: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 26 ประจำเดือน 04 2550
หัวข้อข่าว : นักวิชาการด้านสื่อ ม.อ. ปัตตานี เสนอกลยุทธ์สื่อเพื่อสันติ หวังใช้แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
         คณะวิทยาการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยี
สารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ  ในบริบท 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเสนอรูปแบบ
การจัดกระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุข  โดยใช้กลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่การสื่อสารและสื่อ  
การพัฒนาเนื้อหาสาร  และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
         ผศ. อิ่มจิต  เลิศพงษ์สมบัติ  หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
เพื่อสันติสุขของชาติ  และคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า
สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสื่อสารได้ถูกหยิบยกขึ้น
นำเสนอว่าเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้เบาบางลงได้  ทั้งที่เป็นการ
สื่อสารในลักษณะของสื่อมวลชน  สื่อบุคคล  หรือสื่อชุมชนต่าง  ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชน
ซึ่งอยู่ในฐานะที่เป็นแหล่งกระจายข้อมูลข่าวสาร  ความรู้  ความคิดเห็นต่าง  ๆ  และมีอิทธิพลต่อภาคส่วน
อื่น  ๆ  ในสังคม  ทั้งที่เป็นอิทธิพลต่อความรู้สึก  ความคิด  ทัศนคติ  และพฤติกรรม  ในแง่ของการจัดการ
ความขัดแย้ง  สื่อมวลชนจึงถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทสำคัญในการจัดการความขัดแย้งตลอดทั้งกระบวนการ  
ดังนั้นการส่งเสริมหรือพัฒนาบทบาทของสื่อและการสื่อสารให้สามารถทำหน้าที่ในการเป็นส่วนประกอบ
ทางสังคมที่สำคัญ  เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งได้นั้น  จำเป็นต้องมีการศึกษา  วิเคราะห์  และเชื่อมโยง
ปัจจัยทางการสื่อสารต่าง  ๆ  ที่เกี่ยวข้อง  การดำเนินการเช่นนี้จะนำไปสู่การสร้างและนำเสนอแนวทางการ
ดำเนินบทบาทของสื่อและการสื่อสาร  รวมทั้งการสร้างเครื่องมือ  ระบบ  และจัดกระบวนการสื่อสารที่เอื้อ
ให้เกิดสภาพการณ์และบรรยากาศทางสังคมที่เหมาะสม  เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งได้
         คณะวิทยาการสื่อสาร  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้รับการสนับสนุนจาก
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ในการดำเนินงานโครงการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและ
นิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ  ในบริบท  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งเป็นการศึกษาโดยบูรณาการ
องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านนิเทศศาสตร์เข้าด้วยกัน  เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทิศทาง
การบริหารจัดการและการดำเนินบทบาทที่เหมาะสมของสื่อประเภทต่าง  ๆ  อันจะช่วยให้เกิดบรรยากาศ
แห่งการสร้างสังคมสันติสุข  ซึ่งเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีความ
เป็นมนุษย์  ความแตกต่างและความหลากหลายทางวัฒนธรรม   สร้างความรักและความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
ในสังคมและขจัดการแบ่งแยกระหว่างคนกลุ่มต่าง  ๆ  การศึกษาครั้งนี้เน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสื่อมวลชน  สื่อชุมชน  และสื่อใหม่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ
สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  แบบแผนการสื่อสารและความต้องการด้านข่าวสารของ
ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้  การรับรู้ข่าวสารและทัศนคติของผู้รับสารเกี่ยวกับประเด็นสถานการณ์
ความไม่สงบ  ผลกระทบของสื่อต่อผู้รับสาร  และศึกษาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของ
ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
         การศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสื่อและความสัมพันธ์ของปัจจัยเหล่านั้น  นำไปสู่การ
แสวงหาแนวทางสำหรับการแพร่กระจายข่าวสารผ่านสื่อมวลชน  สื่อชุมชน  และการสื่อสารประเภทอื่น  ๆ  
รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารและการสื่อสารในสังคมจังหวัดชายแดน
ภาคใต้ที่เอื้อต่อการสร้างสังคมสันติสุข  การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ยังเป็นแนวทางการพัฒนาระบบด้าน
เทคโนโลยีสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนการสร้างสังคมสันติสุข  ซึ่งนำมาสู่การนำเสนอรูปแบบการจัด
กระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างสังคมสันติสุข  ซึ่งมีพื้นฐานมาจากข้อค้นพบ  4  ประเด็น  ดังนี้
         1.  พื้นที่และวาระการสื่อสารในบริบทสังคมชายแดนภาคใต้  ที่พบว่าประชาชนในจังหวัดชายแดน
ภาคใต้มีการบริโภคข่าวสารทางสื่อโทรทัศน์มากที่สุด  รองลงมาคือการสื่อสารระหว่างบุคคล  ทั้งบุคคล
ในครอบครัว  เพื่อนบ้าน  และเพื่อนร่วมงาน  และตามด้วยสื่อวิทยุ  โดยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์
จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่รับรู้มากที่สุดคือ  ข่าวฆ่ารายวัน  รองลงมาคือข่าวที่เกี่ยวกับ
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ข่าวการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาของเยาวชน  สำหรับเนื้อหาข่าวสาร
ที่ประชาชนใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการได้แก่  ปัญหาต่าง  ๆ  ที่เกิดขึ้นในพื้นที่  จำเป็นต้อง
ได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน  รองลงมาคือทิศทางการพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชน  3  จังหวัดชายแดน
ภาคใต้  และการติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ
         2.  ข้อมูลข่าวสารกับการรับรู้และผลกระทบของการนำเสนอข่าวสถานการณ์ความไม่สงบที่พบว่า  
หนังสือพิมพ์กลุ่มตัวอย่างทุกฉบับเน้นหนักการนำเสนอข่าวความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  
โดยใช้ถ้อยคำและภาษาที่รุนแรง  เกินจริง  บิดเบือน  ปราศจากการวิเคราะห์  ส่งผลให้เกิดผลกระทบ
ด้านภาพลักษณ์ของพื้นที่  สร้างความหวาดระแวง   นอกจากนี้มีการนำเสนอข่าวโดยเลือกให้ความสำคัญ
กับมุมมองของฝ่ายรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการนิยามความหมายหรือสาเหตุของปัญหา  รวมถึง
สถานการณ์โดยทั่วไปของจังหวัดชายแดนภาคใต้
         3.  สื่อชุมชนและสื่อมวลชนกับความเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ  ที่พบว่าโอกาสและความเป็นไปได้
ในการพัฒนาสื่อเพื่อสันติภาพในบริบทของสังคมไทยนั้น  จะต้องเริ่มจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการทบทวน
ออกแบบ    โดยองค์กรสื่อต้องตระหนักถึงเป้าหมายที่มุ่งมั่นเป็นสื่อเพื่อสันติภาพ  ซึ่งต้องมีปัจจัย
เกื้อหนุนทางสังคมทั้งภาควิชาการ  ภาคประชาชน  และภาครัฐ  จะต้องให้ความสำคัญกับกฎหมายซึ่ง
เกื้อหนุนให้เกิดมิติความเท่าเทียมกันในการสื่อสาร  ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชนผู้รับสารเข้ามามี
ส่วนร่วมในกระบวนการสื่อสาร  เพื่อนำไปสู่การเป็นสื่อเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืน
         4.  เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อใหม่กับบทบาทเพื่อสันติภาพ  ที่พบว่าการให้บริการ
อินเตอร์เน็ตตำบลในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ขาดความพร้อมในการให้บริการทั้งในด้านบุคลากร  
ด้านคุณภาพ  ระบบเครือข่ายที่อยู่ในระดับต่ำ  ด้านปริมาณเครื่องคอมพิวเตอร์มีไม่เพียงพอ  ประกอบกับ
ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ในการใช้อินเตอร์เน็ต
         ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมของการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศที่คณะผู้วิจัยได้
พัฒนาคือ  มีการจัดทำเว็บไซต์เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ  เพื่อเป็น
ช่องทางการสื่อสารในการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับแนวทางการ
สร้างสังคมสันติสุข  และการพัฒนาฐานข้อมูลวิจัยจังหวัดชายแดนภาคใต้  รวมทั้งรูปแบบการเข้าถึง
ข้อมูลข่าวสารในชุมชน  5  รูปแบบ
         ผศ. อิ่มจิต  เลิศพงษ์สมบัติ  กล่าวว่าผลการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ
นิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ   ที่นำไปสู่การนำเสนอรูปแบบ  “สาร  สื่อ  สู่สันติ”  มาจากการ
สังเคราะห์ผลการวิจัย  9  โครงการย่อย  ได้แก่  การศึกษาพัฒนาการข่าวสารสถานการณ์ใน  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้  โดยอาจารย์จารียา  อรรถอนุชิต  การศึกษาภาพสะท้อนเหตุการณ์  อุดมการณ์  และ
วาทกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชน โดย
อาจารย์สากีเราะ แยนา การศึกษาผลกระทบของการสื่อสารมวลชน  :  ทัศนคติของประชาชนในสาม
จังหวัดชายแดนใต้ต่อการเสนอข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบ  โดย  ดร. นุวรรณ  ทับเที่ยง  การศึกษา
แบบแผนการสื่อสาร  การเปิดรับสื่อ  และความต้องการข่าวสารของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์
ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยอาจารย์อรุณีวรรณ  บัวเนี่ยว  และอาจารย์จารียา  อรรถอนุชิต  การศึกษา
สื่อเพื่อสันติภาพ  :  จริยธรรม  การจัดการ  และข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา  โดย  ผศ. วลักษณ์กมล  
จ่างกมล  การศึกษาการให้บริการและการใช้อินเตอร์เน็ตตำบลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  :  ปัตตานี  
ยะลา  และนราธิวาส  โดย  ผศ. อิ่มจิต  เลิศพงษ์สมบัติ  การศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการ
จัดการเครือข่ายสารสนเทศของชุมชน  โดยอาจารย์จรุงวิทย์  บุญเพิ่ม การพัฒนาฐานข้อมูลและช่องทาง
การสื่อสารเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสุข โดย ดร. ศริยา  บิลแสละ  การออกแบบระบบป้องกันและเตือนภัย
คุกคามจากอินเตอร์เน็ตแบบร่วมด้วยช่วยกัน  โดย  ผศ. ดร. ศักดิ์ชัย   ปรีชาวีรกุล  และคุณวิภัทร  ศรุติพรหม
         ผลการศึกษาวิจัยทั้ง  9  โครงการย่อยนั้น  นำมาสู่การนำเสนอกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่หนทางปฏิบัติ
ของการสื่อสารเพื่อสันติภาพในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้  ประกอบด้วยกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาพื้นที่การ
สื่อสารและสื่อ  เช่น  ส่งเสริมการสานเสวนาในร้านน้ำชา  พัฒนาทักษะการสื่อสารสันติภาพของผู้นำศาสนา  
พัฒนาหอกระจายข่าวด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน  พัฒนาบทบาทองค์การสื่อสารภาครัฐ
ให้เป็นอิสระและกำหนดนโยบายเชิงรุก จัดตั้งองค์กรสื่อสารหรือศูนย์ข่าวภาคประชาชน การพัฒนา
อินเตอร์เน็ตตำบลให้เป็นพื้นที่การสื่อสารของประชาชนอย่างแท้จริง  เป็นต้น  กลยุทธ์เพื่อการพัฒนา
เนื้อหาสาร  เช่น  การใช้คำที่เหมาะสมในเนื้อหาผ่านสื่อ  การพัฒนาเนื้อหาสารที่เหมาะสมกับกลุ่มต่าง  ๆ  
และการพัฒนาเนื้อหาสารที่ชุมชนต้องการสื่อสารสู่สาธารณะ  กลยุทธ์เพื่อการพัฒนาปัจจัยสนับสนุน  เช่น  
การจัดทำคู่มือการรายงานข่าวความขัดแย้งเพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน  การจัดทำคู่มือ
บริโภคข่าว  ความขัดแย้งเพื่อสร้างแนวทางการรับ  คัดเลือก  กลั่นกรอง  และรู้เท่าทันข่าวสาร  การจัดตั้ง
องค์กรตรวจสอบ  เฝ้าระวังสื่อและข่าวสารความรุนแรง  การพัฒนาองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาสื่อและกฎหมาย
ที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชุมชน
         ผลการวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในทางปฏิบัติในหลายหน่วยงาน  เช่น  
กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้  หน่วยงานรัฐบาลด้านความมั่นคง  หน่วยงานภาครัฐ
ด้านการพัฒนาสังคม  รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และองค์กรเอกชนต่าง  ๆ  ที่ทำงานเกี่ยวข้อง
กับบริบทจังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นต้น

                                                            ******************************

โดย : * [ วันที่ ]