: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 04 ประจำเดือน 11 2548
หัวข้อข่าว : ประชุมรับฟังคำเสนอแนะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ม.อ. ปัตตานี ทุกภาคส่วนร่วมสมานฉันท์แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
รายละเอียด :
         พล.ต.อ. ชิดชัย  วรรณสถิตย์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  พร้อมคณะ
ประกอบด้วยนายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์  ปลัดกระทรวงยุติธรรม  นายมานิต  สุภาพร  นายกิตติพงษ์  กิตยารักษ์  
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม   พญ. คุณหญิงพรทิพย์   โรจนสุนันท์  ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์  เดินทาง
มายังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ปัญหา
ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้   เมื่อวันที่  18  พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา    โดยมี  รศ. ผดุงยศ   ดวงมาลา  
รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  คณะผู้บริหาร  นักศึกษา  ผู้นำศาสนา  
เข้าร่วมประชุม
         พล.ต.อ. ชิดชัย  วรรณสถิตย์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  กล่าวว่า
การมาเยือนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ในครั้งนี้ต้องการปรับความเข้าใจและรับฟัง
ปัญหา  รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ภาคใต้  ซึ่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจะต้องยึดถือแนวทาง
สันติวิธีและความสมานฉันท์เป็นหลัก
         “ ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันแนวความคิดทางด้านศาสนามีความแตกต่างกันมาก  ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ  
แต่เราต้องเปิดอกและคุยกันอย่างตรงไปตรงมา  อย่าว่าแต่ศาสนาอิสลาม  ศาสนาพุทธเองก็มีหลายแนว
ความคิดที่เห็นกันอยู่  แต่เราคงต้องยอมรับในเสรีภาพสิทธิของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม  ในส่วนของปัญหาใน
จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน  หลายคนคิดตรงกันแต่ไม่มีเวทีคุยเพื่อสร้างความเข้าใจกัน  ดังนั้นวันนี้
เป็นเรื่องดีที่จะได้มาคุยกัน ”  พล.ต.อ. ชิดชัย  วรรณสถิตย์  กล่าว
         จากการประชุมแลกเปลี่ยนดังกล่าว  หลายฝ่ายได้เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ  รวมทั้ง
วิธีการที่จะทำให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้สงบสุขอีกครั้ง  ซึ่งวิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี    ได้มีการเสนอแผนงานโครงการเสริมสร้างพลังนักศึกษาและผู้นำ
ศาสนาเพื่อสันติสุข   ทั้งนี้เพื่อระดมพลังนักศึกษาและผู้นำศาสนาให้เป็นพลังมวลชนมามีส่วนร่วมใน
การเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ภายใต้กรอบของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและยึด
แนวทางอิสลามที่ถูกต้อง
               ผศ. ดร. อิสมาแอ  อาลี ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต
ปัตตานี  เปิดเผยว่าการที่มหาวิทยาลัยฯ   ต้องเสนอโครงการดังกล่าวสืบเนื่องจากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา  
ได้มีเหตุการณ์อันเนื่องจากสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยโดยตรง  
เช่น  การลอบยิงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปัตตานีและนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  เสียชีวิต ได้ส่งผลกระทบต่อนักศึกษามุสลิมเป็นอย่างมาก  มีการตรวจค้นหอพัก
นักศึกษาและจับกุมนักศึกษา  ทำให้นักศึกษามีความหวาดกลัวหวาดระแวง  ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแนวร่วม  ทั้งที่
นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  มีจิตใจเดียวกันที่จะสร้างสันติวิธีด้วยกันทั้งนั้น  
แต่ละคนสามารถเป็นพลังที่เข้มแข็งได้หากได้รับการสนับสนุน  จึงเห็นว่าควรมีโครงการ  “แผนงาน
เสริมสร้างพลังนักศึกษาและผู้นำศาสนาเพื่อสันติสุข”  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมพลังนักศึกษา  ผู้นำ
ศาสนา  เพื่อเป็นพลังมวลชนเสริมสร้างสันติสุข  กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยกลุ่มผู้นำศาสนาได้แก่   โต๊ะครู  
โต๊ะอิหม่าม   อุซต๊าส   กลุ่มนักศึกษาได้แก่   นักศึกษาระดัมอุดมศึกษาและนักศึกษาในโรงเรียนเอกชน
สอนศาสนาอิสลาม  กลุ่มสตรี  และกลุ่มเยาวชน  โดยใช้การจัดอบรม  อภิปราย  สัมมนา    การสาน
เสวนาสร้างพลังมวลชนภายใต้กรอบของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและยึดแนวทางศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง  
โดยเน้นกระบวนการสันติวิธี
         ผศ. ดร. อิสมาแอ  อาลี  กล่าวเพิ่มเติมว่าแผนงานเสริมสร้างพลังนักศึกษาและผู้นำศาสนาเพื่อ
สันติสุข  เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี   และกระทรวงยุติธรรม    
โดยนำพระราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า   “ เข้าใจ  เข้าถึง  และพัฒนา ”   มาใช้เป็นเบื้องต้น
เพื่อระดมพลังนักศึกษา  ผู้นำศาสนา  ให้เป็นพลังมวลชนเสริมสร้างสันติสุขนำสู่จังหวัดชาแดนภาคใต้  
แผนงานดังกล่าวได้ยึดนโยบายคำสั่ง  66/33  เรื่องการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ปรับเปลี่ยน
ยุทธศาสตร์ขจัดเงื่อนไขสงคราม  เป็นขจัดเงื่อนความไม่เป็นธรรม  และยึดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
         นายมูฮำหมัด  อีแมดือเระ  เลขานุการชมรมมุสลิม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  กล่าวว่าตั้งแต่มีเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนักศึกษามุสลิมหรือผู้ที่เคย
ทำงานในคณะทำงานชมรมมุสลิม  ทำให้การจัดกิจกรรมของชมรมมุสลิมไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร  
ส่งผลให้คณะกรรมการชมรมมุสลิมชุดใหม่ทำงานยากขึ้น
         นายอุสมาน  ราษฎร์นิยม  อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมมุสลิม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  กล่าวเสริมว่าความหวาดระแวงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำลายพลังนักศึกษา  จากผู้ก่อการดีแต่ถูกมองว่า
เป็นผู้ก่อการร้าย  อยากให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาออกไปทำกิจกรรมช่วยสังคมและทำงานได้
อย่างมีความสุข  เชื่อว่านักศึกษารักประเทศชาติ  รักความเป็นไทย  ยอมอุทิศชีวิตเพื่อสร้างสรรค์สังคม
ต่อไป

                                                      ************************************
โดย : * [ วันที่ ]