ผลการวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พบว่าแบบเรียน
ประวัติศาสตร์อิสลามของประเทศมาเลเซียมีเนื้อหาที่แน่นอนเป็นวิชาบังคับ โดยเน้นประวัติศาสตร์เชิง
อารยธรรม แต่แบบเรียนประเทศไทยเน้นด้านประวัติศาสตร์และเป็นเพียงวิชาเลือกเสรี ควรสังคายนา
แบบเรียนประวัติศาสตร์อิสลามของประเทศไทยให้มีความทันสมัยและสามารถสร้างความรู้ความ
เข้าใจ
รองศาสตราจารย์ดลมนรรจ์ บากา ผู้ศึกษาสถานภาพประวัติศาสตร์อิสลามในแบบเรียนระดับ
มัธยมศึกษาในประเทศไทยและมาเลเซีย วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทยและมาเลเซีย
ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ได้ถูกกำหนดไว้ในหลักสูตรการเรียนอย่างชัดเจน การศึกษาประวัติศาสตร์
ในระดับมัธยมศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการศึกษาระดับสูง
และเพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของโลกในอดีต อย่างไรก็ตามภาพรวม
ของแบบเรียนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยและมาเลเซียมีความแตกต่างกันในเนื้อหาวิชา โดยเฉพาะ
เนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิสลาม โดยแบบเรียนของไทยมีการอ้างอิงประวัติศาสตร์อิสลามน้อยมาก
หรือข้ามช่วงเวลาสำคัญ ๆ ในอิสลาม การเรียบเรียงความเป็นไปทางประวัติศาสตร์ไม่มีความต่อเนื่องกัน
ส่วนการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในประเทศมาเลเซียจะมีหนังสือแบบเรียนทางประวัติศาสตร์อิสลาม
โดยตรงทั้งในโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนของรัฐทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์โลก ภูมิภาคเอเซีย
ตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้การนำเสนอเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ในหนังสือ
แบบเรียนมีความแตกต่างกันกับประเทศไทย ทั้งในส่วนของเนื้อหา ภาษา และความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ
จากสภาพการณ์ดังกล่าวจึงได้มีการศึกษาเกี่ยวกับสถานภาพของประวัติศาสตร์อิสลามที่ปรากฏใน
หนังสือแบบเรียนระดับมัธยมศึกษาของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ได้ต่อ
กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อทำการปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมในส่วนของประวัติศาสตร์อิสลาม อันเป็น
แนวทางในการจัดการด้านหลักสูตรและสาระการเรียนการสอนในสถานศึกษาหรือหลักสูตรท้องถิ่น
ที่มีการเรียนการสอนอิสลามศึกษาและประวัติศาสตร์อิสลาม อันนำไปสู่การสร้างความเข้าใจอันดีใน
ประวัติศาสตร์อิสลามนำสู่สันติวิธี
รองศาสตราจารย์ดลมนรรจ์ บากา เปิดเผยผลการวิจัยพบว่าการศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม
มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงมีการบรรจุประวัติศาสตร์อิสลามในวิชาเรียนระดับมัธยมศึกษาด้วย
ในประเทศมาเลเซียประวัติศาสตร์อิสลามไม่ถูกกำหนดเป็นรายวิชา แต่ผนวกเป็นสัดส่วนเนื้อหาวิชา
อิสลามศึกษาและประวัติศาสตร์ ส่วนในประเทศไทยมีรายวิชาโดยตรงของประวัติศาสตร์อิสลามคือ
วิชาศาสนประวัติและชีวประวัติศาสตร์ตามหลักสูตรทั่วไป แต่ในหลักสูตรบูรณาการในกลุ่มวิชาศาสนา
ขึ้นอยู่กับโรงเรียนว่าจะมีการกำหนดหรือไม่และเป็นไปตามขอบเขตของหลักสูตรที่กรมวิชาการ
กระทรวงศึกษาธิการ กำหนด ปัจจุบันการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อิสลามยังคงดำเนินต่อไปทั้ง
ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย แต่ในประเทศมาเลเซียมีการพัฒนาในระดับหนึ่ง โดยเน้น
ประวัติศาสตร์เชิงอารยธรรมแทนที่จะเป็นประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มี
การเปลี่ยนแปลง ในการรองรับการเรียนการสอนประวัติศาสตร์อิสลามทั้งสองประเทศมีสถาบันการ
ศึกษาชั้นสูงเช่นเดียวกัน บัณฑิตที่จบการศึกษาจากสถาบันของรัฐบาลสามารถเป็นครูผู้สอนได้
ในประเทศมาเลเซียมีมหาวิทยาลัยมาลายาและมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย เป็น 2 สถาบัน
ของรัฐที่ผลิตบัณฑิตด้านอิสลามศึกษาและประวัติศาสตร์อิสลาม ส่วนในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันของรัฐที่ผลิตบัณฑิตด้านอิสลามศึกษา
โดยภาพรวมแล้วแม้ว่าการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการของประวัติศาสตร์อิสลามในระดับ
มัธยมศึกษาของประเทศมาเลเซียเพิ่งจะเริ่มช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แต่เนื้อหาวิชาก้าวหน้าไปมาก
เนื่องจากมีนักเรียนนักวิชาการที่มีความพร้อม สอดคล้องกับการกำหนดให้ประวัติศาสตร์อิสลามเป็น
ส่วนหนึ่งของวิชาอิสลามศึกษาและประวัติศาสตร์ ซึ่งทั้งสองวิชาเป็นวิชาบังคับแกน ในขณะที่
หลักสูตรของไทยประวัติศาสตร์เป็นเพียงวิชาเลือกเสรีและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มวิชาศาสนา ซึ่งอาจจะ
ไม่กำหนดอยู่ในกลุ่มก็ได้
ข้อเสนอแนะว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยควรจะมีการพัฒนาและแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้
เนื้อหามีความสอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นการเติมความสมบูรณ์ของประวัติ
ศาสตร์อิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์อิสลามในประเทศไทย ซึ่งเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ
ควรศึกษาแนวการนำมาใช้หลักสูตรของประเทศมาเลเซีย แต่ให้มีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม
ของนักเรียนมุสลิมในประเทศไทยและความพร้อมของนักวิชาการที่มีอยู่ นอกจากนี้ควรมีการสังคายนา
ประวัติศาสตร์อิสลามของประเทศไทยมีความทันสมัยและสามารถให้ความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชน
***************************************
|