อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอแผนพัฒนาวิทยาเขตปัตตานี ท่ามกลาง
วิกฤตสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นระบบสาธารณูปโภคให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยใน
วิทยาเขต เปิดหลักสูตรที่ตอบสนองชุมชน แก้ปัญหาการว่างงาน พร้อมนำเสนอปัญหาการขาดแคลน
ครูในพื้นที่
รองศาสตราจารย์ ดร. บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กล่าวว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนโยบายวางแผนพัฒนาวิทยาเขตปัตตานีในท่ามกลางวิกฤต
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะเสริมระบบสาธารณูปโภคเพื่อเน้นความเป็นเมือง
มหาวิทยาลัยในวิทยาเขต มีการเปิดหลักสูตรที่สนองความต้องการของชุมชน เพื่อส่งเสริมอาชีพ
ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมีการกำหนดแนวทางแก้ปัญหาไว้ 4 ด้านคือ
ด้านการจัดการศึกษา ด้านความปลอดภัย ด้านเศรษฐกิจ และด้านวัฒนธรรม และเตรียมจะ
นำเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในวันที่ 17 มีนาคม 2550 ณ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อจะนำเสนอสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
แผนพัฒนาดังกล่าวได้กล่าวถึงความขาดแคลนครูในพื้นที่ หลักสูตรการเรียน สถานที่เรียน
ความรู้ความสามารถของผู้สอน ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุให้เกิดการว่างงาน การขาดรายได้ จนเกิดเป็น
ปัญหาสังคมและถูกชักจูงให้เป็นแนวร่วมในการก่อความไม่สงบได้ง่าย ทำให้ผู้ที่รักการศึกษากลับมี
ความรู้ไม่เพียงพอที่จะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องเข้าร่วมแก้ไขโดยผ่านโครงการ
บริการวิชาการของคณะ การอบรมเจ้าของและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ และการพัฒนาส่งเสริมให้
ผู้สอนมีความรู้ทั้งเนื้อหาวิชาและหลักสูตรการสอน นอกจากนั้นยังต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีจิตสำนึก
สาธารณะ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมหลากวัฒนธรรม และให้โอกาสนักศึกษายากจนจากทุก
ภูมิภาคเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะต้องมีการเปิดหลักสูตรที่
ตอบสนองความต้องการของชุมชนพื้นที่และรองรับการได้งานทำของผู้เรียนได้เช่น คณะสหเวช
ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ และหลักสูตรที่สามารถพัฒนาอาชีพและยกระดับ
เศรษฐกิจของชุมชน เช่น คณะวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ และคณะเทคโนโลยี
ทรัพยากรและการอุตสาหกรรม
ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของสังคมและชุมชนเกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งหาก
ไม่รีบแก้ไขจะทำให้เกิดการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ความหวาดระแวงกันมากขึ้น มหาวิทยาลัยต้องมี
การจัดบริการวิชาการที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมการผลิตนักวิชาการและถ่ายทอด
บริการวิชาการในจุดที่เข้าใจสภาพปัญหา เพื่อสนองต่อการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขและ
สร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่
อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่
ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยบุคลากรและนักศึกษาในวิทยาเขตปัตตานี
มีความรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นและต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น มีการขอย้ายออกจาก
พื้นที่ของบุคลากรและ นักเรียนจากจังหวัดอื่นไม่กล้ามาศึกษาที่วิทยาเขตปัตตานี ทำให้อัตราส่วน
ระหว่างนักศึกษาจังหวัดอื่นกับนักศึกษาในพื้นที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งจะต้องมีการสร้างระบบอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันในวิทยาเขต
เช่น สร้างระบบเครือข่ายป้องกันความปลอดภัย สร้างศูนย์กีฬา ศูนย์การค้า ที่พักบุคลากรและ
นักศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ พร้อมกับจัดฝึกอบรมและพัฒนาด้าน
ต่าง ๆ ฝึกทักษะการนำเสนอผลงานศิลปะให้ชุมชน และกระจายโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบ
ที่หลากหลาย เพื่อดึงนักศึกษาจากหลากหลายพื้นที่เข้าเรียน หลังจากแผนพัฒนามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นี้ผ่านสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์แล้ว จะได้มีการเจรจา
เรื่องแผนการเงินกับสำนักงบประมาณและนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม
คณะรัฐมนตรีต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
กล่าวว่าที่ผ่านมาโดยทั่วไปถือว่าพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ
ชุมชนรอบ ๆ ถือว่ามีความสงบและปลอดภัย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550
ทำให้บุคลากรและนักศึกษาเริ่มเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจมากขึ้น กรรมการสภามหาวิทยาลัยและ
ผู้บริหารจึงได้มีการหารือกันเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 เพื่อหาแนวทางในการดูแลมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งส่วนของนักศึกษา บุคลากร และตัววิทยาเขต ในมาตรการ
ระยะเร่งด่วน ระยะสั้น มาตรการเสริม และมาตรการระยะยาว โดยมาตรการเร่งด่วนคือ
การเร่งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบไฟฟ้าสำรอง พัฒนาความเป็นอยู่ภายในให้เหมือนบ้าน และสร้าง
ความสมานฉันท์ในหมู่นักศึกษา และในวันที่ 17 มีนาคม 2550 จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์นัดพิเศษ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อพิจารณาวาระ
ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลวิทยาเขตปัตตานีโดยเฉพาะ
********************************
|