มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรมวันรูสมิแลเพื่อรำลึกถึงวันที่บุคลากรและนักศึกษา
คณะแรกเดินทางมาอยู่ที่ตำบลรูสมิแล ซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511
โดยมีกิจกรรมพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นข้าราชการและลูกจ้างดีเด่น ประจำปี 2546 เลี้ยงอาหาร
กลางวันแก่คนชรา ณ บ้านพักคนชราจังหวัดยะลา มอบอาหารแห้งแก่เด็กนักเรียนศูนย์รับเลี้ยงเด็กกำพร้าและยากจน
บ้านบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มอบอาหารแห้งแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัด
ปัตตานี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2546 ได้ทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์
จำนวน 36 รูป ณ บริเวณหน้าสำนักงานอธิการบดี (พร้อมทั้งนำอาหารไปถวายพระที่วัดมุจลินทวาปีวิหาร) กิจกรรม
กีฬาหมู่บ้าน (5 หมู่บ้าน) ณ อาคารอเนกประสงค์ และงานเลี้ยงสังสรรค์วันรูสมิแล ณ โรงอาหารลานเล
ประวัติวันรูสมิแล
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างที่ตำบลรูสมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2509
และมีสำนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยอยู่ที่อาคารคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบัน
คือคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ในปี 2510 มหาวิทยาลัยได้เปิดรับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นคณะ
แรก และในปี 2511 ก็ได้เปิดรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ โดยใช้อาคารเรียนคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เช่นเดียวกัน เมื่อการก่อสร้างอาคารที่วิทยาเขตปัตตานีแล้วเสร็จเป็นบางส่วน
ในภาคการศึกษาที่ 2 นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์และบุคลากรมหาวิทยาลัย ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่วิทยาเขต
ปัตตานีพร้อมกัน ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2511 ดังนั้นวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปี จึงเรียกกันว่า
วันรูสมิแล ตามชื่อตำบลที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
สำหรับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นข้าราชการและลูกจ้างดีเด่นวิทยาเขตปัตตานี ประจำปี 2546 ซึ่งได้ทำพิธี
มอบเกียรติบัตรเนื่องในวันรูสมิแล เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 ดังนี้
- นางรวีวรรณ ขำพล บรรณารักษ์ ระดับ 6 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานบริการ ฝ่ายหอสมุด
จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เป็นผู้มีความสามารถในหน้าที่การงาน มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ เป็นที่ไว้วางใจ
และได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และผู้ใช้บริการ เป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี ปฏิบัติหน้าที่
และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงด้านบริการสารสนเทศ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มุ่งมั่นพัฒนาวิชาชีพตนเองจนสำเร็จ
การศึกษาบรรณารักษศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี
- นายอิสมาแอ ระนี นักวิชาการเงินและบัญชี ระดับ 6 วิทยาลัยอิสลามศึกษา เป็นข้าราชการที่ยึดมั่น
ในหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติงานในหน้าที่การงานอย่างดีเยี่ยม มีความรับผิดชอบ เสียสละ
มีจิตบริการ มีความซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรมสูง มีความเป็นผู้นำเป็นที่ยอมรับจากผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน
และผู้ใต้บังคับบัญชา ทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยเป็นประธานและกรรมการสหกรณ์หลายแห่ง
ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับชุมชน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนในครอบครัวและชุมชนตลอดจน
บุคคลทั่วไป
- นางณัฐพร อิ่มอุไร เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ระดับ 6 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รับผิดชอบ
งานวิชาการของคณะอย่างดียิ่ง รวมทั้งทำหน้าที่พิเศษเป็นเลขานุการคณบดีมาเป็นเวลา 6 ปี และเป็นผู้จัดการเสวนา
ทางวิชาการประจำสัปดาห์ของคณะ นอกจากนี้ยังสนใจงานด้านคอมพิวเตอร์ จึงทำหน้าที่เป็นเลขานุการฝ่าย
พัฒนาระบบสารสนเทศของคณะ และจัดทำฐานข้อมูลงานวิชาการด้านการเรียนการสอนและวางรูปแบบฐานข้อมูลงาน
กิจการนักศึกษาที่มีคุณภาพและใช้งานได้ในการจัดการคณะอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญ
ในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรของคณะ ผลงานดีเด่นคือการจัดทำฐานข้อมูลงานวิชาการด้านการเรียนการสอน
เพื่อการบริหารของคณะ อยู่ใน Server ของคณะ
- นายจำรัส คงสมบูรณ์ ตำแหน่งนักการภารโรง สังกัดหน่วยซ่อม งานอาคารสถานที่และการซ่อมบำรุงรักษา
เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร มีความตั้งใจปฏิบัติงานและมีความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ ปฏิบัติงานด้วยจิตบริการ
เสียสละ ไม่ย่อท้อ จนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน และยังเป็นผู้คิดพัฒนาปรับปรุงและแก้ไข
งานที่รับผิดชอบอยู่เสมอ ซึ่งเป็นการกระทำที่ช่วยประหยัดงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก
- นายธวัชชัย อดิเทพสถิต นักวิชาการโสตทัศนศึกษา 5 ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักวิทยบริการ
งานที่รับผิดชอบในช่วงที่ผ่านมาคือ การพัฒนาและดูแลระบบ Virtual Classroom (http://vc.pn.psu.ac.th/vcr)
ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 นายธวัชชัย พัฒนาขึ้นมาเองโดยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขึ้นมาให้เป็นโปรแกรมที่อาจารย์
สามารถใส่เนื้อหาเข้าไปได้เอง เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างมาก สามารถแบ่งเบาภาระการสอนของ
คณาจารย์ โดยเฉพาะวิชาพื้นฐานและในส่วนนักศึกษาก็สามารถที่จะเรียนเสริมหรือเรียนเพิ่มเติมได้ตามที่ต้องการ
โดยเรียนเวลาใดก็ได้ตามความต้องการ
ส่วนที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาขึ้น ต่อมาได้มอบหมายให้ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา
สำนักวิทยบริการ เป็นผู้ดูแลระบบแทน
นายธวัชชัย แม้จะไม่ได้ศึกษามาทางสาขาคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ก็ได้พัฒนาตนเอง ศึกษาด้วยตนเอง
จนสามารถสร้างผลงานที่มีคุณประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาเป็นอย่างมาก
*******************************
|