: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 99 ประจำเดือน 11 2548
หัวข้อข่าว : นักวิจัย ม.อ. ปัตตานี เสนอทางเลือกให้ชาวประมงพื้นบ้านใช้น้ำทิ้งจากโรงงานเลี้ยงปูม้าในคอกได้สำเร็จเป็นแห่งแรก
รายละเอียด :
         นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เสนอทางเลือก
เชิงพาณิชย์ให้ชาวประมงพื้นบ้าน  โดยการเลี้ยงปูม้าในคอกด้วยการใช้น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นบ่อเพาะ
เลี้ยงอาหาร
         ผศ. ชลธี  ชีวะเศรษฐธรรม  นักวิจัยการเลี้ยงปูม้าในคอกเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกใหม่สำหรับชาวประมง
พื้นบ้านในอ่าวปัตตานี  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
กล่าวว่า  ปูม้าเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศที่มีผู้นิยมนำมาบริโภคและแปรรูป
สินค้าส่งออกมีมูลค่านับหลายล้านบาท  ปัจจุบันความต้องการปูม้าอยู่ในปริมาณสูงในขณะที่ปูม้าในธรรมชาติ
เริ่มมีปริมาณลดลง  แนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการขาดแคลนปูม้าและความไม่ยั่งยืนในอาชีพของ
ชาวประมงพื้นบ้านบริเวณรอบอ่าวปัตตานีที่เป็นรูปธรรมคือ  การเสนอทางเลือกและส่งเสริมให้ชาวบ้านที่อาศัย
อยู่ใกล้กับแหล่งอาศัยของปูม้า  หันมาพัฒนาการเลี้ยงปูม้าในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยการกั้นคอก  เป็นอาชีพ
เสริมนอกเหนือไปจากการทำประมงพื้นบ้านในทะเล  โดยให้มีการผลิตลูกพันธุ์จากโรงเพาะฟักในต้นทุนที่ต่ำ
และส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่รอบ
อ่าวปัตตานีเลี้ยงปูม้าในคอกโดยใช้อาหารที่มีอยู่ในแหล่งน้ำในพื้นที่  วิธีการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มรายได้และ
คุณภาพชีวิตให้กับชาวประมงพื้นบ้าน  นอกจากนั้นยังเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นอย่าง
เหมาะสม  อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มผลผลิตปูม้าเพื่อรองรับความต้องการบริโภค  การแปรรูปต่อไปได้  และเป็น
การเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน
         ผศ. ชลธี  ชีวะเศรษฐธรรม  เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวว่า  ได้มีการนำน้ำทิ้ง
จากโรงงานอุตสาหกรรมรอบอ่าวปัตตานี  ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำซึ่งมีธาตุอาหารของสิ่งมีชีวิต
ขนาดเล็กมาเป็นอาหารของลูกปู  โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์แยกตัวมีพิษออก  ให้มีเพียงตัวที่มี
ประโยชน์เพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์น้ำ  ซึ่งใช้หลักการการสร้างอาหารจากน้ำทิ้งสุดท้าย  น้ำที่ผ่าน
กระบวนการแล้วกลายเป็นน้ำสะอาดและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ถือได้ว่าเป็นการนำน้ำทิ้งจากโรงงาน
อุตสาหกรรมมาเพิ่มมูลค่า  กระบวนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่พัฒนาขึ้นนี้นอกจากเลี้ยงปูม้าแล้ว  ยังสามารถใช้
หลักการเดียวกันกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น  ๆ  เช่น  ปลากะพงขาว  ปูทะเล  กุ้งก้ามกราม  ซึ่งหาก
โครงการนำร่องดังกล่าวประสบความสำเร็จ  ก็จะมีการขยายไปยังพื้นที่อื่น  ๆ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชุมชน
และสังคมต่อไป
              “ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเพาะเลี้ยงปูม้าทำกันมานานแล้ว  แต่กระบวนการใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้ง
จากโรงงานอุตสาหกรรมถือว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็นที่เดียวและแห่งแรก
ของประเทศ  ซึ่งนักวิชาการต่างประเทศต่างให้ความสนใจ”  ผศ. ชลธี  ชีวะเศรษฐธรรม  กล่าว

                                                      *************************************
โดย : * [ วันที่ ]