มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชุมอธิการบดี
แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นำระบบการศึกษาเป็นสื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ในระยะยาว เน้นครูผู้สอนและเยาวชน พร้อมจัดกิจกรรมเสริมทักษะหวังเรียกความรู้สึก ความสุข
คืนสู่ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นแกนหลักจัดทำโครงการเพิ่มคุณวุฒิ
อุสตาซที่จบจากต่างประเทศ การอบรมครูตาดีกา การจัดค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อน โดยมหาวิทยาลัยของรัฐ
ทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการสร้างความสงบสุขชายแดนภาคใต้
รศ. บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าการศึกษาเป็น
ปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ในพื้นที่ เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบและรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงโดยตรง ซึ่งการมีส่วนร่วมของ
ทุกภาคส่วนจะเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่
อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาและนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เข้าถึงปัญหาการศึกษา
ในเขตพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันกับ
นโยบายการพัฒนาด้านอื่น ๆ โดยเน้นการนำวิชาทางด้านศาสนา สามัญ และอาชีพ มาบูรณาการอย่าง
ลงตัว ให้สถานศึกษาในพื้นที่ทั้งหมดทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทั้งตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนที่เปิดสอนทางด้านพุทธศาสนา และสถาบันการศึกษา
ของรัฐทุกระดับทุกประเภท
รศ. บุญสม ศิริบำรุงสุข กล่าวเพิ่มเติมว่าจากมติที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีนโยบาย
สร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยใช้การศึกษาเป็นตัวนำไปสู่ความมีโอกาสในสังคม
และการมีอาชีพ เน้นครูสอนศาสนาหรือ อุซตาส และครูโรงเรียนตาดีกา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยของรัฐรวม
24 สถาบัน ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความสงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการเปิดฝึกอบรมเพื่อ
เสริมทักษะด้านวิชาการ วิชาชีพครู และเปิดโลกทัศน์ให้ครูสอนศาสนาหรือ อุซตาส และครูโรงเรียน
ตาดีกา โดยให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็น
หน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการนำเสนอข้อมูลแก่มหาวิทยาลัยของรัฐ จะเห็นว่าในปัจจุบันได้มีหน่วยงาน
จำนวนมากมีส่วนร่วมการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การแก้ปัญหาที่ได้ผลอย่างยั่งยืน วิธีหนึ่งคือ
การส่งเสริมการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้จัดโครงการต่าง ๆ ขึ้น
ได้แก่ โครงการครูสอนศาสนาเข้ารับการอบรมเพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู การอบรมครูโรงเรียนตาดีกา
ผู้บริหารมัสยิด การพัฒนาเยาวชน พัฒนาโรงเรียนต้นแบบ การเปิดหลักสูตรอิสลามศึกษา โครงการผลิตแพทย์
3 จังหวัด ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การอบรมแพทย์ที่จบจากตะวันออกกลาง เพื่อสอบใบประกอบ
วิชาชีพของแพทยสภา เป็นต้น
ผศ. สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวสรุป
แนวทางการใช้การศึกษาเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สถานศึกษาที่เยาวชนในจังหวัดชายแดน
ภาคใต้เข้าเรียนจะมีอยู่ 2 ส่วนคือโรงเรียนสอนศาสนาและโรงเรียนของรัฐและเอกชน ซึ่งผู้ที่จบจาก
โรงเรียนสอนศาสนาบางส่วนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศแล้วกลับมาเป็นอุสตาซหรือครูโรงเรียนตาดีกา
บางส่วนเข้าสู่ตลาดแรงงานซึ่งมักจะมีปัญหาการรับรองคุณวุฒิ ส่วนผู้ที่จบจากโรงเรียนของรัฐและเอกชน
จะมุ่งเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตระหนักถึงความสำคัญของ
ปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 โครงการหลักเป็นอันดับแรก
โดยคณะศึกษาศาสตร์ จัดโครงการเพิ่มคุณวุฒิอุสตาซที่จบจากต่างประเทศ ในรูปแบบการจัด
โครงการประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูและการศึกษาต่อระดับปริญญาโท และโครงการอบรมตาดีกา
โดยเน้นทักษะและเทคโนโลยีการสอนและเปิดโอกาสให้ครูตาดีกาได้สัมผัสกับวัฒนธรรมนอกพื้นที่ เพื่อเป็น
การเปิดโลกทัศน์ นอกจากนี้คณะรัฐศาสตร์รับผิดชอบในโครงการจัดค่ายเยาวชนฤดูร้อน เป็นการสนับสนุน
ให้นักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยจัดค่ายฤดูร้อนหรือศูนย์กิจกรรมภาคฤดูร้อน โดยการนำเยาวชนจาก
จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเข้าร่วมกิจกรรมโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
ทั้งนี้ในการดำเนินการทั้ง 3 โครงการนี้ ควรจะผ่านการคัดเลือกหรือจัดสรรโดยศูนย์อำนวยการบริหาร
จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานเขตการศึกษาแต่ละพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและเกิดการกระจายตัว
ของโครงการ สำหรับโครงการที่นอกเหนือจากที่มหาวิทยาลัยนำเสนอ แต่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้ดำเนินการอยู่แล้วอาทิ การจัดทำ elearning เพื่อแก้ปัญหาครูใหม่ที่ยังไม่ชำนาญการอบรมครูประจำการ
ภาคฤดูร้อน การอบรมครูสาขาขาดแคลน การเพิ่มคุณวุฒิครู การอบรมผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
อิสลาม การพัฒนาเยาวชนเพื่อสันติสุข การพัฒนาเยาวชนด้านกีฬา โรงเรียนต้นแบบ การพัฒนาสื่อ
สอนซ่อมเสริม การพัฒนาสื่อโสตทัศน์ ซึ่งคณะศึกษาศาสตร์รับผิดชอบนั้นให้มีการดำเนินการต่อไป และหากมี
โอกาสก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันที
********************************
|