: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ฉบับที่ 35 ประจำเดือน 04 2547
หัวข้อข่าว : นักวิชาการและประชาชนระดมแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ ม.อ. ปัตตานี เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างสันติสุขและพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้ระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา  3  จังหวัด
ชายแดนภาคใต้  เมื่อวันที่  18  เมษายน  2547  ณ  หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  โดยมีโต๊ะครูปอเนาะ  ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดชายแดน
ภาคใต้  ผู้นำท้องถิ่น  ผู้แทน  NGO  ผู้แทนหอการค้า  สภาอุตสาหกรรมใน  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  และ
ผู้สนใจ  เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ  300  คน  วิทยากรประกอบด้วย  นายวินัย  สะมะอูน  รองประธาน
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร. อิสมาแอ  อาลี  ผู้อำนวยการ
วิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ  กิจถาวร  
นักวิชาการรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  และนายกิตติ   กิตติโชควัฒนา  
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  เพื่อหาแนวทางการสร้างสันติสุขและพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร. วรวิทย์   บารู  รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวกับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่าเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  
3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งส่งกระทบต่อสังคมในพื้นที่ทุกระดับ  เกิดความสับสนและความหวาดระแวง
อย่างกว้างขวาง  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ในฐานะสถาบันการศึกษาในพื้นที่จึงได้
เชิญประชาคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา  โดยมี
นักวิชาการ    หอการค้าจังหวัด    สภาอุตสาหกรรม    ผู้นำท้องถิ่น    ผู้นำศาสนา    ผู้แทน  NGO    และ
ผู้สนใจ  เข้าร่วมสัมมนาประมาณ  300  คน  โดยมหาวิทยาลัยฯ  จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลและแนวทาง
การแก้ปัญหาจากประชาคม  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นำไปพิจารณาในการแก้ปัญหาต่อไป
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ   กิจถาวร  นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขต
ปัตตานี  เปิดเผยว่าสาเหตุของการเกิดปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากโครงการวิจัยเรื่อง  ข้อค้นพบ
จากการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจปัญหาพื้นฐานของจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า  มาจากสาเหตุ  3  ประการคือ  
ปัญหาแนวคิดของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาในสมัยของการล่าอาณานิคม  ซึ่งแนวคิดเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้
มีการแบ่งแยกในเรื่องเชื้อชาติ   ศาสนา   ประกอบกับภาครัฐได้นำเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นตัวกำหนดการ
แบ่งแยกและเป็นเครื่องมือในการใช้ความต่างของเชื้อชาติ  ศาสนา  และวัฒนธรรม  ทำให้เกิดการแบ่งแยก  
การเข้าใจความต่างกัน    รัฐทำได้ไม่ยากแต่ในส่วนของประชาชนในพื้นที่นั้น  ได้ใช้รูปธรรมที่ชัดเจนในการ
จัดการชุมชนของตนเองและแก้ปัญหาความต่างในพื้นที่อยู่ตลอดมาคือ  มีการเรียนรู้วัฒนธรรม  ประเพณี
ซึ่งกันและกัน  แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐเองและสื่อได้สร้างความต่างของกลุ่มชาติพันธุ์มีอิทธิพลต่อการ
เกิดการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่  โดยดูได้จากการแก้ปัญหาของรัฐที่นำประเด็นของความต่างของกลุ่ม
ชาติพันธุ์มาเป็นประเด็นสำคัญ  ทำให้ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่เข้าใจเช่นนั้น  ทั้งนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมวัยรุ่นในพื้นที่
ที่เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐ  เพราะเกิดจากการได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยะ   กิจถาวร  เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยอีกว่าแนวทางการลดความขัดแย้ง
ในพื้นที่นั้นมีอยู่  7  ประการคือ  ต้องเข้าใจหลักศาสนาทุกศาสนาในพื้นที่  การไปมาพบปะแลกเปลี่ยน
ความคิดเห็นของคนในพื้นที่ที่ต่างศาสนา  รู้ถึงความต้องการของทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา  เมื่อมีกรณีพิพาทกัน
ไม่ควรกล่าวโทษผิดซึ่งกันและกัน  ควรมีการปรึกษาหารือกัน  การให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ควร
เท่ากัน  ไม่มีความต่างในศาสนา  และสุดท้ายรัฐควรมีการปราบโจรและข้าราชการที่ทุจริตอย่างเด็ดขาด  
เพราะฉะนั้นปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้  โดยง่ายที่สุดที่รัฐพยายามแก้ไขคือ
ต้องสร้างความเข้าใจพื้นที่และเจ้าหน้าที่เองต้องมีการละลายพฤติกรรม  ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับประชาชนใน
พื้นที่ได้อย่างมีความเข้าใจกัน
         นายวินัย   สะมะอูน  รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  กล่าวถึงมิติของกลุ่ม
ชาติพันธ์ว่าเป็นมิติหนึ่งที่สร้างความไม่เข้าใจให้กับรัฐ  ปัญหาต่าง  ๆ  ทุกฝ่ายมองเห็นตรงกัน  แต่อุปสรรค
ของการแก้ปัญหาอยู่ที่ว่า  การปฏิบัติที่ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง  ไม่จริงใจ  มีปัญหาครั้งหนึ่งก็ทุ่มงบประมาณ
เข้ามาในพื้นที่ครั้งหนึ่ง  คนปฏิบัติเองหรือเจ้าหน้าที่ที่แก้ปัญหาเองยังมีความหวาดระแวง  ดังนั้นการแก้ปัญหา
ต้องแก้ที่คนปฏิบัติและผู้แก้ปัญหาจะใช้ความรู้สึกตัวเองอย่างเดียวไมได้ในการแก้ปัญหา  ต้องอาศัยความรู้  
ส่วนการข่าวของรัฐยังอ่อนแอ  รัฐได้ข้อมูลจากสายข่าวของหน่วยงานภาครัฐแต่เพียงด้านเดียว  โดยความ
เป็นจริงแล้วรัฐต้องรับฟังสายข่าวจากประชาชนด้วย  ซึ่งปัญหาในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  ไม่ใช่
เป็นปัญหาของชาวมุสลิมในพื้นที่นี้เท่านั้น  แต่มีผลกระทบถึงจิตใจชาวมุสลิมทั่วประเทศ  เพราะฉะนั้น
การแก้ไขปัญหาต้องมาจากความคิดเห็นของชาวมุสลิมทั้งประเทศ  ดังกระแสพระราชดำรัสของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ  เข้าถึง  เข้าใจ  และพัฒนา
         ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร. อิสมาแอ  อาลี  ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา  มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้เสนอแนะต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตั้งแต่เดือน
มกราคมที่ผ่านมานั้น  ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือทางศาสนา  
ชาวมุสลิมต้องการความสันติสุขตามหลักการของศาสนา  แต่จะมีการต่อสู้กันก็จะเป็นไปในลักษณะการ
ต่อสู้โดยสันติวิธี  มีกติกาอยู่ในกฎระเบียบของภาครัฐ   ปัจจุบันโอกาสการต่อสู้อย่างสันติวิธีของคนที่นี่
มีมากมาย   โดยเฉพาะระบบการปกครองท้องถิ่นที่คนในพื้นที่สามารถเลือกปกครองตัวเอง  ตั้งแต่ระดับ
องค์การบริหารส่วนตำบล  เทศบาล  และองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ซึ่งเราสามารถที่จะปกครองตนเอง
โดยชาวมุสลิมเอง  ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้ที่ถูกกดดันเช่น  กรณีที่มีชาวมุสลิมไป
ศึกษาต่างประเทศมาก  เนื่องจากระบบการศึกษาไทยไม่สามารถที่จะรองรับนักเรียนมุสลิม  โดยเฉพาะ
นักเรียนมุสลิมที่เรียนเฉพาะด้านศาสนาอย่างเดียว  จึงมีความจำเป็นต้องไปศึกษายังต่างประเทศ  และ
นอกเหนือจากนั้นรัฐบาลไทยไม่เคยเข้าไปดูแลอำนวยความสะดวกให้นักศึกษาเหล่านั้น  จึงกลายเป็น
ผู้ถูกทอดทิ้ง  สร้างความหวาดระแวงระหว่างนักศึกษาและภาครัฐของไทย  และเมื่อจบการศึกษาแล้วเขา
เหล่านั้นมีความต้องการที่จะเข้าทำงานในพื้นที่  แต่ด้วยระบบของการศึกษาและระบบของระบบราชการ
ไทยที่ไม่เอื้อต่อนักศึกษาเหล่านั้น  ไม่สามารถรองรับวุฒิการศึกษาของผู้ที่จบมา  เพราะฉะนั้นรัฐทำอย่างไร
ก็ได้ที่ให้นักศึกษาที่จบจากต่างประเทศ  สามารถเข้ามาทำงานในระบบราชการไทยได้
         ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เสนอแนวคิดหลากหลาย  อาทิ  ประเด็นที่ทางรัฐบาลยังไม่เข้าใจพื้นที่จังหวัด
ชายแดนภาคใต้  ประกอบกับรัฐพยายามแทรกแซงวิถีชีวิตการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นแบบมุสลิม  นอกจากนี้
ได้กล่าวชมรัฐบาลในด้านนโยบายที่พยายามพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติงานของ
เจ้าหน้าที่ขาดความจริงจังและจริงใจ  มีอคติโดยใช้ความรู้สึกในการแก้ปัญหา  ซึ่งจะส่งผลกระทบในการ
สร้างความหวาดระแวง  ดังนั้นรัฐต้องเข้าใจถึงจะแก้ปัญหาได้

                                                      ************************************

โดย : * [ วันที่ ]