: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 20 ประจำเดือน 04 2549
หัวข้อข่าว : อาจารย์ ม.อ. ปัตตานี ได้รับพระราชทานรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส
รายละเอียด :
         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี  พระราชทานโล่เกียรติยศแก่เมธีวิจัยอาวุโสด้าน
วัฒนธรรม  สาขาวรรณคดีไทย  ประจำปี 2547–2548  แก่รองศาสตราจารย์  ดร. ดวงมน  จิตร์จำนงค์  
อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  เมื่อวันที่  3  มีนาคม  2549  ณ  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
         ศาสตราจารย์  ดร. ปิยะวัติ  บุญหลง  ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  (สกว.)  
เปิดเผยว่าสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย     ได้ส่งเสริมให้มีทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยเพื่อระดมนักวิจัยระดับ
ที่มีผลงานดีเด่นสูงสุดของประเทศในสาขาต่าง  ๆ  มาช่วยกันสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพสูงให้ประเทศ  โดย
เน้นหนักในการพัฒนาทีมงาน  พัฒนาผลงาน  และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่  เพื่อสร้างศักยภาพเชิงปัญญา
ระยะยาวของชาติ  โดยยกย่องให้ผู้ที่รับทุนเป็น  “เมธีวิจัยอาวุโส  สกว.”  เริ่มให้ทุนตั้งแต่ปี  2538  จนถึง
ปัจจุบันรวม  129  ทุน  เมื่อวันที่  3  มีนาคม  2549  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  ได้จัดพิธีมอบ
รางวัลแก่เมธีวิจัยอาวุโสที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชทานโล่เกียรติยศแก่เมธีวิจัยอาวุโส  สกว. ประจำปี  
2547 – 2548  จำนวน  25  คน  ทั้งนี้  รองศาสตราจารย์  ดร. ดวงมน  จิตร์จำนงค์  อาจารย์ภาควิชา
ภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้รับ
รางวัลเมธีวิจัยอาวุโส  ประจำปี  2547 ด้านวัฒนธรรม  สาขาวรรณคดีไทย
         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา  สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้ได้รับรางวัลว่าปัจจุบัน
นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาสังคมของตนให้เป็นสังคมแห่งความรู้  ซึ่งต้องอาศัยการ
สร้างองค์ความรู้และการพัฒนาคนในด้านต่าง  ๆ การสร้างสังคมที่มีความรู้ทำได้โดยการสร้างเสริมงานวิจัย
เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่  โดยนักคิดและนักวิชาการที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมให้เข้มแข็ง  มีขีดความ
สามารถสูง  และนำประเทศไปสู่ความเจริญอย่างยั่งยืน  การที่  สกว. สนับสนุนกระบวนการสร้างความรู้  
สร้างนักวิจัย  มีการมอบรางวัลให้กับนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ  จึงเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยมีความ
อุตสาหะ  มีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ  เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ
         ศาสตราจารย์  ดร. ปิยะวัติ  บุญหลง  เปิดเผยเพิ่มเติมว่าในรอบ  10  ปีที่ผ่านมา  เมธีวิจัยอาวุโส  
สกว. แต่ละท่านสามารถผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง  สามารถตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติจำนวนมากกว่า  
1,200  เรื่อง และผลงานวิจัยอีกส่วนหนึ่งยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และ
เชิงนโยบาย   อีกทั้งยังบรรลุวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการในด้านการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่  รวมทั้ง
กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถสูงสนใจเป็นนักวิจัยมากขึ้น  จากความสำเร็จที่ผ่านมาจะนำไปสู่การ
เชื่อมโยงงานวิจัยแบบมุ่งเป้า  เพื่อเกิดทิศทางที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในระดับมหภาคหรือระดับชุมชน
ในระยะยาวได้อย่างแท้จริง
         รองศาสตราจารย์  ดร. ดวงมน   จิตร์จำนงค์   ผู้ได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโสด้านวัฒนธรรม    กล่าวว่า
ผลงานวิจัยที่ได้รับพระราชทานรางวัลคือ ผลงานศึกษาโลกทัศน์และพลังทางสุนทรียะในวรรณกรรมไทย  
ช่วง  2520–2547  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง  
ในขณะที่นักคิดทางสังคมซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้สร้างวรรณศิลป์ตระหนักว่าปัญหาและการแก้ปัญหาผูกโยงกับ
ระบบคิดของคนในสังคม  การสร้างสรรค์งานวรรณกรรมก็คือผลผลิตของการศึกษาเรียนรู้ของบุคคล  
ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับความรับรู้ต่อปัญหาของปัจเจกบุคคลและปัญหาที่กระทบต่อสังคมโดยรวม  ซึ่งผลงาน
วิจัยดังกล่าวอาจนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะคือ  กระตุ้นให้เกิดการเพ่งพินิจต่อการสร้างสรรค์ทาง
วรรณศิลป์เชื่อมโยงกับการตรวจสอบระบบคิดของสังคมอย่างจริงจัง  อันอาจจะส่งผลให้มีความตื่นตัว
ทางปัญญาของผู้รับงานและผู้สร้างสรรค์บทประพันธ์  อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวรรณคดีศึกษา  ทั้งใน
การศึกษาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
         การศึกษาวิจัยวรรณกรรมช่วงนี้ในแง่โลกทัศน์คือ  การศึกษาภาพรวมของระบบคิดซึ่งเป็นรากฐาน
ของทัศนะต่อปัญหาและปัจจัยในการแก้ปัญหา  ระบบคิดดังกล่าวไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนมาจากรากใน
วัฒนธรรมไทยหรือสร้างสรรค์ขึ้นใหม่อย่างไร  ย่อมเป็นปฏิกิริยาต่อข้อเท็จจริงในประสบการณ์ของสังคม  
อีกทั้งอาจจะแสดงถึงความหวังหรืออุดมคติที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วย  จึงไม่อาจกล่าวว่าวรรณกรรมเป็น
เครื่องสะท้อนข้อเท็จจริงในสังคมเท่านั้น  เนื่องจากศิลปะวรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต  เป็น
ปฏิกิริยาต่อคุณภาพหรือความเสื่อมในชีวิต  ยิ่งกว่านี้งานที่จัดเป็นศิลปะย่อมต้องอาศัยพลังการสื่อสาร
ที่เหนี่ยวโน้มดึงดูดใจหรือแม้แต่กระตุ้นเร่งเร้าให้คิดและรู้สึกไปพร้อมกัน  การศึกษาเนื้อหาทางความคิด  
เนื้อหาทางอารมณ์  และวิธีการประกอบสร้างงานจึงต้องกระทำควบคู่กันไป โดยพิจารณาแยกเป็นผลงาน
ของบุคคล  กลุ่มพวก หรือเชื่อมโยงกับประเภทงาน  ทั้งนี้กระบวนการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์
ตีความเชิงวิจารณ์และการประเมินคุณค่าในเชิงสุนทรียศาสตร์และเชิงจริยธรรม โดยจัดกลุ่มนักวิจัย
เป็น  4  กลุ่มคือ กวีนิพนธ์  สารคดีเรื่องสั้น นวนิยาย  และบทภาพยนตร์
            สำหรับผลงานวิจัยที่ผ่านมาเริ่มต้นด้วยการศึกษางานแบบฉบับ (Classical Literature) ในระดับ
ปริญญามหาบัณฑิตตั้งแต่ปี  2516  คือวรรณคดีเรื่องทวาทศมาส  อันเป็นวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น  
ขณะที่ปฏิบัติหน้าที่การสอนได้เน้นความสำคัญของการวิเคราะห์วิจารณ์  อันเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง
องค์ความรู้และจัดกระบวนการเรียนรู้แก่นักศึกษา  จึงได้อาศัยการแสวงหาความรู้ในเชิงวิจัยตรวจสอบ
องค์ความรู้และทัศนะต่อผลงานสร้างสรรค์ทางวรรณคดี    จนได้เขียนบทวิเคราะห์ลิลิตพระลอในเชิง
วรรณคดีวิจารณ์  เขียนบทความ  ศึกษาความคิดทางการเมืองการปกครองในเสภาขุนช้างขุนแผ่น  บท
พระราชนิพนธ์บางเรื่องในรัชกาลที่  6  บทละครนอกพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่  2  เป็นต้น  ต่อมา
ได้ทำวิจัยเพื่อวรรณคดีเพื่อวิทยานิพนธ์ในระดับดุษฎีบัณฑิตอันเป็นการศึกษาวรรณคดีสมัย
รัตนโกสินทร์ตอนต้นในแง่คุณค่าที่แสดงพัฒนาการทางวรรณศิลป์ของยุคที่มีความตื่นตัวทางปัญญา
ในประวัติศาสตร์ไทยยุคหนึ่ง  ผลการวิจัยได้ชี้ว่ามีการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์จากวรรณคดีสมัยอยุธยา
และนวลักษณ์ของยุคนี้อยู่ที่การแสดงคุณค่าของการเรียนรู้และเผชิญปัญหาด้วยคุณสมบัติภายในของ
มนุษย์  โดยไม่แบ่งแยกตัวเอกและฝ่ายปฏิปักษ์
         การวิจัยดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับหน้าที่การงานในฐานะอาจารยผู้สอน  แสดงให้เห็นว่าการสอน
กับการวิจัยไม่ตัดขาดจากกัน  ผลงานวิจัยยืนยันและให้ความมั่นใจแก่ผู้วิจัยว่าวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์
ของไทยเป็นวัฒนธรรมหลักอย่างหนึ่งอันมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน  มีคุณค่าทางความงาม
และทางจริยธรรมบนพื้นฐานของความคิดเชิงปรัชญา  มีความสัมพันธ์กับระบบความคิดในรากทาง
วัฒนธรรมโดยเฉพาะปรัชญาในพุทธศาสนา  และยังสร้างแรงกระตุ้นต่อเนื่องในการสร้างสรรค์
อย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน
         ประวัติส่วนตัว
         รองศาสตราจารย์  ดร. ดวงมน  จิตร์จำนงค์  เกิดเมื่อวันที่  3  พฤศจิกายน  2490  อำเภอโกสุมพิสัย  
จังหวัดมหาสารคาม  เป็นบุตรของ  พ.ต.อ. (พิเศษ)  ปริญญา  และนางลดาวัลย์  ปริปุณณะ  การศึกษา
ระดับต้นได้เข้าเรียนในโรงเรียนต่าง  ๆ  ในส่วนภูมิภาค  เนื่องจากย้ายตามบิดาอาทิ  โรงเรียนเทศบาล
วัดศรีเกิด  จังหวัดเชียงราย  โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์  จังหวัดลำพูน  โรงเรียนสตรีชัยนาท
คณะราษฎร์บำรุง  2  จังหวัดชัยนาท  และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  พญาไท  กรุงเทพฯ
         ในระดับอุดมศึกษา  เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
ในปี  2512  ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  จังหวัดปัตตานี  ขณะรับราชการได้ศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์  
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  ในปี  2516  และอักษรศาสตร์
ดุษฎีบัณฑิตในปี  2534  ตามลำดับ  ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์  ระดับ  9  
ภาควิชาภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  สมรสกับนายอนันต์  จิตร์จำนงค์  มีบุตร  2  คน  คือนายนนท์  และนายรักข์  จิตร์จำนงค์
         ประวัติการทำงาน
               •  พ.ศ. 2536–2541 ดำรงตำแหน่งรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี
               •  พ.ศ. 2541 – 2544  ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี
         ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชา
ภาษาไทย  เป็นกรรมการสภาวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ในระบบการเรียนการสอนระดับ
บัณฑิตศึกษา   ยังได้เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในสาขาวิชาภาษาไทยและภาษาไทย
กับการสื่อสาร  นับตั้งแต่ปี  2535 – 2548  เกินกว่า  10  เรื่อง  นอกจากนี้ยังได้เขียนบทวิจารณ์วรรณกรรม
ร่วมสมัยและเผยแพร่แนวคิดทางวรรณคดีวิจารณ์และวรรณคดีศึกษาในนิตยสารและวารสารทางวิชาการ
อย่างต่อเนื่อง
         รางวัลที่เคยได้รับได้แก่  ผลงานวิจัยดีเด่นทุนวิจัยรัชดาภิเษกสมโภช  ประจำปี  2535  ของจุฬาลงกรณ
มหาวิทยาลัย  (งานวิจัยวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง  “คุณค่าและลักษณะเด่นของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์
ตอนต้น  พ.ศ. 2325 – 2394)  อาจารย์ตัวอย่างด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
พ.ศ. 2537  รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย  (TTF  Award)  พ.ศ. 2538–2539  ประเภทงานวิจัยสาขา
สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  จากงานวิจัย  “คุณค่าและลักษณะเด่นของวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น”  
บทวิจารณ์ดีเด่นกองทุน  ม.ล. บุญเหลือ  เทพสุวรรณ  พ.ศ. 2539  ครูภาษาไทยดีเด่นระดับอุดมศึกษาของคุรุสภา  
พ.ศ. 2541  และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม  สาขามนุษยศาสตร์ด้านการใช้ภาษาไทย  พ.ศ. 2548  ของ
กระทรวงวัฒนธรรม

                                                     ***********************************

โดย : * [ วันที่ ]