: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 12 ประจำเดือน 12 2546
หัวข้อข่าว : วันลอยกระทง ประจำปี 2546
รายละเอียด :
         การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  เป็นภารกิจหลักอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
ซึ่งมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  งานประเพณี
ลอยกระทงในวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปี  จึงเป็นกิกจรรมที่มีอยู่ในแผนงานของสถาบันวัฒนธรรม
ศึกษากัลยาณิวัฒนา  ในปีนี้ก็เช่นกันสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  ร่วมกับหน่วยงานอื่น  ๆ  
ของมหาวิทยาลัย  ได้จัดกิจกรรมประเพณีลอยกระทงขึ้นมา
         โดยทั่วไปประเพณีหมายรวมถึง  ความคิด  ความเชื่อ  ค่านิยม  ทัศนคติ  การประพฤติปฏิบัติ  
ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมเนื่องในโอกาสต่าง  ๆ  ที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมและได้รับการยอมรับ
จากคนส่วนใหญ่ในสังคมว่าถูกต้อง  ดีงาม  และยอมรับยึดถือปฏิบัติเป็นแบบแผนเดียวกันสืบต่อ  ๆ  
กันมา
         ประเพณีลอยกระทง  เป็นประเพณีของไทยที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ  มีการลอยกระทงที่
เริ่มทำกันตั้งแต่กลางเดือน  11  ถึงกลางเดือน  12  ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก  น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ  แต่ที่
นิยมมากคือ  ช่วงวันเพ็ญเดือน  12  เพราะพระจันทร์เต็มดวง  ทำให้แม่น้ำดูใสสะอาด  แสงจันทร์ส่อง
เวลากลางคืน  เป็นบรรยากาศที่สวยงาม  เหมาะแก่การลอยกระทง
         ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีที่สนุกสนานครึกครื้นมาก  มีการปัดกวาดบ้านเรือนสถานที่
ให้สะอาดเรียบร้อย  ประดับประดาด้วยธงชาติ  จัดเปลี่ยนดอกไม้ในแจกันหิ้งบูชาพระ  จัดเตรียมประทีป
หรือเทียนขี้ผึ้งไว้สำหรับบูชาพระ  วัดวาอารามหรือสถานที่สำคัญจะถูกจัดแต่งให้สวยงามเป็นพิเศษ
ด้วยดอกไม้โคมไฟ
         ความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงนั้น  แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์  เรียกว่า  “ประเพณี
จองเปรียง”  ทำขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามของพราหมณ์คือ  พระอิศวร  พระนารายณ์  และ
พระพรหม  ก่อนที่จะมีการลอยก็มีการตามประทีปด้วย  จึงเรียกด้วยว่า  พิธีลอยประทีป  ครั้นต่อมาเมื่อ
ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาและยังเห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงาม  จึงมาดัดแปลงเป็นพิธีทางศาสนา  ทำ
พิธีเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ  พระจุฬามณี  ณ  สวรรค์ชั้นดาวดึงส์และบูชารอยพระพุทธบาทที่ปรากฏ  
ณ  หาดทราย  แม่น้ำนัมฆทานที  ประเทศอินเดีย
         การลอยกระทงตามสายน้ำนี้  นางนพมาศ  สนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยคิดทำกระทง
รูปดอกบัวและรูปต่าง  ๆ  ถวายพระร่วง  ทรงให้กระทงตามสายน้ำไหล  ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์  
พระร่วงตรัสว่า  “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า  โดยลำดับ  กษัตริย์ในสยามประเทศ  ถือการกำหนด
นักขัตฤกษ์นี้  วันเพ็ญเดือน  12  ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว  อุทิศสักการะบูชาพระพุทธบาท
นัมฆทานทีตราบเท่ากัลปาสาน"
         การลอยกระทงเป็นการสยบยอมต่อธรรมชาติและเป็นวิธีการแสดงความสุภาพ  อ่อนน้อมต่อ
ธรรมชาติ  ซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์และมีอำนาจอันปราศจากขอบเขตเหนือน่านน้ำและได้รับการยกย่องเป็นเทพี
หรือแม่คือ  แม่น้ำ  หรือพระแม่คงคา  พิธีกรรมที่กระทำขึ้นนอกจากเพื่อการแสดงความสุภาพอ่อนน้อมแล้ว  ยังเป็นการแสดงถึงการสำนึกในบุญคุณของสิ่งศักดิ์สิทธินั้น  (พระแม่
คงคา)  ที่ได้ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้กับข้าวในนาลุ่มนาดอนทั้งหลายด้วย
         พิธีกรรมเกี่ยวกับการลอยกระทงนี้  นอกจากจะมีความสำคัญทั้งในราชสำนักและในชุมชนต่าง  ๆ  
มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  กรุงศรีอยุธยา  และยังปฏิบัติต่อเนื่องสืบมาถึงกรุงธนบุรี  และจนถึงสมัยกรุง
รัตนโกสินทร์  ดังพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า  
"การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้  เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วไป  ไม่เฉพาะแต่
การหลวง  แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้  ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์  พิธีพราหมณ์อื่นใดเกี่ยวเนื่อง
ในการลอยพระประทีปนั้น  เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคำว่าลอยโคมลงน้ำ  เช่นกล่าวมาแล้วแต่ควร
นับว่าเป็นราชประเพณี  ซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ..."
         ปัจจุบันการลอยกระทงได้กลายเป็นประเพณีที่ชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคถือปฏิบัติกันทั่วไป  จนเป็น
ที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทย  แต่ละภูมิภาคต่างก็มีประเพณี
ปฏิบัติตามวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อของท้องถิ่นนั้น  ๆ  กระทงที่นำมาลอยส่วนใหญ่มักจะประดิดประดอย
เป็นรูปดอกบัวบานอย่างสวยงามด้วยวัสดุซึ่งหาได้ในท้องถิ่น  เมื่อถึงเวลาพลบค่ำ  บรรดาผู้คนต่างนำ
กระทงที่เตรียมไว้มาปักดอกไม้  จุดธูปเทียน  แล้วปล่อยให้ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ  บางคนก็ตัดเล็บ
ตัดผมใส่ลงไปด้วย  เพื่อให้ทุกข์โศกโรคภัยและเคราะห์ร้ายต่าง  ๆ  ได้ลอยไปพร้อมกับกระทง  บางคน
ก็ใส่เงินบาทลงไปในกระทงเพื่อเป็นการให้ทานคนด้วย  ในขณะที่ลอยกระทงบางคนโดยเฉพาะคน
หนุ่ม  ๆ  สาว  ๆ  ก็อธิษฐานเสี่ยงทายหรือขอพรให้ได้สมหวังในเรื่องต่าง  ๆ  รวมทั้งเรื่องความรักด้วย
         ลอยกระทงเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย  ซึ่งมีการปฏิบัติตามความเชื่อของแต่ละ
ท้องถิ่นเช่น  เพื่อให้ความเคารพและขอบคุณน้ำที่อำนวยประโยชน์ต่าง  ๆ  ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์  
รวมทั้งเป็นการขอขมาน้ำที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์หรือทำความเสียหายแก่น้ำเช่น  ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงน้ำ  หรือ
ลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์
         วันเพ็ญเดือนสิบสองปีมะแมนี้  กิจกรรมบนเวทีได้จัดให้มีที่บริเวณลานหน้าอาคาร  18  สถาบัน
วัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  รวมทั้งกิจกรรมการประกวดนางนพมาศ  ประกวดหนูน้อยนพมาศ  และ
การประกวดกระทงทั้งประเภทสวยงามและประเภทความคิด  ส่วนสถานที่ลอยกระทง  มหาวิทยาลัยได้
จัดสถานที่ให้ลอยกระทงที่คลองสองร้อยปีบริเวณสะพานสหัสวรรษ
         บรรยากาศค่ำคืนวันเสาร์ที่  8  พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา  งานได้เริ่มประมาณเวลา  19.30  น.  
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อำภา  บุญช่วย  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์  ให้เกียรติเป็นประธาน
ในพิธีเปิด  โดยมีรองศาสตราจารย์ระวีวรรณ  ชอุ่มพฤกษ์  ผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กัลยาณิวัฒนา  โดยท่านประธานได้กล่าวเปิดแล้วได้ตีฆ้อง  3  ที  เป็นการเปิดงานในค่ำคืนนี้  ต่อจากนั้น
ก็ได้ชมการแสดงชุดนิรมิตนาฏการสืบสานกระทงไทย  จากคณะศิลปกรรมศาสตร์  เป็นการแสดงชุด
พิธีเปิด
         สีสันของค่ำคืนนี้เห็นจะเป็นการประกวดนางนพมาศ  ซึ่งมีผู้เข้าประกวดถึง  11  คน  มีกองเชียร์  
พรรคพวกเพื่อนฝูงที่มาร่วมเชียร์กันเป็นจำนวนมาก  ผลปรากฏว่าผู้ที่ชนะใจกรรมการได้เป็นนางนพมาศ
ในปีนี้คือ  นางสาวเนตรนภา  ผลากิจ  นักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  และบรรยากาศในการเชียร์ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน  เห็นจะได้แก่
การประกวดหนูน้อยนพมาศ  ที่มีหนูน้อยนพมาศสมัครเข้าร่วมประกวดถึง  16  คน  มีบรรดาพ่อแม่
ผู้ปกครองและกองเชียร์มากมาย  ช่วยกันเชียร์และลุ้นหนูน้อยของตน  ผลการประกวดหนูน้อยนพมาศ
ที่ชนะใจคณะกรรมการคือ  เด็กหญิงซูไลดา  เจะบือราเฮง
         นอกจากนี้บนเวทียังมีชุดการแสดงตระการตาที่สลับกับกิจกรรมการประกวด  เป็นการแสดงจาก
ชมรมนาฏศิลป์ไทยและดนตรีไทย  ในชุดทักษิณลีลาจากโรงเรียนสาธิต  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ในชุดระบำกีปัสราหนะ  และการแสดงชุดที่เรียกเสียงฮือฮาจากผู้ชมได้เป็นอย่างมาก
คือ  การแสดงจากนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์  ในชุด  “แม่ค้า”  ที่มีสีสันของความสนุกสนานเฮฮา  
ตลอดช่วงของการแสดง
         ส่วนในเต็นท์ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเวทีการประกวดนางนพมาศและหนูน้อยนพมาศ  ก็มีการประกวด
กระทง  ซึ่งแบ่งเป็น  2  ประเภทคือ  การประกวดกระทงประเภทสวยงามและกระทงประเภทความคิด  
ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือจากบุคลากรและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยและบุคคลใน
จังหวัดปัตตานีเป็นจำนวนมาก  ผลการประกวดกระทงชนะเลิศประเภทสวยงาม  เป็นกระทงจากวิชาเอก
คหกรรมศาสตร์  และการประกวดกระทงประเภทความคิด  ผลการประกวดรางวัลชนะเลิศเป็นกระทงจาก
วิชาเอกเทคโนโลยีการศึกษา  ซึ่งทั้งสองรางวัลเป็นผลงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ที่ได้แสดงฝีมือและความคิดอย่างเต็มที่
         นอกจากนี้ภายในบริเวณงาน  ยังมีการแสดงหนังตะลุงของคณะหนังอาจารย์จรัส  ชูชื่น  ศ. พร้อมน้อย
ตะลุงสากล  เป็นคณะหนังตะลุงที่เกิดจากการรวมตัวของบุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ที่มีความรู้ความสามารถ  มีความสนใจและรักษ์ในศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน  บรรยากาศ
หน้าโรงหนังมีผู้คนให้ความสนใจนั่งชมหนังตะลุงกันอย่างสนุกสนาน  ฝนฟ้าก็เป็นใจไม่ตกลงมาทำลาย
บรรยากาศพื้นบ้านที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้  พร้อมกันนั้นบริเวณงานยังมีร้านค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม
ให้สามารถเลือกซื้อกันมารับประทานจำนวนหลาย  ๆ  ร้าน
         บรรยากาศในค่ำคืนวันนั้นมีความสนุกสนานรื่นเริง  จากคำบอกเล่าของผู้ที่ได้มาเที่ยวชมงานประเพณี
ลอยกระทงของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ในทุกปี  “แม้จะมีเสียงลือเสียงเล่า
อ้างว่าเหตุการณ์ไม่ค่อยปกติ  แต่งานลอยกระทงในมหาวิทยาลัยก็ยังมีผู้คนมาเที่ยวชมจำนวนมาก”  ผู้คน
ยังให้ความไว้วางใจกับการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยมากเหมือนเดิม  ค่ำคืนวันนี้
จึงเป็นค่ำคืนของความสุขสนุกสนาน  พร้อมกันกับการร่วมลอยกระทงที่บ้างมาเป็นคู่  บ้างมาเป็นครอบครัว
ดูแล้วอบอุ่นน่ารัก  และในนามของเจ้าภาพในการจัดงาน  สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  จึงต้องการ
รักษาภาพวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม  ความสนุกสนาน  รื่นเริง  ความมั่นใจ  และความอบอุ่นน่ารักแบบนี้
ไว้ตลอดไป

                                                          **************************************
โดย : * [ วันที่ ]