: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 23 ประจำเดือน 03 2550
หัวข้อข่าว : สภา ม.อ. นัดถกวาระพิเศษทบทวนบทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปรับกลยุทธ์การศึกษาให้สอดคล้องกับสังพหุวัฒนธรรมและความต้องการของผู้เรียน และเปิดประตู ม.อ. ให้เป็นศูนย์กลางทางแนวคิดอิสลาม
รายละเอียด :
         สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับบทบาทและแนวทางการพัฒนา
วิทยาเขตปัตตานี   โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผู้ทรงคุณวุฒิอาทิ  ศาสตราจารย์เกษม  
สุวรรณกุล   นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ศาสตราจารย์สุจินต์  จินายน   นายชวน  หลีกภัย  
ร้อยตรีไพโรจน์ รัตตกุล  ศาสตราจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์  ศาสตราจารย์เจตนา  นาควัชระ  ศาสตราจารย์สนิท  
อักษรแก้ว  ผู้แทนจากสำนักงบประมาณและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  รองศาสตราจารย์  
ดร. บุญสม  ศิริบำรุงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  และผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง  ทองผ่อง
รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เข้าร่วม
ประชุมเมื่อวันที่  17  มีนาคม  2550  ณ  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ทั้งนี้ได้มีการนำเสนอประเด็นต่าง  ๆ  อาทิ  บทบาทมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่อการมี
ส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  แนวทาง
ช่วยเหลือวิทยาเขตปัตตานี  และแนวทางการมีส่วนร่วมดูแลพื้นที่โดยองค์การบริหารองค์การนักศึกษา  
วิทยาเขตปัตตานี
           รองศาสตราจารย์ ดร. บุญสม  ศิริบำรุงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  กล่าวว่า
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มีนโยบายวางแผนพัฒนาวิทยาเขตปัตตานีในท่ามกลางวิกฤตสถานการณ์
จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยจะเสริมระบบสาธารณูปโภคเพื่อเน้นความเป็นเมืองมหาวิทยาลัยในวิทยาเขต  
มีการเปิดหลักสูตรที่สนองความต้องการของชุมชน  เพื่อส่งเสริมอาชีพท่ามกลางความหลากหลายทาง
วัฒนธรรม  โดยได้มีการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาไว้  4  ด้านคือ  ด้านการจัดการศึกษา  ด้านความปลอดภัย  
ด้านเศรษฐกิจ  และด้านวัฒนธรรม  และได้นำเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เมื่อวันที่  17  
มีนาคม  2550  เพื่อที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
          อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ที่ได้รับ
ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน  โดยบุคลากรและนักศึกษาในวิทยาเขตปัตตานี  มีความรู้สึก
ไม่มั่นใจในความปลอดภัยและต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น    มีการขอย้ายออกจากพื้นที่ของบุคลากร     และ
นักเรียนจากจังหวัดอื่นไม่กล้ามาศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี   ทำให้อัตราส่วนระหว่างนักศึกษาจังหวัดอื่นกับ
นักศึกษาในพื้นที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย  ๆ  ตลอด  3  ปีที่ผ่านมา  ซึ่งจะต้องมีการสร้างระบบอำนวย
ความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันในวิทยาเขต  เช่น  สร้างระบบเครือข่ายป้องกันความ
ปลอดภัย  สร้างศูนย์กีฬา  ศูนย์การค้า  ที่พักบุคลากรและนักศึกษา  ศูนย์การเรียนรู้  และระบบสาธารณูปโภค
ต่าง  ๆ  พร้อมกับจัดฝึกอบรมและพัฒนาด้านต่าง  ๆ  ฝึกทักษะการนำเสนอผลงานศิลปะให้ชุมชน  และ
กระจายโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลาย  เพื่อดึงนักศึกษาจากหลากหลายพื้นที่เข้าเรียน
หลังจากแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  นี้ผ่านสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
แล้ว  จะได้มีการเจรจาเรื่องแผนการเงินกับสำนักงบประมาณและนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม
คณะรัฐมนตรีต่อไป
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ  กิจถาวร  คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี  ได้นำเสนอบทบาทมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต่อการดำเนินการเพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งได้ชี้ให้เห็นสภาพทั่วไปของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน  โดยเฉพาะ
ระหว่างปี  2545 จนถึงปี  2549  มีเหตุการณ์ในพื้นที่  4  จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นในแต่ละปี  
ความรุนแรงเหล่านี้เกิดขึ้นจากมูลเหตุประเด็นของปัญหา  ซึ่งสังคมไทยมองไม่ตรงกันและอธิบายปัญหา
ที่ต่างกัน  สามารถกำหนดปัญหา  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้มาจากปัญหาเดิมที่ยังดำรงอยู่คือ  มลายู  
อิสลาม  ปัตตานี  หรือปัญหาชาติพันธ์มลายู  และอีกประการหนึ่งเกิดจากพลวัตรของปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป  
มีความเชื่อและการใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง
         สำหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษา
สู่ภาคใต้  ยกระดับมาตรฐานการศึกษาในท้องถิ่น  สนับสนุนการพัฒนาภูมิภาค  โดยเฉพาะการมี
ส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาวโดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน  ปัจจุบันมหาวิทยาลัย
ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานวิชาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์  (ศวชต.)  ได้ดำเนินการ
ตั้งแต่วันที่  1  มิถุนายน  2549  ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้  (วพส.)  
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   วิทยาเขตปัตตานี   และกองทุนสมานฉันท์
แห่งชาติ   ซึ่งมีภารกิจในการจัดทำฐานข้อมูลผู้รับผลกระทบจากความไม่สงบ  วิจัยและพัฒนา  การช่วยเหลือ
เยียวยาหญิงหม้าย  เด็กกำพร้าในระยะยาว  ซึ่งโครงสร้างของศูนย์ประกอบด้วยทีมฐานข้อมูลและทีมภาคสนาม  
การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ (IDSW)  ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม
และภาควิชาการที่พัฒนาจากศูนย์ข่าวอิศราที่มีภารกิจในการจัดข้อมูลเพื่อเฝ้าระวัง  วิเคราะห์สถานการณ์
และเผยแพร่  เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  นอกจากนี้มหาวิทยาลัย
ยังมีการจัดทำวิจัยชุดปัญหา  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  รวม  13  โครงการ  งบประมาณ  14  ล้านบาท  
ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ   โดยมีประเด็นหลักของการศึกษาวิจัยชุดปัญหา  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ  ชาติพันธ์มลายูและการสร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม  นอกจากนั้น
มีการศึกษาโครงการย่อย  อาทิ  ด้านการศึกษาทวิภาษา   การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอน
ศาสนาอิสลาม    สถาบันปอเนาะ     ศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของ  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้  การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม  การย้ายถิ่น  การรับรู้ข่าวสารของประชาชน  การพัฒนาเจ้าหน้าที่รัฐ  
ข้อเสนอนโยบายด้านความมั่นคง  เศรษฐกิจ  สังคม  รูปแบบการบริหารพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้
         นอกจากนี้มหาวิทยาลัยฯ  มีโครงการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและการจัดการความขัดแย้งเชิงสมานฉันท์
ในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ในงบประมาณ  2.4  ล้านบาท  โดยการสนับสนุนของกรมคุ้มครองสิทธิ
และเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม  ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมสิทธิ  เสรีภาพ  และสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการ
จัดการความขัดแย้งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต  วัฒนธรรม  และฐานทรัพยากรของชุมชน
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ  กิจถาวร  กล่าวต่อไปว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องทำการ
ศึกษา  เพื่อความยั่งยืนในการแก้ปัญหาโดยใช้งานวิจัยเป็นฐานคือ  เรื่องของมลายูศึกษาที่สังคมไทย
เข้าใจกันน้อย  การใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาทำงานและใช้ในการเรียนการสอน  การปกครองท้องถิ่นใน
สังคมพหุวัฒนธรรม  ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย–มาเลเซียด้านการศึกษาและเศรษฐกิจ  และการ
พัฒนางานวิจัยเรื่องนโยบายสาธารณะในสังคมพหุวัฒนธรรม
         หลังจากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์วสันต์  อติศัพท์  คณบดีคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ได้นำเสนอบทบาทมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนา
พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ควรมีแนวคิดหลักในการจัดระบบ
การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีรูปแบบที่หลากหลายภายใต้แนวคิดของการจัดการศึกษา
ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยเน้นการบูรณาการกับวิถีชีวิต  อัตลักษณ์  ความหลากหลายทางวัฒนธรรม  
ความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นบนพื้นฐานของศาสนา  วิชาสามัญ  และวิชาชีพ  รูปแบบของการศึกษา  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ประกอบด้วยสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา
ขั้นพื้นฐานและสังกัดกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  (เทศบาล)  รวม  925  โรงเรียน  โรงเรียน
เอกชนสามัญ  รวม  48  โรงเรียน  โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  รวม  215  โรงเรียน  สถาบันการ
ศึกษาปอเนาะ  รวม  325  โรงเรียน  โรงเรียนตาดีกา  รวม  1,602  โรงเรียน  สถานศึกษาในสังกัด
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  รวม  13  โรงเรียน  และสถาบันการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะ
กรรมการการอุดมศึกษา  รวม  7  สถาบัน  รวมทั้งสิ้น  3,135  สถาบัน  ปัญหาทางการศึกษาที่สำคัญคือ
คุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาประเภทต่าง  ๆ  ทั้งที่เกิดจากความเชื่อ  ค่านิยมของประชาชนในท้องถิ่น
ที่มองว่าหลักสูตรยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน  ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่ส่งผลต่อการ
เคลื่อนย้ายครู  และการจัดหาครูที่มีคุณภาพมาปฏิบัติหน้าที่  การขาดแคลนทรัพยากรในการจัดการศึกษา  
รวมถึงการบริหารการศึกษาในสถานศึกษาระดับต่าง  ๆ  ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนใน
ท้องถิ่น  ในความสัมพันธ์ของการศึกษากับการออกไปประกอบอาชีพและการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
ที่ยังขาดความรู้ที่จำเป็น
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์วสันต์  อติศัพท์ กล่าวเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนา
พิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ต้องพัฒนาการศึกษาในเขต
พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ  สังคม  วิถีชีวิตใน
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความต้องการของผู้เรียน  ประชาชน  และส่งเสริมให้การศึกษามี
บทบาทในการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ดังนั้นบทบาทของมหาวิทยาลัยจะต้องสร้าง
ความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่ครูประจำการในท้องถิ่น  เพื่อยกระดับเตรียมความพร้อมให้แก่โรงเรียน  
นักเรียนในท้องถิ่นที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา  ได้แก่  การพัฒนาครูก่อนประจำการ (นักศึกษาครู)
การให้ทุนครูในสาขาที่ขาดแคลนเพื่อกลับมาพัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่น การพัฒนาครูประจำการและ
ผู้บริหารการศึกษา โดยการจัดสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  จัดโครงการหลักสูตร
ประกาศนียบัตรบริหารการศึกษา  สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาที่ยังไม่มีคุณวุฒิทางการบริหารการศึกษา  
จัดโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า  
แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาวิชาชีพครู  ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศตะวันออกกลาง  ประเทศในแอฟริกา
เหนือ  ประเทศอินโดนีเซีย  ได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพครู  เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  
จัดโครงการอบรมเสริมศักยภาพครูผู้สอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนตาดีกาและครูชั้นเด็กเล็กในจังหวัด
ชายแดนภาคใต้  จัดโครงการพัฒนากระบวนการเรียนรู้พุทธศาสนา  โครงการพัฒนาการเรียนรู้
สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อสันติสุข  โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษามลายูถิ่นและภาษาไทยแก่ครูในโรงเรียน  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นต้น
         นอกจากการส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทด้าน
การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบที่เน้นการจัดการศึกษาในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ตอบสนองต่อค่านิยม
และวิถีชีวิตชุมชน ส่งเสริมชีวิตและสุขภาพ  มีความเข้มแข็งทางวิชาการและพัฒนาอาชีพ  โดยมี  2  โรงเรียน
คือ  โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  
บทบาทด้านการพัฒนาสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองแก่นักเรียนและเยาวชน  โดยเน้นครู  นักเรียน  
และชุมชน  มีส่วนร่วมในการพัฒนาบทบาทด้านการพัฒนานักเรียนและเยาวชน  เพื่อพัฒนานักเรียน
และเยาวชนตั้งแต่อายุ  12–18   ปี  ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน  โดยมีเป้าหมายให้มี
ความสำนึกเป็นพลเมือง  มีครอบครัวที่อบอุ่น  ห่างไกลยาเสพติดและพัฒนาความพร้อมทางวิชาการ ซึ่งมี
โครงการที่สำคัญอาทิ โครงการพัฒนาผู้นำเยาวชนเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อพัฒนา
ภาวะผู้นำและโลกทัศน์ให้แก่เยาวชนใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  โครงการการพัฒนานักเรียน
และเยาวชนด้านการกีฬา  ดนตรี  และศิลปะ  เพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โครงการการ
ปรับความรู้พื้นฐานสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย  เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อระดับ
อุดมศึกษา
         และสุดท้ายบทบาทด้านการวิจัยทางการศึกษาในสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย  มีเป้าหมาย
เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ทางการศึกษา  เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตประชาชนใน
จังหวัดชายแดนภาคใต้
         ทั้งนี้ศาสตราจารย์เกษม  สุวรรณกุล  นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้ให้ข้อเสนอแนะ
ต่อคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่า  ปัญหาสถานการณ์  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีสาเหตุ
มาจากความเป็นมลายูท้องถิ่นที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นคนชายขอบ  การไม่ได้รับความเป็นธรรมและขาด
การมีส่วนร่วมในองค์กร   ความร่อยหรอของทรัพยากรที่เกิดจากนายทุนต่างถิ่นและผู้ที่เข้าถึงทรัพยากร
ได้มากคือ  ผู้ที่เข้าถึงรัฐได้มาก  อุดมการณ์และแนวคิดใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
และการที่ไม่มีพื้นที่ทางการเมือง  ทำให้ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้  ดังนั้นมหาวิทยาลัย
ควรดำเนินการโดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากที่สุด  เน้นการหาข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่ระดับ
ครัวเรือน  โดยต้องหาคนในพื้นที่มามีส่วนร่วมในการทำแผนอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเข้าใจ  โดยทำในพื้นที่
ใกล้เคียงก่อนแล้วจึงขยายผลสู่พื้นที่ไกลออกไป
         สำหรับการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาในพื้นที่  ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยที่จะต้อง
มีการทบทวนปรับกลยุทธ์      มหาวิทยาลัยต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสร้างมาตรฐานการศึกษาตั้งแต่
ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  โดยมหาวิทยาลัยต้องสร้างความเชื่อมโยงด้านการศึกษากับโรงเรียน
เอกชนสอนศาสนาอิสลาม  เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ยอมรับวิชาสายสามัญ  ต้องเข้าใจวัฒนธรรมและ
สร้างฐานความรู้ด้านมลายูศึกษา  โดยเฉพาะมลายูท้องถิ่นภาคใต้  เพราะมีการศึกษาเรื่องนี้น้อยมาก  
ควรหาวิธีการที่จะทำให้คนที่มีพื้นฐานต่างกันได้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น  ควรมีการเรียนการสอนภาษามลายูถิ่น
แก่ทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิมในโรงเรียนจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยอาจใช้ผู้สอนที่จบการศึกษาจาก
ประเทศตะวันออกกลาง  เพื่อเป็นการให้อาชีพคนเหล่านั้นอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยต้องมีการ
ทบทวนลำดับความสำคัญของหลักสูตรที่เปิดสอน เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่และตลาด
แรงงาน
         ศาสตราจารย์เกษม  สุวรรณกุล  กล่าวเพิ่มเติมว่า  มหาวิทยาลัยต้องเป็นสถาบันที่ชี้นำและศึกษา
ปัญหา  รวมทั้งช่วยประคับประคองไม่ให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิม  โดยการสร้างความ
เข้าใจในคำว่า “ สังคมพหุวัฒนธรรม ”  ต่อสังคม  ชี้ให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์   ศาสนา  
วัฒนธรรม  มีอยู่ทั่วไป  ไม่เฉพาะใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น  ดังนั้นการให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ
ที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ความเข้าใจและสามารถสื่อสารซึ่งกันและกันได้  ทั้งภาษา  ศาสนา  วัฒนธรรม  
และลักษณะเฉพาะของพื้นที่  และที่สำคัญอุดมการณ์และแนวคิดใหม่ของอิสลามปัจจุบัน  ซึ่งมีศูนย์กลาง
อยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ดังนั้นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ควรเปิดประตูให้เป็น
ศูนย์กลางทางแนวคิดอิสลามมากกว่ากลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลาง
         รองศาสตราจารย์ ดร. บุญสม  ศิริบำรุงสุข  อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้กล่าวว่า
จากข้อคิดเห็นที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ได้เสนอแนะไว้ มหาวิทยาลัยจะนำไปดำเนินการเพื่อพัฒนา
บทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปและจะให้ความสนใจ โดยเน้นดูแลใน
3 ประเด็นหลักคือ  บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อกรณีปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  ต้อง
ไม่ทำให้เกิดการขยายความขัดแย้งในเชิงชาติพันธุ์และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สังคม  มหาวิทยาลัยจะทำ
หน้าที่ศึกษาวิจัยปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น  จะทำการศึกษานโยบาย
ของรัฐที่ดำเนินการแล้ว  อาจทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนและถ้าเป็นไปได้อาจเสนอแนะบางประเด็นต่อรัฐบาล  
และการทำงานในเชิงกิจกรรมของมหาวิทยาลัย  จะร่วมมือกันทุกคณะทุกวิทยาเขตและเขตการศึกษา
ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

                                                            *****************************

โดย : * [ วันที่ ]