: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 12 ประจำเดือน 12 2546
หัวข้อข่าว : สามทศวรรษ ม.อ. ปัตตานี กับอีกความหวังของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายละเอียด :
         มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ก่อกำเนิดขึ้นในคลื่นระลอกที่มีการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษา
ในส่วนภูมิภาค  ในช่วงต้นพุทธศักราช  2500  นั้นคือ  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  
และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  หรือ  ม.อ.  ตามลำดับ  เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาบน
พื้นแผ่นดินที่มีความหลากหลายในเชิงสังคมและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ได้พัฒนาเป็น
อย่างมากทั้งด้านวัตถุ  บุคคล  ผลงาน  และฐานความคิดด้วยเป้าหมายอันแน่วแน่ที่จะทำให้สถาบันแห่งนี้
เป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับประเทศและนานาชาติ  พัฒนาจังหวัดทางภาคใต้
         หากจะย้อนไปในวันที่  9  พฤศจิกายน  2511  ซึ่งเป็นวันแรกที่คณะอาจารย์  นักศึกษาของ
มหาวิทยาลัยแห่งนี้เดินทางมาถึงตำบลรูสมิแล  อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  เพื่อการจัดการเรียน
การสอนในระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการนั้น  ก็อาจถือได้ว่าวันที่  9  พฤศจิกายน  คือวันแรกแห่ง
การเริ่มต้นการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ณ  ดินแดนใต้บนเนื้อที่พันกว่าไร่  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  ได้ก่อตั้งขึ้น  ณ  ตำบลรูสมิแล  อำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  เมื่อปี  2509  โดยใช้
ชื่อว่า  “มหาวิทยาลัยภาคใต้”  ต่อมาคณะกรรมการดำเนินการก่อตั้งมหาวิทยาลัย  ได้นำความ
กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อให้แก่มหาวิทยาลัย  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ  พระราชทานชื่อ  “สงขลานครินทร์”  อันเป็นพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  
อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก  และได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่  13  มีนาคม  2511  มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้วันที่  13  มีนาคม  
ของทุกปีเป็น  “วันสถาปนามหาวิทยาลัย”  ผลของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย  ณ  ตำบลรูสมิแล  หรือสนเก้าต้น
นี้เอง  ได้เปลี่ยนโฉมหน้าและชีวิตของชาวปัตตานีจากสภาพชุมชนที่หงอยเหงา  กลายเป็นเมืองคึกคัก
มีชีวิตชีวา  การเศรษฐกิจก็ขยายตัวตามการศึกษา  จากแหล่งโคลนตมตำบลรูสมิแลได้เปลี่ยนสภาพ
เป็นตำบลที่มีค่าทางเศรษฐกิจสูง  ชาวปัตตานีรู้สึกภาคภูมิใจในสถาบันอันมีบทบาทยกฐานะทางการศึกษา
และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวใต้ให้ดีขึ้น
         36  ปี  หรือสามทศวรรษ  ของการทำหน้าที่ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาประจำภูมิภาค
ภาคใต้  เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตบริการวิชาการแก่ชุมชนและแสวงหาคำตอบให้กับปัญหาต่าง  ๆ  ที่เกิดขึ้น  
ทั้งทางวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่  พัฒนาด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรม  การให้การศึกษา
เพื่อพัฒนากำลังคน  การให้บริการทางวิชาการ  เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินชีวิตของประชาชนในจังหวัด
ภาคใต้ดีขึ้น  การพัฒนาชนบทที่อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ  ซึ่งเกี่ยวโยงกับภูมิปัญญาชาวบ้าน  
ทัศนคติวัฒนธรรม  ความเชื่อผนวกเข้าด้วยกัน  ล้วนแต่เป็นบทบาทอันสำคัญของมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  ที่ดำเนินการตลอดเวลาที่ผ่านมา
         ณ  ดินแดนสนเก้าต้นนี้เองถ้าได้ย้อนความรู้สึกไปเมื่อ  36  ปีที่แล้ว  อาจารย์ปราโมทย์  
กระมุท  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  (เกษียณอายุราชการ)  เล่าถึงวันแรกที่มาถึงว่า  “ผมมา
กับรถตู้ก่อน  พร้อมกับอาจารย์มะเนาะ  ยูเด็น  (เกษียณอายุราชการ)  อาจารย์ณงณาถ  สถาวโรดม  
มาดูความพร้อมก่อน  แล้วก็มีอาจารย์และนักศึกษาตามมา  วันนั้นได้รับการต้อนรับอย่างดีจากทางราชการ
และชาวบ้าน”  ผศ. ประพันธ์  วิเศษรัฐกรรม  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ในฐานะนักศึกษรุ่นแรก
ที่มาถึงปัตตานีในวันนั้นเปิดเผยว่า  “พวกเราสนุกกันมากได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี  ชาวบ้านตื่นเต้น  
พวกเราเรียน  เขาก็มายืนแอบดู”
         รศ. ผดุงยศ  ดวงมาลา  รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  
เปิดเผยว่าท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมอย่างรวดเร็วของวิทยาการ  วัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  
หรือค่านิยม  มหาวิทยาลัยในฐานะแหล่งรวมของภูมิปัญญาระดับสูง  ย่อมมีหน้าที่จะต้องเป็นผู้นำพาสังคม
ให้ก้าวไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมั่นคง  มีสติ  รู้เท่าทัน  สามารถมีสติปัญญาเพียงพอ
สำหรับการแข่งขันและเอาตัวรอดเพื่อให้ชาติ  ภูมิภาค  ชุมชน  และคนในสังคมทุกคน  สามารถจะยืนอยู่
ท่ามกลางกระแสคลื่นของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างมั่นคง  มีเอกลักษณ์  มีจริยธรรม  
เข้มแข็งและมีศักดิ์ศรี  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยภูมิภาคได้รับการคาดหวังให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและ
พัฒนาสังคมมากขึ้น  จึงกำหนดภารกิจหลักสี่ประการที่มหาวิทยาลัยต้องกระทำและเพื่อให้การใช้
ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุด  ได้ทุ่มเทความสนใจในเรื่องศาสตร์  ด้านบริหารจัดการ
องค์กรให้กับบุคลากรทุกฝ่ายทุกระดับ  ทำให้ผลงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้ตั้ง
เป้าหมายเพื่อการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการของมหาวิทยาลัยว่า  ผลิตผลและบริการต่าง  ๆ  จาก
มหาวิทยาลัยย่อมมีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่สังคมคาดหวัง  ตลอดระยะเวลา  36  ปีที่ผ่านมา  
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ได้ผ่านช่วงแรกของการพัฒนาคือการจัดตั้งและเสริม
สร้างคณะวิชาต่าง  ๆ  เพิ่มขึ้นพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  
และในระยะต่อมาได้เพิ่มบทบาทในการบริการวิชาการแก่สังคม  ควบคู่
การจัดตั้งคณะวิชาที่เป็นความ
ต้องการของภูมิภาคและประเทศชาติ  อีกทั้งได้ก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติและมหาวิทยาลัยที่
เน้นการวิจัยมากขึ้น
         ด้านการวิจัยและบัณฑิตศึกษา  มหาวิทยาลัยเน้นการวิจัยที่ใช้การเจริญเติบโตและความ
เข้มแข็งของบัณฑิตศึกษาเป็นฐานสำคัญ  งานวิจัยของบัณฑิตและคณาจารย์ต้องให้สอดคล้อง
กับความต้องการของประเทศและชุมชน  ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น  ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยได้เลือก
สาขาวิชาที่จะสนับสนุนให้เกิดความเป็นเลิศคือ  สาขาวิชาเทคโนโลยียาง  
สาขาวิชาอิสลามศึกษา
         ด้านการจัดการเรียนการสอน  มหาวิทยาลัยมีแผนที่จะผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความ
ต้องการของการพัฒนาประเทศชาติ  เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ  ยึดมั่นการกระจาย
โอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในภาคใต้  ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส
         ด้านการบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยยังคงเน้นการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนผู้ด้อยโอกาส
อย่างต่อเนื่อง  จัดให้มีการสร้างอาชีพ  การจัดการชุมชนให้เข้มแข็งสามารถช่วยตนเองได้และมีความยั่งยืน
         ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยตระหนักถึงโอกาสที่ตั้งอยู่ในภาคใต้
อันเป็นท้องถิ่นที่อุดมด้วยศิลปะและวัฒนธรรมและความเข้มแข็งทางศาสนา  อีกทั้งความใกล้ชิด
กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย  อินโดนีเซีย  นับเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทาง
วัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคใต้  โดยการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์  สถาบัน
วัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา  
เป็นต้น
         รองอธิการบดี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ยังได้กล่าวอีกว่า
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ยังได้จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงปี  2545
ถึงปี  2549  โดยได้กำหนดให้สาขาวิชาอิสลามศึกษา  มีความเข้มแข็งทางวิชาการทั้งด้านการสร้างองค์
ความรู้โดยกระบวนการวิจัยและการเรียนการสอน  เป็นศูนย์กลางของการศึกษาทางด้านอิสลามศึกษา
ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้เพิ่มหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี  
ปริญญาโท  และปริญญาเอก  จัดสรรทรัพยากรสนับสนุนตลอดทั้งโครงการเป็นเงินทุนประมาณ  65,601  ล้าน
บาท  ในการเตรียมความพร้อมทั้งด้านหลักสูตร  บุคลากร  และนักศึกษา  นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  
วิทยาเขตปัตตานี  ยังส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาเทคโนโลยียาง  มีบัณฑิตที่ออกไปรับใช้
สังคมรวม  13  รุ่น  รวมทั้งสิ้น  183  คน  ส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาง
และพอลิเมอร์  สถาบันการศึกษา  และหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียาง
และพอลิเมอร์
         ปัจจุบันบทบาทของมหาวิทยาลัยในกระบวนการวิเทศสัมพันธ์มีการพัฒนาในเชิงรุกและเชิงรับ
อย่างมีทิศทาง  เพื่อสร้างกลไกในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาและความเป็นเลิศทาง
วิชาการสู่มาตรฐานสากลและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาภูมิภาค  กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือและ
การได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการอย่างเป็นทางการและ
ไม่เป็นทางการ  โดยระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างประเทศมีข้อตกลงความร่วมมือ
กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รวมทั้งสิ้น  74  ฉบับ  18  ประเทศ  เป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันใน
ประเทศออสเตรเลีย  15  แห่ง  ฝรั่งเศส  13  แห่ง  สหราชอาณาจักร  9  แห่ง  จีน  7  แห่ง  อเมริกา  
6  แห่ง  ญี่ปุ่น  5  แห่ง  นิวซีแลนด์  แคนาดา  เดนมาร์ก  เยอรมัน  เกาหลี  ออสเตรีย  อินโดนีเซีย  อิตาลี  
ฟิลิปปินส์  โปรตุเกส  เวียดนาม  และมาเลเซีย  ประเทศละ  1 – 3  แห่ง  สำหรับในปี  2542 – 2544  
มหาวิทยาลัยหรือสถาบันต่างประเทศมีข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เพิ่มขึ้นจากที่ผ่านมาจำนวน  21  ฉบับ  10  ประเทศ  เป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันในประเทศจีน  8  แห่ง  
ฝรั่งเศส  3  แห่ง  ออสเตรเลียและอเมริกา  ประเทศละ  2  แห่งและอื่น  ๆ  อีกประเทศละ  1  แห่ง
         ต่อคำถามที่ว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  มีสภาพเป็นพหุวิทยาเขตและวิทยาเขตปัตตานี
เป็นหนึ่งในพหุวิทยาเขตนั้น  รศ. ผดุงยศ  ดวงมาลา  กล่าวในฐานะรองอธิการบดี  มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ว่าอันที่จริงปัญหาการบริหารมหาวิทยาลัยหลายวิทยาเขต
ก็เป็นที่รับรู้กันทั่วไป  เช่น  ปัญหาความไม่คล่องตัว  ปัญหาการจัดการทรัพยากร  และปัญหา
วิทยาเขตนิยม  แต่ทั้งนี้ความเป็นพหุวิทยาเขตของสงขลานครินทร์ก็มีเอกลักษณ์ตรงที่ว่า  แต่ละ
วิทยาเขตมีจุดเน้นทางวิชาการที่แตกต่างกัน  โดยเฉพาะวิทยาเขตปัตตานีจะค่อนข้างหนักไปทางสังคม
ศาสตร์  ภาษาศาสตร์ที่เข้มแข็ง  วิทยาลัยอิสลามศึกษาที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาทางด้านอิสลาม
ศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  และมุ่งไปในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยให้เหมาะสม
กับความต้องการของท้องถิ่นและสภาพท้องที่  เช่น  วิชาทางด้านโพลิเมอร์  
ประมง  เป็นต้น  ซึ่งนับว่า
เป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละแห่งพัฒนาความเชี่ยวชาญของตนไปได้  โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องจะถูก
กล่าวหาว่าทำงานซ้ำซ้อนมากนัก  ในขณะเดียวกันก็มีความตระหนักว่าทุกวิทยาเขตยังต้องผูกพัน
กันอยู่  เพื่อให้มีความเป็นมหาวิทยาลัยโดยสมบูรณ์  ซึ่งในส่วนนี้ได้พยายามแก้ไขโดยการสร้างความ
คล่องตัวและความมีอิสระในการดำเนินงานในแต่ละวิทยาเขต  สร้างความสัมพันธ์และประโยชน์ร่วมกัน  
โดยวิธีนี้เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมข้อดีและลดข้อเสียของสภาพพหุวิทยาเขตลงได้  และจำให้มหาวิทยาลัย
สามารถมีรูปแบบและวิธีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาพพิเศษของภาคใต้เป็นอย่างดี
         36  ปี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  เป็น  36  ปีแห่งความมุ่งมั่นที่จะ
พัฒนาการสร้างผลงานในเชิงคุณภาพ  สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และการก้าวสู่
ความเป็นเลิศทางวิชาการ  ล้วนเป็นจินตภาพหรือวิสัยทัศน์ที่มหาวิทยาลัยต้องยึดมั่นและเป็นจุดร่วม
ของความพยายามให้บรรลุเป้าหมายและสามารถที่จะพัฒนาไปสู่วิสัยทัศน์
ที่มหาวิทยาลัยคาดหวังไว้
ได้ในอนาคต

                                                            *****************************

โดย : * [ วันที่ ]