: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 10 ประจำเดือน 10 2546
หัวข้อข่าว : ประเพณีการแต่งงานของชาวไทยมุสลิมภาคใต้
รายละเอียด :
         การสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษามีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาคือการแต่งงาน  
มีคู่ครองที่ผ่านการยอมรับจากสังคม  ขั้นตอนกระบวนการในพิธีแต่งงานของแต่ละสังคมล้วนเป็นไปตามประเพณี
ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของสังคมนั้น  ๆ  แต่โดยกุศโลบายทางธรรมะก็เพื่อให้หนุ่มสาวมีความอดทนในการใช้ชีวิตคู่  
การแต่งงานเป็นเพียงการเริ่มต้นไม่เป็นบทอวสานดังในหนังหรือละคร  เป็นการก้าวเข้าสู่ช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุด
ของความเป็นครอบครัวที่ดีหรือไม่  ขึ้นอยู่กับการเลือกคู่ครองผู้ที่จะก้าวเข้ามาเป็นเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวในวันสำคัญ
ของชีวิต
         วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละสังคมมีส่วนสำคัญต่อการเลือกคู่ครองของหนุ่มสาวในสังคม  ดังเช่นการ
เลือกคู่ครองของหนุ่มสาวของชาวไทยมุสลิมและวัฒนธรรมประเพณีการแต่งงานที่สวยงามตามหลักบัญญัติของ
ศาสนา
         การเลือกคู่ครองของชาวไทยมุสลิมต้องเป็นไปตามศาสนบัญญัติที่ว่า  ต้องแต่งงานกับคนที่เป็นมุสลิม
ด้วยกันเท่านั้น  ในกรณีที่เป็นคนนอกศาสนาจะต้องให้เข้านับถือศาสนาอิสลามเสียก่อน
         การแต่งงานของชาวไทยมุสลิมภาคใต้  มีธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันจนเป็นแบบแผนคือต้องมีการสู่ขอ  
การหมั้น  การจัดการพิธีแต่งงาน  และเมื่อเสร็จพิธีแต่งงานแล้ว  ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติอีกหลายประการซึ่ง
ล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัฒนธรรม
         การแต่งงานของชาวไทยมุสลิมในปัจจุบัน  ประเพณีการแต่งงานของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้  ในส่วน
ของธรรมเนียมปฏิบัติพื้นบ้านอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนบ้าง  เพื่อความสวยงามและทันสมัย  แต่ใน
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ  ยังคงยึดถือปฏิบัติต่อกันมาอย่างเคร่งครัด  ซึ่งมีขั้นตอนต่าง  ๆ  พอจะสรุป
ได้ดังนี้
         การสู่ขอ  ผู้ที่ไปสู่ขอคือมารดาหรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย  ต้องไปสู่ขอกับญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง  
พร้อมของฝากอาจจะเป็นขนมหรือผลไม้ไปด้วย  เมื่อไปเจรจาสู่ขอแล้วฝ่ายหญิงจะไม่ตอบตกลงในตอนนั้น  แต่
จะขอเวลาปรึกษาหารือกับญาติ  ๆ  ประมาณ  7  วัน  เพื่อจะได้หาข้อมูลเกี่ยวกับฝ่ายชายแล้วจะมีคนที่นับถือ
ไปบอกฝ่ายขายในกรณีที่ตกลง  หากไม่ตกลงก็จะเงียบเฉยไป  ให้เป็นที่รู้เอาเอง  เมื่อฝ่ายญาติตกลงแล้ว  
ผู้ใหญ่ฝ่ายชายก็จะไปตกลงรายละเอียดของการแต่งงานอีกครั้งเช่น  วันแต่งงาน  สินสอด  ของหมั้น  และมะฮัร  
ซึ่งมีความแตกต่างจากสมัยก่อนที่เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายชายมาสู่ขอแล้ว  ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงพอใจ  ก็ตกลงเองโดยไม่มี
การปรึกษาหารือลูกสาวหรือใครเลย  ถือเป็นสิทธิ์ของพ่อแม่
         การหมั้น  ตามประเพณีไทยมุสลิมเลือกทำได้  2  ลักษณะ  คือหมั้นก่อนการทำพิธีนิกะห์  (แต่งงานตาม
หลักศาสนา)  หรือหมั้นแล้วทำพิธีนิกะห์  ซึ่งมีผลดีและมีข้อห้ามต่างกันกล่าวคือ  ถ้าหมั้นก่อนแต่งงาน  เจ้าบ่าว
จะถูกต้องตัวเจ้าสาวไม่ได้  จะกระทำกันระหว่างผู้ใหญ่ของทั้ง  2  ฝ่ายเท่านั้น  แล้วจึงแจ้งให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาว
รู้ตัวว่ามีคู่หมั้นแล้ว  หลังจากนั้นจะทำให้การติดต่อกันเป็นไปด้วยความสะดวกคือ  ฝ่ายชายสามารถติดต่อ
กับญาติของฝ่ายหญิงได้โดยไม่ถูกคนครหานินทา  ส่วนการหมั้นหลังพิธีนิกะห์แล้วเจ้าบ่าวสามารถถูกต้องตัว
เจ้าสาวได้  เจ้าบ่าวจึงสวมของหมั้นให้กับเจ้าสาวได้  และสามารถจัดพิธีนั่งบัลลังก์เพื่อให้ญาติทั้ง  2  ฝ่าย  
ร่วมแสดงความยินดีได้อย่างสมเกียรติ
         ขบวนขันหมาก  ขบวนขันหมากที่แห่จากบ้านเจ้าบ่าวไปยังบ้านเจ้าสาวเพื่อประกอบพิธีแต่งงาน  ประกอบ
ไปด้วยขันหมากจำนวนตามที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน  ซึ่งต้องมีจำนวนเป็นเลขคี่  อย่างน้อย  5  ขัน  
ขันหมากสำคัญ  ๆ  คือเงินหรือของ  “มะฮัร”  เป็นสิ่งของที่มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าสาว  ขันหมาก  
ขันพลู  ขันของหมั้น  (ถ้าหมั้นกับแต่งเป็นวันเดียวกัน)  นอกจากนั้นก็เป็นขนมต่าง  ๆ  สำหรับในจังหวัดปัตตานี
จะต้องเพิ่มขันหมากและขันพลู  เพื่อให้แก่โต๊ะอิหม่ามตอนทำพิธีนิกะห์เป็นกรณีพิเศษ
         ส่วนผู้ที่จะถือขันหมากนิยมเลือกคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสมรสหรือเป็นคนที่น่านับถือ  บางราย
เคร่งครัดมาก  ๆ  จะห้ามหญิงหม่ายและสาวแก่ถือขันหมาก
         การนิกะห์  เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของช่วงแต่งงาน  การนิกะห์ต้องประกอบไปด้วย  5  องค์  ได้แก่  วลี
คือ  ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ในหญิงประกอบพิธีสมรส  ต้องเป็นเพศชายที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์  อาจเป็นบิดา  ปู่  
พี่ชาย  หรือน้องชายของหญิงก็ได้  เจ้าบ่าว  พยาน  2  คน  ต้องเป็นมุสลิมที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และบรรลุ
นิติภาวะ  ประธานผู้ทำพิธีนิกะห์และมะฮัร  การทำพิธีนิกะห์ในปัจจุบันนี้ยังเหมือนกับการทำพิธีในสมัยก่อน
         การให้นั่งบัลลังก์  เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว  ญาติเจ้าสาวจะออกมาต้อนรับเจ้าบ่าวและนำ
เจ้าสาวมานั่งบัลลังก์ที่เตรียมไว้  ซึ่งช่วงนั้นจะเป็นเวลากลางคืน  เมื่อเจ้าบ่ายเจ้าสาวขึ้นนั่งบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว  จะ
เชิญญาติมิตรของทั้ง  2  ฝ่าย  มาร่วมแสดงความยินดีและเชิญญาติผู้ใหญ่มาทำพิธีกินสมางัด  โดยนำเอาส้มแขก  
เกลือ  ข้าว  ป้อนให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นสิริมงคล  จากนั้นเชิญญาติผู้ใหญ่จำนวน  3  คน  มาป้อนข้าวเหนียว  3  สี  
(ขาว  แดง  เหลือง)  ไข่  และขนม  ให้กับคู่บ่าวสาว  การป้อนต้องป้อนแต่ละคนจนครบทุกอย่าง  เมื่อญาติผู้ใหญ่
ป้อนจนครบ  3  คนแล้ว  ก็เป็นอันเสร็จพิธี  ไม่มีพิธีมานีซลีมา  (การอาบน้ำชำระมลทิน)  และพิธีปลือป๊ะห์  (สะเดาะ
เคราะห์คู่บ่าวสาว)  อย่างสมัยก่อน
         หลังจากนั้นจะมีการกินเหนียว  (มาแกปูโละ)  เป็นการกินเลี้ยงเพื่อฉลองสมรส  เสร็จแล้วจะมีการส่งตัว
เจ้าสาวเพื่อแสดงการยอมรับว่าเจ้าสาวได้เป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว  แต่เมื่อส่งตัวเสร็จเจ้าสาวต้องกลับมานอน
บ้านตนเองก่อน  ครบ  3  คืน  จึงไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวอีก  3  คืน  หรือแยกครอบครัวออกไป
         ปัจจุบันวิถีชีวิต  การประกอบอาชีพ  และหน้าที่การงานของชาวไทยมุสลิมภาคใต้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป  
ทำให้การแต่งงานของคู่บ่าวสาวหลายคู่มีการจัดพิธีทางศาสนาที่บ้านและมีการเลี้ยงฉลองในโรงแรม  เพื่อความ
สะดวกสบายของญาติมิตรและผู้เป็นเจ้าภาพเอง
         พิธีการแต่งงานของแต่ละวัฒนธรรมประเพณีอาจมีความแตกต่างกันบ้านในแต่ละส่วนของกระบวนการ  
ขั้นตอนของพิธีการแต่งงาน  แต่มีเป้าหมายที่ไม่แตกต่างกัน  ต้องการให้สังคมนั้น  ๆ  รับรู้ว่าสมาชิกในสังคม
กำลังทำหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ของตนด้วยความถูกต้องตามทำนองครรลองธรรมของสังคมนั่นเอง

                                                    **************************************
โดย : * [ วันที่ ]