพิมพ์ และเด็กหญิงณัฐณิชา สุทธิสงค์
ได้คิดหาวิธีการผลิตถ่านจากวัสดุเหลือใช้ อาทิ ซังข้าวโพด เปลือกทุเรียน และกะลามะพร้าว
ขึ้น เพื่อลดปัญหาขยะ อีกทั้งมีส่วนช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาทำถ่านไม้ จากผลการศึกษาพบว่า
ถ่านอัดแท่งกะลามะพร้าวให้พลังงานสูงที่สุด รองลงมาคือถ่านจากเปลือกทุเรียน และถ่านซังข้าวโพด
ส่วนถ่านไม้ที่ขายในท้องตลาดกลับให้พลังงานความร้อนที่น้อยที่สุด ดังนั้นหากพัฒนาถ่านอัดแท่งจากวัสดุ
เหลือใช้มาทดแทนถ่านไม้ ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการตัดไม้ทำลายป่าลงได้ เด็กหญิงรสิกมน
ศิยะพงษ์ หนึ่งในคณะผู้จัดทำโครงงาน ถ่านไร้ควันพลังงานสูง โรงเรียนอนุบาลสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าว
************************************
|