ชุมชนตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ในปัจจุบันมีภาพแห่งความสวยงามของทรัพยากร
ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านประกอบอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคงแตกต่างไปจากชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดปัตตานีและ
จังหวัดชายแดนภาคใต้อื่น ๆ อีกภาพหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการผสมผสานกันในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ระหว่างชาวบ้านชุมชนที่เป็นชาวพุทธและมุสลิม สิ่งเหล่านี้มิใช่เกิดขึ้นโดยง่ายโดยไม่มีเหตุปัจจัยหรือการพัฒนาการ
แต่ภายใต้ภาพความอุดมสมบูรณ์ที่มองเห็นภายนอก ยังคงมีปัญหาแฝงเร้นอยู่อีกมากที่ต้องแก้ไข พลังผลักดันที่
สำคัญในการแก้ปัญหาอยู่ที่ตัวชุมชนและชาวบ้านเอง พวกเขาต้องสร้างศักยภาพของชุมชนขึ้นมา คนในชุมชน
จะต้องตระหนักในเอกลักษณ์ของตนเอง เข้าใจปัญหาของตนเอง รู้จุดดีจุดอ่อนของตนเองและได้ร่วมกันกำหนดว่า
พวกเราต้องการเดินไปในอนาคตอย่างไร ในการนี้ชาวบ้านต้องรู้จักวางแผนหรือบอกให้ทุกคนรู้ว่าพวกเขามองอนาคต
ของตนเองอย่างไร การวางแผนมีความหมายง่าย ๆ ก็คือการกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาและสามารถ
กำหนดกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาของตนเอง กระบวนการทางสังคมในชุมชน จะทำให้เกิดแผนกลยุทธ์ที่เป็น
แผนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม ศูนย์บริการวิชาการและชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจฐานรากจากทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐในปีงบ
ประมาณ 2545 จนโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เชื่อว่าแผนการและแผนกลยุทธ์นี้จะเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา
ของชาวบ้านตำบลทรายขาวในระยะยาว
โครงการเศรษฐกิจฐานรากทำให้นักวิชาการและชาวบ้านได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของชุมชนและ
หมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านจะร่วมกันเสนอปัญหาและวิเคราะห์ปัญหาที่เผชิญอยู่ ปัญหาที่ชาวบ้านเสนอขึ้นมาอย่าง
กระจัดกระจายจะถูกจัดหมวดหมู่ใหม่ ปัญหาสำคัญที่พบก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ การผลิต การแปรรูปผลผลิต
การส่งเสริมอาชีพ ที่ดินทำกิน พืชผลราคาตกต่ำ ปัญหาการตลาดของผลผลิต แหล่งท่องเที่ยว ปัญหารายได้
น้อยไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาทางสังคม ปัญหาการรวมกลุ่ม ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด
ปัญหาการศึกษาครูและคุณภาพของการสอนและการบริหารโรงเรียนที่ไม่มีการประสานกับชุมชนให้มากเท่าที่ควร
ปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะ ของเสีย และอื่น ๆ
น่าสังเกตว่าปัญหาใจกลางที่สำคัญในชุมชนทรายขาวก็คือ การขาดความร่วมมือกันในชุมชนในการแก้
ปัญหาเศรษฐกิจ การพัฒนาอาชีพ ปัญหาสังคม ปัญหาการศึกษา และปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ชาวบ้านก็มองว่า
ข้อเด่นของทรายขาวคือ การที่ชาวบ้านมีความขยันขันแข็งในการทำงาน แต่ขาดความสามัคคีและความร่วมมือกัน
ในเรื่องส่วนรวม นอกจากนี้จุดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือ การมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และความผสม
กลมกลืนกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม
หลังจากได้มีการมองภาพของตัวเองและเข้าใจจุดดีจุดอ่อนของตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่สำคัญคือการ
ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และวิธีการในการแก้ปัญหาหลักของชุมชนในขั้นการวิเคราะห์กลยุทธ์นี้ สืบเนื่องมาจาก
การที่พบว่าปัญหาใจกลางในทุกกลุ่มปัญหาคือ เรื่องการขาดความร่วมมือ ขาดการประสานสามัคคีหรือขาดการมี
ส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทุกด้านของชุมชน กลยุทธ์ที่พูดกันจึงเป็นการพัฒนาความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน
ชุมชนทรายขาวในทุกด้าน
ดังนั้นข้อสรุปก็คือ ชุมชนตำบลทรายขาวอาจจะเป็นชุมชนที่มีลักษณะทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างไปจาก
ชุมชนภาคใต้อื่น ๆ ในหลายด้าน แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้ก็คือความพยายามในการสร้างอัตลักษณ์ของ
ชุมชน ชาวบ้านมองว่าชุมชนทรายขาวมี ทรัพยากรธรรมชาติ ลมฟ้าอากาศ พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์
ในด้านศาสนา พวกเขามองว่า คนต่างศาสนาอยู่ร่วมกันได้ ทำงานด้วยกันได้ ไม่มีปัญหา และยังมี ผลผลิตดี
ทรัพยากรดี เกษตรมีครบทุกกระบวนการ ในด้านวิถีชีวิตก็ยังมีความสงบสุข ไม่มีการปองร้ายกัน มีจิตใจที่ดี
ต่อกัน แต่ว่าพวกเขาก็ยอมรับว่าชุมชนมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการขาดความร่วมมือและการมีส่วนร่วมใน
การแก้ปัญหาของชุมชนอย่างจริงจัง กลยุทธ์การพัฒนาที่ตกลงกันจึงเป็นเรื่องของการพัฒนาความร่วมมือร่วมใจ
ของชาวบ้านในชุมชน
แผนการพัฒนาชุมชนที่เกิดขึ้นจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนและชาวบ้านทรายขาวได้มีการพัฒนา
อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านต้องการสร้างศักยภาพชุมชนในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา
และสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ชาวบ้านคาดหวังจากแผนก็คือ การพัฒนาความร่วมมือและสร้างจิตสำนึกในการแก้ปัญหา
สิ่งแวดล้อมของชุมชน ร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา การสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาสังคม
ลดปัญหายาเสพติดและแหล่งอบายมุขในชุมชน และสร้างความร่วมมือของชุมชนในการส่งเสริมการตลาด / แปรรูป
และเพิ่มรายได้
การวางแผนคือการมองภาพในอนาคต เป็นจินตนาการที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์มองเห็นภาพในปัจจุบัน
และคาดการณ์ไปถึงอนาคต แต่ความเป็นจริงที่มองเห็นและถูกสร้างขึ้นมาในอดีตจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่ม
หรือชุมชน จะมีผลต่อจินตนาการและความฝันไปสู่อนาคตด้วย กล่าวในอีกนัยหนึ่งภาพอนาคตนั้นจะต้องสะท้อน
ความเป็นจริงอันไม่บิดเบี้ยวที่ถูกกำหนดขึ้นในอดีตและปัจจุบัน แผนจึงมีความสำคัญและมันจะกลายเป็นพลัง
ทางวัตถุก็คือเมื่อ ถูกสร้างขึ้นร่วมกัน ไม่ใช่เป็นผลมาจากผู้ชำนาญการหรือผู้นำเพียงหยิบมือเดียว แผนที่เกิด
จากชุมชนเองคือแผนการพัฒนาที่สะท้อนภาพความจริง แต่มันจะมีความยั่งยืนต่อไปถ้าได้ถูกนำไปใช้โดยผู้มีส่วน
เกี่ยวข้องและตัวของชาวบ้านเอง นี่คือสิ่งที่คาดหวังจากการมองอนาคตของชุมชนทรายขาวแห่งปัตตานี
******************************
|