มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและ
เครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ รวบรวม
ข้อมูลข่าวสารท้องถิ่น พัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล รัตนดากุล หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้
ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติ
ธรรมชาติวิทยาและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการ
มาตั้งแต่ปี 2545 เพื่อค้นหาองค์ความรู้ในท้องถิ่น เก็บรวบรวม จัดแสดงตัวอย่างที่มีคุณค่าทางวิชาการ
ให้เป็นระบบ ทั้งตัวอย่างสัตว์และตัวอย่างสมุนไพร นอกจากนี้ยังทำหน้าที่แลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์
ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการทำวิจัย บทบาทการทำงานร่วมกันแบบมีส่วนร่วมทั้งนักวิชาการ นักศึกษา
และชุมชนเครือข่ายภายใต้ทิศทางการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ ทำให้ได้ข้อมูลทางวิชาการนำมาใช้
บูรณาการเพื่อการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แล้วพิพิธภัณฑ์ยังทำหน้าที่
เป็นเวทีการเรียนรู้ของชุมชนสามารถกระจายความรู้ไปสู่ชุมชนผู้สนใจและสถานศึกษาทั้งในและนอก
ระบบ เป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างแหล่งเรียนรู้บนพื้นฐานของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และ
ศาสนา อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตให้กับท้องถิ่น
ภารกิจหลักของพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่นประกอบด้วยงานสนับสนุน
การเรียนการสอน งานดูแลรักษา และเก็บตัวอย่างพืช สัตว์ โดยมีห้องจัดแสดงตัวอย่างสัตว์ ห้องจัด
แสดงสมุนไพร ห้องแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิต และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำประมง ภารกิจทางด้าน
การสร้างเครือข่ายเรียนรู้ อาทิ เรือนเพาะชำเป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้ แหล่งดูนกโดยใช้พื้นที่ป่า
ชายเลนเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย ซึ่งสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องป่า
ชายเลน ระบบนิเวศเรื่องนกชายเลน ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ และเส้นทางศึกษา
ธรรมชาติ งานวิจัยโดยใช้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำวิจัย เช่น โครงการดับบ้านดับเมือง โครงการส่งเสริม
ความสัมพันธ์เครือข่ายป่าพรุ สันทราย ชายเลน เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาการจัดการ
ป่าให้เกิดความยั่งยืน และโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพใน
พื้นที่ลุ่มน้ำสุไหงโก ลก
งานด้านการบริการวิชาการให้ชุมชนโดยเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ มีส่วนร่วมในการจัดทำ
หลักสูตรท้องถิ่นระดับประถมเรื่อง การอนุรักษ์ฟื้นฟูและการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและ
ทรัพยากรชายฝั่ง จัดให้มีโครงการพิพิธภัณฑ์สัญจร จัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์
ทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชนและท้องถิ่น นอกจากนี้จัดโครงการนก ป่าไม้ ชุมชน ลุ่มน้ำ 4 ค่าย
15 พื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากนก น้ำ ป่าชายเลนในพื้นที่เครือข่าย ภารกิจอีกด้านหนึ่งคือ
งานสร้างความมั่นคง ซึ่งได้มีการสร้างเครือข่ายในการดำเนินงาน งานเผยแพร่ งานฐานข้อมูล โดยมี
การจัดทำเว็ปไซต์เพื่อให้บริการการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างสัตว์และภารกิจงานเครือข่ายต้นไม้
และสัตว์กำพร้า
ผู้สนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติวิทยาและเครือข่ายเรียนรู้ท้องถิ่น สามารถติดต่อได้ที่
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัด
ปัตตานี โทร. 0 7331 3928 45 ต่อ 1825 หรือ 081 0922 049 และ 081 4000 641 ภายในวัน
และเวลาราชการ
***************************************
|