: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 89 ประจำเดือน 10 2548
หัวข้อข่าว : ม.อ. ปัตตานี เปิดศูนย์ปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อาหารฮาลาลสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานสากล
รายละเอียด :
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  พร้อมให้บริการวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์
อาหาร  เปิดห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารปนเปื้อนและสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  และ
วิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยา  เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลไทยสู่สากล  โดยการพัฒนา
ระบบประกันคุณภาพเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลตามยุทธศาสตร์จังหวัดปัตตานี
         ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก  เนื่องจากเห็นว่าตลาดอาหารมุสลิม
เป็นตลาดขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศต่าง  ๆ  กว่า  100  ประเทศทั่วโลกและไทยมีวัตถุดิบภายใน
ประเทศที่สามารถแปรรูปให้เป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้  ประกอบกับประเทศไทยมีประชากรมุสลิมเป็น
จำนวนมากอาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้    ซึ่งเหมาะที่จะเป็นแหล่งการผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญ  
ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลในเขต   3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ให้เป็น
สินค้าส่งออกและเกิดการผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยแทรกตัวเข้าสู่ตลาดอาหารฮาลาล
ของโลกมุสลิม  การปรับปรุงกิจการอาหารฮาลาลให้ได้มาตรฐานและถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม  จึงเป็น
การเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งในและต่างประเทศ   ทั้งนี้รัฐบาลได้สนับสนุน
ให้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารในพื้นที่อำเภอปะนาเระ  จังหวัดปัตตานี  จึงมีความจำเป็นในการ
สร้างความพร้อมด้านต่าง  ๆ  เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้  จังหวัดปัตตานีจึงได้สนับสนุน
ให้ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี  ให้ดำเนินโครงการการให้บริการ
วิเคราะห์  วิจัย  และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  ในเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัด
ปัตตานี
         ดร.เทวี  ทองแดง  หัวหน้าโครงการการให้บริการวิเคราะห์  วิจัย  และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่ากระบวนการผลิต
อาหารฮาลาลนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ยุ่งยากแต่ประการใด  เพียงแต่จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
อย่างเคร่งครัด  ทั้งด้านแหล่งที่มาของอาหาร  วิธีการฆ่าสัตว์  การเตรียมอาหาร  การแปรรูปอาหาร  การ
บรรจุหีบห่อ  การขนส่ง  การเก็บรักษาอาหาร  และต้องระมัดระวังไม่ให้มีสิ่งต้องห้ามเจือปน  ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จัด
เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคคือ  การจัดให้มีระบบมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับและ
การที่จะทำให้อาหารฮาลาลสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกนั้น  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาการผลิตอาหาร
ไทยให้ได้มาตรฐานในระดับสากลเช่น  มาตรฐาน  GMP , HACCP  ของ  Codex  และมาตรฐานฮาลาล
อีกหนึ่งมาตรฐานที่เรียกว่า   ฮาลาลัน  ตอยยีบา  เป็นมาตรฐานที่นำหลักศาสนามาประยุกต์รวมกับระบบ  
GMP & HACCP   เพื่อเพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจและเข้าถึงตลาดผู้บริโภคที่นับถือศาสนา
อิสลามทั้งภายในและต่างประเทศ  การดำเนินงานในโครงการการให้บริการวิเคราะห์  วิจัย  และพัฒนา
ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลจังหวัดปัตตานี  แบ่งกิจกรรมของโครงการเป็น  2  กิจกรรมหลัก  ๆ  คือกิจกรรม
การให้บริการวิเคราะห์  วิจัย  และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  โดยมีการพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจ
วิเคราะห์อาหารฮาลาล  พร้อมให้การบริการมาตั้งแต่ปี  2547  แล้วและกิจกรรมพัฒนาสถานที่ผลิต
อาหารฮาลาล  เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาลไทยสู่สากล  โดยการพัฒนาระบบประกัน
คุณภาพตามหลักเกณฑ์ได้แก่  วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร  การวิเคราะห์จุดควบคุมวิกฤตของการผลิต
อาหารและได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม  เป็นการส่งเสริมให้สถานที่ผลิตอาหารเกิดความ
ปลอดภัย  มีคุณภาพมาตรฐาน  และถูกหลักศาสนาอิสลาม  เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ
         สำหรับห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารประกอบด้วย  ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์
สารปนเปื้อนและสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล   โดยมีรายการตรวจวิเคราะห์ได้แก่  เจลาติน  
กรดไขมัน   และแอลกอฮอล์   และห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพทางจุลชีววิทยา   โดยมีรายการตรวจ
วิเคราะห์ได้แก่  แบคทีเรีย  ยีสต์  และรา
         รศ. ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เปิดเผย
ถึงความพร้อมในการให้บริการปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์อาหารฮาลาลว่า  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  เป็นศูนย์ตรวจสอบอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่จะต้องเป็นไปตามหลักศาสนา
อิสลาม  โดยใช้ห้องปฏิบัติการ  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทั้ง
ด้านเครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรในการรองรับผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล  นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือ
และแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการจากคณะสหเวชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อีกด้วย  อนึ่ง
ถ้ารัฐบาลสามารถผลักดันในเรื่องของการเป็นนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล  โดยสามารถตีตราอาหาร
ฮาลาลที่ออกไปจากจังหวัดปัตตานีไปยังโลกมุสลิมได้โดยตรง  จะทำให้ตัวเลขการส่งออกหรือทำให้
เศรษฐกิจของจังหวัดปัตตานีหรือของประเทศดีขึ้น

                                                       **************************************
โดย : * [ วันที่ ]