เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ณ ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์
แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร. โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัย
มหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ภาคประชา
สังคมในพื้นที่ ร่วมกันประชุมเสวนากับองค์กรต่าง ๆ ทั้งผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ข้าราชการ นักวิชาการ
นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ประมาณ 70 คน ระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทาง
ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
เปิดเผยว่าเครือข่ายสมานฉันท์และสันติวิธี เป็นการรวมตัวของผู้ที่มีความใส่ใจในประเด็นปัญหาความรุนแรงใน
จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยมุ่งหวังจะสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในสังคมให้มีความเข้าใจความ
เมตตา ความใจกว้าง ความยุติธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมมือร่วมใจกันด้วยความเคารพและให้เกียรติ
แก่กันและกัน โดยอาศัยพลังสร้างสรรค์ทางบวกเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน นอกจากนี้
ยังได้ให้ความเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งแก้ยากและไม่สามารถ
แก้ได้ด้วยกลไก แต่ต้องใช้หัวใจความเป็นมนุษย์เท่านั้น อาทิ ความรัก ความเข้าใจ มีความเคารพในความ
เป็นมนุษย์และทั้งนี้ปัญหาในพื้นที่ต้องให้คนพื้นที่เป็นคนแก้ปัญหาเอง เพราะคนอื่นจะไม่เข้าใจ ฉะนั้น
เราต้องทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้ง และอยากให้มีเครือข่ายสมานฉันท์ทุกจังหวัด
โดยไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ศาสนา
จากการรับฟังปัญหาการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ตนคิดว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้งในโครงสร้าง
การปกครองที่รวมศูนย์อำนาจกับความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นคือ อำนาจส่วนกลางจะเน้นกฎหมาย
ข้อบังคับ แต่คนในพื้นที่มีวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อต่าง ๆ ความไม่เข้าใจอันนี้ดำรงอยู่นาน ทั้งนี้ด้วย
ระบบการศึกษาของเราที่มีกว่า 100 ปี ที่สอนให้เราไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจมนุษย์ เข้าใจในความเป็นจริง
แต่เน้นการศึกษาที่ท่องจำซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรง ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าว
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เปิดเผยถึงความเห็นในการแต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า
เป็นท่าทีที่ดีของรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีที่ยอมรับความสมานฉันท์ เมื่อท่านนายกรัฐมนตรียอมรับ
ก็ต้องทำในฐานะที่เป็นประมุขและดูแลการใช้อำนาจรัฐให้อยู่ในแนวทางสมานฉันท์ ถ้าอำนาจรัฐเข้าใจ
เรื่องนี้มากขึ้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ดี
************************************
|