รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดตั้งศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือ
ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อมีระบบฐานข้อมูลความสูญเสียที่ถูกต้อง ชัดเจน ระบบการช่วยเหลือและเยียวยาที่เข้มแข็งและ
สร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี กล่าวว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547
เป็นต้นมา มีผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตและพิการส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
ส่งผลให้มีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าเป็นจำนวนมาก องค์กรต่าง ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือ แต่ยังไม่
ครอบคลุมทั่วถึงและต่อเนื่อง ยังไม่เป็นระบบและเข้มแข็งเพียงพอ ดังนั้นศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ
วะสี ประธานกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ จึงได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความ
ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) ขึ้น โดยตั้งอยู่ที่คณะ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่
ทันสมัย มีความถูกต้อง สมบูรณ์ รายงานความก้าวหน้าการติดตามเยียวยาช่วยเหลือผู้สูญเสีย จัดทำรายงาน
วิจัยคุณภาพสูงในทางวิชาการ ตลอดจนระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเรียนรู้ แก้ปัญหา และสร้างความ
ร่วมมือระหว่างองค์กร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ กิจถาวร ผู้กำหนดทิศทางและวางแผนยุทธศาสตร์ศูนย์ประสานงานวิชาการ
ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) เปิดเผยถึง
สาระสำคัญของฐานข้อมูล ศวชต. ว่าเป็นฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ฐานข้อมูล
เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับความเสียหายจาก
เหตุการณ์ และการให้ความช่วยเหลือและเยียวยา โดยคาดหวังว่าจะมีระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน
มีระบบการช่วยเหลือและเยียวยาผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เข้มแข็งครอบคลุมทั่วถึงและสามารถ
ติดตามได้ในระยะยาว มีระบบติดตามและประเมินการช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพและสกัดองค์ความรู้
ในการแก้ปัญหาต่อไป
สถานการณ์ความไม่สงบในรอบ 5 ปี จากฐานข้อมูล ศวชต. ระบุว่าสถานการณ์ความไม่สงบใน
จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงบางส่วนของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2545 2549 มีเหตุการณ์รวมทั้งสิ้น
4,483 ครั้ง เฉลี่ยเกิดเหตุการณ์วันละ 3 ครั้ง โดยพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เกิดเหตุการณ์มากที่สุดจำนวน
1,731 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 38.6 รองลงจังหวัดปัตตานี จำนวน 1,319 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 29.4 จังหวัด
ยะลา จำนวน 1,137 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 25.4 และจังหวัดสงขลา จำนวน 296 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ
6.6 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเดือนที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือเดือนมีนาคม เมษายน เดือนมิถุนายน
และเดือนตุลาคมพฤศจิกายน ช่วงเวลาเกิดเหตุมี 2 ช่วงคือ เวลา 06.00 08.00 น. และเวลา
19.00 น. ถึงเวลา 20.00 น. ในส่วนของผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 5 ปี
มีจำนวนทั้งสิ้น 4,063 คน ผู้บาดเจ็บ จำนวน 1,917 คน คิดเป็นร้อยละ 47.2 เสียชีวิต 1,198 คน
คิดเป็นร้อยละ 29.4 โดยพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์มากที่สุด จำนวน
1,742 คน จังหวัดปัตตานี จำนวน 1,059 คน จังหวัดยะลา จำนวน 1,039 คน และจังหวัดสงขลา
223 คน ทั้งนี้เพศชายจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 86.3
ฐานข้อมูล ศวชต. ยังระบุว่าสำหรับการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์
ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พบว่ามีหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือรวมเป็นเงินกว่า
628 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 9,755 คน โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุดเป็นเงิน 284 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ
4,255 คน รองลงมากองสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเงิน 200 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ
1,204 คน กองทุนสมานฉันท์เป็นเงิน 4 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 801 คน
กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเงิน 31 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความ
ช่วยเหลือ 373 คน เงินช่วยเหลือเยียวยาเกือบ 14 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 351 คน
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นเงินเกือบ 6 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ
319 คน และหน่วยงานอื่น ๆ อีก 120 หน่วยงาน เป็นเงิน 69 ล้านบาท จากจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ
1,699 คน โดยผู้ได้รับความช่วยเหลือที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวน 1,922 คน คิดเป็นร้อยละ 36.6
ผู้ได้รับความช่วยเหลือที่นับถือศาสนาพุทธและอื่น ๆ จำนวน 3,328 คน คิดเป็นร้อยละ 63.4 อย่างไร
ก็ตามผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มีความต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแลลูกหลานกรณี
หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตมากที่สุด รองลงมาต้องการให้ดูแลสุขภาพจิตใจ
*************************************
|