มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผลิตแพทย์ 270 คน ภายใน
เวลา 9 ปี แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2548
โดยรับนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กลับไปรับใช้บ้านเกิด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าประเทศไทยประสบปัญหา
ความขาดแคลนแพทย์ ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญในระบบสุขภาพมาโดยตลอด นอกจากความขาดแคลนแล้ว
ยังมีปัญหาการกระจายแพทย์ที่ไม่สมดุลย์ ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนแพทย์อย่างมากในพื้นที่ห่างไกล
รวมทั้งพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่จึงทวีความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก ทั้งนี้
เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ต้องจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคและในทุกสถานการณ์อย่าง
ทั่วถึง ผลจากความขาดแคลนแพทย์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพการให้บริการสุขภาพ ทำให้ประชาชน
ขาดหลักประกันสำคัญในการที่จะได้รับบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขาดแคลน
แพทย์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาวและเป็นฐานในการพัฒนาสู่ระบบสุขภาพที่เข้มแข็งยั่งยืน
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ลงนามความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการผลิตแพทย์เพื่อ
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ณ กระทรวงสาธารณสุข และได้วางแผนผลิตแพทย์
ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวง
สาธารณสุข ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548 2556 รวม 9 ปี ๆ ละ 30 คน และในปีการศึกษา 2548 นี้ มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาวิชาแพทยศาสตร์
บัณฑิตได้จำนวน 30 คน ตามเป้าหมายที่กำหนด จึงเป็นหลักประกันว่าในปี 2553 จะเริ่มมีผลผลิตแพทย์
ของโครงการมาปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และจะผลิตได้ครบ 270 คน ในปี 2562
โครงการผลิตแพทย์มีระยะเวลา 9 ปี โดยคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลัง
ศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 6 ที่มีผลการเรียน มีเจตคติที่ดี และมีความต้องการที่จะเข้าทำงานในชุมชน
มาเตรียมความพร้อมทั้งด้านวิชาการ ฝึกทักษะการเรียนและการปฏิบัติงานกับผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยงาน
ด้านนี้ก่อนที่จะสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนแพทย์ สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนจะเน้นการเรียนรู้จากปัญหาและ
การปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้จักจัดการปัญหาในสถานการณ์จริงโดยศึกษาภาคทฤษฎี ความรู้พื้นฐาน
ด้านวิชาชีพแพทย์เป็นเวลา 3 ปีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตปัตตานี และ
ศึกษาในภาคปฏิบัติอีก 3 ปี ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยมีโรงพยาบาลปัตตานี โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
และโรงพยาบาลชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสถาบันสมทบ ซึ่งจะทำให้แพทย์ที่จบมามีความรู้ความ
เข้าใจในสภาพปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่ มีความผูกพัน รู้สึกเป็นเจ้าของและอยากทำงานให้กับท้องถิ่นของ
ตนมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องไปปฏิบัติชดใช้ทุนในภูมิลำเนาเดิมเป็นระยะเวลา 3 ปี
รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าจากปัญหาความไม่สงบ
ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อแผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขของภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน
ภาคใต้ กรณีการลาออกและโอนย้ายของแพทย์อย่างต่อเนื่องนั้น จึงผลักดันให้เกิดโครงการที่จะแก้ปัญหาแบบ
บูรณาการระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการรับนักศึกษาจาก 3 จังหวัดชายแดน
ภาคใต้ เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ โดยคาดหวังว่าการที่ใช้สถานที่เรียนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุขควบคู่
ไปกับการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระยะยาว ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการคัดเลือก
นักศึกษาในโครงการดังกล่าวเป็นวิธีพิเศษ โดยรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยม
ศึกษาปีที่ 6 และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมโครงการ จำนวน
30 คนต่อปี เพื่อให้ได้นักศึกษาที่มีคุณภาพและมีเจตคติที่ดีในการกลับไปรับใช้สังคมในระดับภูมิภาค และได้จัด
โครงการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษากลุ่มดังกล่าวให้มีทักษะในทุกด้านก่อนที่จะเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย
โครงการผลิตแพทย์เพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่รัฐควรให้การสนับสนุนอย่าง
จริงจัง ทั้งนี้สามารถช่วยพัฒนาคนระดับรากหญ้าในพื้นที่ที่มีปัญหาซึ่งจะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งได้ในระยะยาว
และเป็นจุดแข็งของโครงการก็คือเป็นปูพื้นฐานสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะจะไม่มีการแยก
ไทยพุทธ มุสลิม แต่จะเน้นให้ทั้งสองศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข รศ. ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดี
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว
รศ. นพ. กิตติ ลิ่มอภิชาต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเพิ่มเติม
ว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การ
คัดเลือกนักศึกษาเพื่อเตรียมศักยภาพ การจัดการเรียนการสอน การพัฒนานักศึกษา การพัฒนาแพทย์ของ
โรงพยาบาลที่จะเป็นอาจารย์แพทย์ ตลอดจนการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อควบคุมคุณภาพของแพทย์
ที่เข้าศึกษาในโครงการดังกล่าวให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของแพทยสภา ขณะเดียวกันมีความสอดคล้อง
กับความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย นอกจากนี้มีการวางแผนจัดหลักสูตรให้นักศึกษา
เรียนและฝึกปฏิบัติงานด้านคลินิกในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้คุ้นเคยและใกล้ชิดกับระบบสาธารณสุขของ
ชุมชน และไม่มีการลาออกหรือโอนย้ายหลักจากทำงานไปสักระยะหนึ่ง สำหรับแผนการเรียนในพื้นที่นั้นได้
วางแผนการเรียนการสอนชั้นปรีคลินิก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และในชั้นคลินิก
จัดให้เข้าฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในแต่ละแห่งที่มีความพร้อม ตามแผนการ
รับนักศึกษา จะรับนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด ๆ ละประมาณ 10 คน เป็นเวลา 9 ปี เริ่มโครงการในปี
การศึกษา 2548 2556 เมื่อสิ้นสุดโครงการ จะผลิตแพทย์ได้ทั้งสิ้น 270 คน ผลการคัดเลือกนักศึกษา
ปีแรกได้ดำเนินการคัดเลือกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในกลุ่มที่ 1 เป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ขณะนี้ทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เป็นจำนวน 10 คนโดยมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานี 4 คน
จังหวัดยะลา 3 คน และจังหวัดนราธิวาส 3 คน และกลุ่มที่ 2 เป็นนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6
จำนวน 20 คน โดยมีภูมิลำเนาในจังหวัดปัตตานี 6 คน จังหวัดยะลา 7 คน และจังหวัดนราธิวาส 7 คน
ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความรู้พื้นฐานให้กับนักเรียนเป็นเวลา 1 เดือน และหลังจากนั้นจะเข้าร่วมโครงการ
สอนเสริมวิธีการเรียนรู้และการปรับตัวเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมและสำเร็จเป็น
บัณฑิตที่มีคุณภาพ การรับนักศึกษาเป็นไปตามเป้าหมายที่จะกระจายการรับนักศึกษาในแต่ละภูมิลำเนา
เป็นการเปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาในทุกพื้นที่ และคาดหวังว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีแพทย์กลับไปปฏิบัติ
งานได้อย่างทั่วถึง
*************************************
|