สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใช้วัฒนธรรม
เป็นสื่อสร้างสันติสุขชายแดนใต้ให้มีความรักในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมเยาวชนประดิษฐ์กรงนก
เพื่อการประดับ ตกแต่งอาคารสถานที่เป็นอาชีพ พร้อมขยายตลาดให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
รศ. มนตรี มีเนียม ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าปัญหาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายประการ จะเห็นได้จากเยาวชน
บางส่วนว่างงานและติดยาเสพติด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการศึกษาและปัจจัยทางเศรษฐกิจ
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ในฐานะที่เป็นศูนย์ข้อมูลในการวิจัย อนุรักษ์ และเผยแพร่ศิลป
วัฒนธรรมภาคใต้ตอนล่างและเป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้
มหาวิทยาลัยของรัฐมีส่วนร่วมในการสร้างความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กัลยาณิวัฒนา ตระหนักถึงแนวทางการมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาในพื้นที่ในการส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มเยาวชน
ดังกล่าว โดยการเสริมทักษะความรู้ของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความสามารถในการผลิต
กรงนกอยู่แล้ว แต่ขาดการส่งเสริมให้สินค้าสามารถนำออกขายได้ อีกทั้งปัจจุบันมีโรงงานผลิตกรงโหล
เข้ามาแข่งขันด้านราคาและปริมาณ ทำให้ตลาดกรงนกมีมากเกินไป สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา
จึงจัดโครงการส่งเสริมการประดิษฐ์กรงนกเพื่อการตกแต่งอาคารสถานที่ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความรัก
ในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อขยาย
ตลาดสินค้ากรงนกเพื่อการประดับ ตกแต่ง ให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามโครงการ หนึ่งตำบล
หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่รัฐบาลดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น
โดยการสนับสนุนให้ชุมชนใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ
มีเอกลักษณ์ นำมาเป็นจุดขายของตนเองและจะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
รศ. มนตรี มีเนียม กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการส่งเสริมการประดิษฐ์กรงนกเพื่อการตกแต่ง
สู่การเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เป็นโครงการนำร่องให้เยาวชนใช้วัฒนธรรมเป็นสื่อสร้างสันติสุข
ชายแดนใต้ ปลูกฝังให้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มี
วัฒนธรรมการเลี้ยงนกเขาและนกกรงหัวจุกเป็นไปอย่างแพร่หลาย มีการทำกรงนกเพื่อใช้เลี้ยงกันอยู่โดย
ทั่วไป ประกอบกับมีปราชญ์ชาวบ้านเชี่ยวชาญการทำกรงนก จึงได้มีการประยุกต์รูปแบบของกรงนกเพื่อ
การเลี้ยงมาเป็นกรงนกเพื่อการประดับตกแต่งอาคารสถานที่ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า โดย
มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรรองรับสินค้าที่เยาวชนผลิตผลักดันไปสู่สินค้าระดับประเทศ ขณะนี้สถาบันวัฒนธรรม
ศึกษากัลยาณิวัฒนา ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน ดำเนินกิจกรรมโดยการผลิตครูต้นแบบสร้างกรงนกต้นแบบ
จำนวน 3 แบบ สร้างครูแม่ไก่เพื่อให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนที่ว่างงานในชุมชน เมื่อ
เยาวชนมีความรู้และประดิษฐ์กรงนกได้แล้ว สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา จะเป็นผู้ดำเนินการนำ
เสนอผลงานในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และจัดหาตลาดรองรับสินค้าเพื่อสร้างงานให้กับเยาวชนในพื้นที่ต่อไป
********************************
|