รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีศูนย์วิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นผู้ประสานงาน ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ
กลุ่มเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง แผนแม่บทโครงการ
ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ปี 2547 2549
ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และหมู่บ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2546
การสัมมนาดังกล่าวได้มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคือ คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ กรมประมง ตำรวจน้ำ กองทัพเรือ สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น
และตัวแทนชาวประมงและชุมชนชายฝั่งจาก
2 จังหวัด เพื่อมาร่วมกันอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอข้อคิดเห็น ซักถามเกี่ยวกับร่างแผนแม่บทโครงการฟื้นฟู
ทรัพยากรชายฝั่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์กุ้งกุลาดำ 2,200,000 ตัว และปลูกป่า
ชายเลนที่หมู่บ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้มากกว่า 1,000 คน ในการนี้
หน่วยวิจัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แผนกวิชาเทคโนโลยีการประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมสมทบ
พันธุ์กุ้งกุลาดำ 200,000 ตัว สำหรับกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในวันดังกล่าว
ในช่วงของการชี้แจงและร่วมอภิปรายแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ปี 2547 2549 จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น นักวิชาการของคณะ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือ ผศ. นุกูล รัตนดากุล และ ดร. ซุกรี หะยีสาแม ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ตลอดรายการ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องสถานการณ์
ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัญหาของชาวประมงทั้งสองจังหวัด แนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนได้รับ
ข้อเสนอแนะมากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงร่างแผนแม่บทสำหรับการจัดการดูแลและฟื้นฟูต่อไป
นอกจากนั้นยังได้มีการพูดคุยและปรึกษาหารือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ ถึงความเป็นไปได้ที่จะให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้เข้าร่วมดำเนินการ
ในบางส่วนของโครงการนี้ และให้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทฉบับจริง พร้อมทั้งแผนปฏิบัติการ ซึ่งรายละเอียด
จะมีการพูดคุยกันต่อไป โดยที่เป้าหมายหลักของแผนแม่บทนี้คือ การฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรชายฝั่งให้คง
ความอุดมสมบูรณ์ และการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนชายฝั่งให้ดีขึ้น
*******************************
|