: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 21 ประจำเดือน 04 2549
หัวข้อข่าว : บุคลากร ม.อ. ปัตตานี รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชนในฐานะผู้เยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียชีวิต และบาดเจ็บจากกรณีความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
         คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มอบรางวัลดีเด่น  “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน”  
ประจำปี  2549  ในงานวันสตรีสากล  เพื่อยกย่อง  เชิดชู  และประกาศเกียรติคุณผู้หญิงที่อุทิศตนเอง
เพื่อส่งเสริมปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  โดยในปี  2549  ให้แก่นางโซรยา  จามจุรี  บุคลากร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เมื่อวันที่  10  มีนาคม  2549  ที่สำนักงานคณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  กรุงเทพฯ
          นางโซรยา  จามจุรี  หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล  “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน”  ประจำปี  2549  กล่าวว่า
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล  8  มีนาคม  ประจำปี  2549  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ร่วมกับ
แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง  ได้จัดกิจกรรมการคัดเลือกผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมอบ
รางวัลดีเด่น    “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน”    เพื่อให้สังคมตระหนักถึงสตรีผู้มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน  
แม้ว่าทั้งหญิงและชายที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญอันตรายไม่แตกต่างกัน  แต่ลักษณะงาน
ของผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินงานอยู่นั้น  ท้าทายขอบเขตทางวัฒนธรรม  ประเพณี  ศาสนา  
รวมทั้งยังมีการเลือกปฏิบัติ   ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในด้านสังคม   เศรษฐกิจ  และการเมือง  
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการรณรงค์เผยแพร่ให้สังคมไทยตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงและ
ส่งเสริมสนับสนุนผู้หญิงนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น
         การจัดกิจกรรมมอบรางวัลดีเด่น   “ผู้หญิงปกป้องสิทธิมนุษยชน”  เป็นการมอบรางวัลแก่ผู้หญิง
ที่มีบทบาทและผลงานดีเด่นในการส่งเสริม   ปกป้อง  หรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ซึ่งการดำเนินงาน
ต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากหรือเสี่ยงอันตราย   การทำงานมีคุณค่าต่อการเสริมสร้างความเข้าใจ
สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย     รวมทั้งบทเรียนและประสบการณ์การทำงานดังกล่าวสามารถเป็นกำลังใจและ
เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคคลอื่นในสังคม      โดยในปี   2549   ผู้หญิงที่ได้รับรางวัลผู้หญิงปกป้องสิทธิ
มนุษยชนประกอบด้วย  นางสาวรสนา  โตสิตระกูล  เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย  นางสาวสุภิญญา  
กลางณรงค์  เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ  นางอังคณา  นีละไพจิตร  ภรรยา
นายสมชาย  นีละไพจิตร  นางซี  แซ่ลี  หมอยาสมุนไพรชุมชนบ้านพญาพิภักดิ์  ตำบลยางฮอม  อำเภอขุนตาล
จังหวัดเชียงราย  และนางโซรยา  จามจุรี  ผู้ประสานงานในโครงการเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียชีวิตและ
บาดเจ็บจากกรณีความรุนแรงใน   3   จังหวัดชายแดนภาคใต้  ศูนย์การศึกษาและพัฒนาสันติวิธี  
มหาวิทยาลัยมหิดล
         นางโซรยา  จามจุรี  นักวิชาการศึกษา  สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ระดมนักศึกษาใจอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและทำกิจกรรมเยียวยาครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ร่วมกับมูลนิธิและองค์กรภาคีจากส่วนกลางมาตั้งแต่ปี    2547   และเป็น
ผู้หนึ่งที่พยายามใช้สื่อวิทยุเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทาง
เชื้อชาติ  ศาสนา  ภาษา  และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่  โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม
ในการผลิตรายการวิทยุ
         นางโซรยา  จามจุรี  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า  ประชาชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอย่างปกติสุข  ได้รับความคุ้มครอง
มิให้เกิดการล่วงละเมิดในชีวิต  ทรัพย์สิน  และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  จากเหตุการณ์  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ  เสียชีวิต  สูญหาย  และพิการ  เป็นจำนวนประมาณ  4,000  คน  
มาตั้งแต่ปี  2547  ผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา  ชดเชยจากรัฐในฐานะที่รัฐ
ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนเหล่านี้ไว้ได้  แต่ที่ผ่านมาการเยียวยาโดยภาครัฐมีข้อจำกัดอยู่มาก  
ยังไม่ทั่วถึง  และยังมีลักษณะของการเลือกปฏิบัติ  ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องระดมความช่วยเหลือทาง
มนุษยธรรมจากองค์กรอื่น  ๆ  ของสังคม  เพื่อช่วยกันเยียวยาฟื้นฟูให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์
ความไม่สงบใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ

                                                      **********************************

โดย : * [ วันที่ ]