รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่สำคัญของประเทศ มีพันธกิจในการ
กระจายโอกาสทางการศึกษาสู่ภาคใต้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาในท้องถิ่นให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาและ
มีความเป็นเลิศอย่างแท้จริง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตอบสนองพันธกิจดังกล่าวเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้มาโดยตลอด
จึงเห็นความจำเป็นในการที่จะสื่อให้สังคมเข้าใจและรับรู้การปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยมากขึ้น ด้วยการจัดงาน
ม.อ. วิชาการ (PSU Open Week 2003) เมื่อวันที่ 16 24 สิงหาคม 2546 เพื่อให้สังคมได้มีความ
เชื่อมั่นในผลงานของมหาวิทยาลัย
สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
มีภารกิจในด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของภาคใต้ ได้จัดกิจกรรมโครงการรักษ์ถิ่นฐานกับนิทาน
พื้นบ้านภาคใต้ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาในจังหวัดปัตตานี ได้เห็นความสำคัญของ
นิทาน ตำนาน และความเชื่อในท้องถิ่น นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและให้เห็นกระบวนการสอนและการเรียนรู้ของ
บรรพชนในอดีต
นิทานเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เกิดขึ้นเพราะความต้องการเรียนรู้ความ
เป็นมาเป็นไปของชีวิตและต้องการความบันเทิงใจ มนุษย์จึงใช้ปัญญาและจินตนาการผูกนิทานขึ้นประกอบด้วยเรื่องราว
ที่มีฉากมีตัวละครแสดงความเป็นมาและเป็นไปของชีวิตและสิ่งต่าง ดังนั้นจึงสามารถตอบสนองความสนใจของมนุษย์
ได้เป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกสนุกสนานเมื่อได้ฟังนิทาน เพราะจะนำผู้ฟังเข้าไปสู่โลกอีกโลกหนึ่งเป็นโลกของจินตนาการ
ทำให้ผู้ฟังพบกับความแปลกใหม่ ก่อให้เกิดความสนุกสนาน พ้นความจำเจในชีวิตประจำวันได้ชั่วขณะ
กิจกรรมในวันนั้นมีนักเรียน นักศึกษา มาเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เกือบสองร้อยคน มากันด้วยความตั้งใจ
สนใจหัวข้อเรื่องที่ผู้จัดได้ตั้งไว้ เริ่มกิจกรรมผู้จัดได้เรียนเชิญ พนม นันทพฤกษ์ ซึ่งเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือ
เกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชนภาคใต้ไว้หลายเล่มมาเล่าเรื่องและให้ความรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านภาคใต้ โดยได้บอก
ลักษณะสำคัญของนิทานพื้นบ้านว่ามีหลายลักษณะจำแนกได้ดังนี้
(1) นิทานพื้นบ้านแต่เดิมมาสืบต่อโดยิธีมุขปาฐะคือ เล่าสู่กันฟังและจดจำเล่าต่อ ๆ กันมาเป็นเวลาช้านาน
จนไม่สามารถจะรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มผูกเรื่องขึ้นมา การสืบต่อกันในลักษณะนี้ทำให้นิทานแต่ละเรื่องมีโอกาส
ผิดเพี้ยนไปจากเรื่องเดิมมากขึ้น ทั้งในลักษณะการขาดหาย การเพิ่มเติม และการเปลี่ยนแปลงอนุภาคของเรื่องตาม
สังคม ในระยะหลังจึงได้มีการนำเอานิทานพื้นบ้านมาเขียนขึ้นหรือปรุงแต่งเป็น วรรณกรรมลายลักษณ์
(2) นิทานเล่ากันแต่เดิมด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นร้อยแก้ว มุ่งเอารสของเรื่องมากกว่ารสของคำ
(3) มีลักษณะเป็นเรื่องราวที่มีฉาก มีตัวละคร แสดงพฤติกรรมหรือความเป็นมาและความเป็นไป
ของชีวิตและสิ่งต่าง ๆ และเป็นเรื่องราวที่มนุษย์สร้างขึ้นมา โดยอาจสร้างจากจินตนาการของตัวเอง หรือมีเค้าเรื่องจริง
อยู่ก่อนแล้วนำมาจินตนาการขยายความเสริมต่อให้พิสดารออกไปก็ได้ อาจเป็นภาษิต สำนวน ปริศนาคำทาย ฯลฯ
(4) มีลีลาการดำเนินเรื่องอย่างง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเหมือนวรรณกรรมปัจจุบัน เช่น เมื่อเริ่มเรื่อง
ก็จะเดินเรื่องไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ไม่ค่อยมีการเล่าเรื่องย้อนหลังเหมือนวรรณกรรมบันเทิงรูปแบบใหม่ ๆ
(5) มีเป้าหมายหลักเพื่อความบันเทิงใจของผู้ฟังและอาจมีเป้าหมายอื่น ๆ ที่สอดแทรกไว้ในเรื่องด้วยก็ได้
เช่น เพื่อการสั่งสอนอบรม เพื่อตอบข้อสงสัยบางอย่างแก่ผู้ฟัง
ท่านพนม นันทพฤกษ์ บอกเล่าจนผู้เข้าฟังในห้องประชุมที่เป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 6 และพี่ ๆ
นักศึกษาชมรมหนังสือและวรรณกรรม กลุ่มรวงข้าว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ร่วมพูดคุย
เรื่องหนังสือนิทานกับการเรียนรู้และร่วมสนุกช่วยกันเสริมแต่งนิทาน และพยายามซักถามถึงประเภทเนื้อหาของนิทาน
พื้นบ้านในสังคมภาคใต้ว่ามีกี่ประเภท จนท่านวิทยากรต้องรีบบอกกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า นิทานพื้นบ้านภาคใต้มีเนื้อหา
หลากหลายประเภท แต่ในที่นี้จะขอแยกประเภทคร่าว ๆ ดังนี้
(1) นิทานมุขตลก เป็นนิทานที่มุ่งให้ความบันเทิงใจแก่ผู้ฟังโดยตรง ชาวใต้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน
การปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวันหรือแม้แต่ในวัฒนธรรมบางอย่างจะแฝงลักษณะนี้ให้เห็นอยู่เสมอ นิทานประเภทนี้
จึงเป็นนิทานที่เป็นที่นิยมของชาวใต้มากเป็นพิเศษ และมักมีการจำและเล่าสืบต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน มีการแพร่
กระจายสูงกว่านิทานประเภทอื่น ๆ เช่น นิทานมุขตลกเกี่ยวกับเรื่องเพศ , นิทานมุขตลกเกี่ยวกับลักษณะ นิสัย และ
ความสามารถของตัวละคร และนิทานมุขตลกแบบย้อนผู้ฟัง เป็นต้น
(2) นิทานอธิบาย เป็นนิทานที่มุ่งให้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งและสภาพต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์
สัตว์ พืช และธรรมชาติอื่น ๆ นิทานประเภทนี้เป็นนิทานเก่าแก่ที่เล่าสืบทอดกันมาช้านาน นักเล่านิทานคาดคิดถึง
ความเป็นมาของสิ่งและสภาพต่าง ๆ เอาอย่างง่าย ๆ แล้วเล่าสู่กันฟังและมีการจดจำสืบต่อกันมาเรื่อย เช่น นิทาน
อธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ , นิทานอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์ นิทานเกี่ยวกับธรรมชาติของพืช และ
นิทานอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติอื่น ๆ ทั่วไป เป็นต้น
(3) นิทานเกี่ยวกับสถานที่ตามธรรมชาติ เป็นนิทานอธิบายถึงการกำเนิดของสถานที่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ในท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคใต้ เช่น เกาะ ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง
(4) นิทานเกี่ยวกับความเชื่อต่าง ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในอำนาจเร้นลับต่าง ๆ เช่น ผีสาง นางไม้
เทวดา เจ้าที่เจ้าทาง อำนาจไสยศาสตร์ ซึ่งมีผลต่อความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ทั้งในทางให้โทษและให้คุณ รวมไปถึง
ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาภหรือการได้ทรัพย์สมบัติจากการดลบันดาลของอำนาจเร้นลับเหล่านั้นด้วย เช่น นิทานความเชื่อ
เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ นิทานความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีหรืออำนาจเร้นลับ
(5) นิทานคติ เป็นนิทานที่มีเนื้อหาในทางสั่งสอน อบรม หรือให้คติในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ฟังตามค่านิยมของ
สังคมภาคใต้ ตัวละครในเรื่องมีทั้งเป็นสัตว์ มนุษย์ และอมนุษย์ หรือบางครั้งก็ผสมผสานกันในเรื่องเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็น
เรื่องสั้น ๆ มุ่งให้แนวคิดเกี่ยวกับคติหรือคุณธรรมที่เด่นชัดเพียงอย่างเดียวในเรื่องหนึ่ง ๆ
กิจกรรมในช่วงบ่ายของวันนั้น ได้มีการประกวดการเล่านิทานพื้นบ้านภาคใต้ โดยมีอาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง
จากสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ อาจารย์คำนวณ คำมณี จากภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์
และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และอาจารย์ประไพ แก้วนาวี โรงเรียนโพธิ์คีรีราช
ศึกษา ได้มาร่วมเป็นกรรมการในการตัดสินการเล่านิทาน ซึ่งมีผู้เข้าประกวดการเล่านิทาน 6 โรงเรียน นักเรียน
จำนวน 25 คน แต่ละคนมีวิธีการเล่าโดยการใช้ภาษาถิ่นไทยปักษ์ใต้และภาษามลายูท้องถิ่น มีท่วงทำนองที่ทำให้ผู้ฟัง
มีส่วนร่วมกับจินตนาการนั้นและรู้จักเลือกเนื้อหาที่นำมาเล่าจนผู้ฟังในห้องประชุม นักเรียน นักศึกษา ผู้จัด และคุณครู
ผู้ควบคุมนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดปัตตานี เห็นถึงคุณค่าของนิทานพื้นบ้านนั้นว่ามีมากมายหลายประการ
และได้ช่วยกันสรุปเป็นประเด็นหลัก ๆ ได้คือ
(1) คุณค่าทางปัญญา เป็นเรื่องราวที่ต้องอาศัยความรู้ ความคิด จินตนาการและศิลปะในการสื่อความให้
ประสานกันได้ด้วยดี นิทานทุกเรื่องจึงช่วยฝึกฝนและเสริมสร้างปัญญาแก่ผู้เล่า ผู้ฟัง และผู้ศึกษา เช่น การฝึกปัญญา
ในการผูกเรื่อง การจดจำ การปรับเปลี่ยน และการตีความ
(2) คุณค่าทางการสำเริงอารมณ์ เป็นเรื่องราวที่มีตัวละคนแสดงพฤติกรรมหรือความเป็นมาเป็นไปของ
สิ่งต่าง ๆ จึงเป็นการสนองจิตสำนึกพื้นฐานด้านความบันเทิงและความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ จึงให้ความสนุกสนาน
แก่ผู้ฟังเสมอ
(3) คุณค่าทางสังคมสัมพันธ์ การเล่านิทานทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันในกลุ่มพวกซึ่งอาจเป็นเครือญาติ
เพื่อนฝูง หรือคนอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งจะก่อให้เกิดความสนิทมักคุ้น ความรัก ความเข้าใจกันมากขึ้น อันจะเอื้อประโยชน์
ต่อการอยู่ร่วมกันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
(4) คุณค่าทางการศึกษาศัพท์ สำนวนภาษาถิ่นใต้ ชาวบ้านภาคใต้จะเล่านิทานเล่าสู่กันฟังด้วยภาษาถิ่นใต้
แม้การนำไปเล่าต่อจะมีการปรับสำนวนภาษาไปบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นภาษาถิ่นใต้อยู่ เมื่อมีการฟังนิทานและเก็บ
รวบรวมนิทานเรื่องต่าง ๆ บันทึกไว้ ย่อมทำให้เข้าใจศัพท์สำนวนต่าง ๆ ที่ผู้เล่าใช้และมีประโยชน์ทางการศึกษาภาษา
ต่อไป
(5) คุณค่าในการปลูกฝังค่านิยม ความคิด ความเชื่อของสังคมภาคใต้ นิทานทุกประเภทย่อมก่อให้เกิด
คุณค่าดังกล่าวได้ที่เห็นชัดเจนได้แก่ นิทานประเภทคติสอนใจซึ่งมุ่งปลูกฝังค่านิยมในการดำเนินชีวิตเช่น เรื่องนินทากาเล
ธุระไม่ใช่ ม้าสึกกับนายทหาร ใครบาป
(6) คุณค่าทางการศึกษา สังคมและวัฒนธรรมภาคใต้ นิทานที่เล่ากันในท้องถิ่นภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นนิทานที่มี
กำเนิดในภาคใต้โดยตรงหรือแพร่กระจายมาจากแหล่งอื่นแล้วชาวใต้รับไว้และนำมาเล่าสืบต่อกัน ผู้เล่าสามารถนำมา
เชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพสังคมและวัฒนธรรมภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
วันนั้นเป็นวันที่ผู้ใหญ่หลายท่านที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ตระหนักและเห็นถึงกระบวนการเรียนรู้ของเด็กจาก
นิทานพื้นบ้านภาคใต้ว่า มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนและการรับรู้ของเด็กนักเรียน นักศึกษา สามารถ
นำมาบูรณาการกับเรื่องต่าง ๆ ในอดีตและในยุคปัจจุบันให้เชื่อมโยงกันได้ การพัฒนาประเทศจะเกิดขึ้นได้ตามความ
คาดหวังของผู้ใหญ่ในประเทศนั้น จะต้องเกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ผนวกกับระบบคิด การเรียนรู้ของเด็กในยุคไอที
ให้รู้จักการวิเคราะห์ สังเคราะห์ การย่อย และการเลือกในสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อตัวเองและต่อสังคม นั้นคือ
ภาระหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ได้ให้ไว้กับเด็ก ๆ ในห้องประชุม จัดการกับตัวเองให้ได้ในการดำเนินชีวิตในยุคนี้ เราคุยกันว่า
ขอแค่สิบคนจากเด็กเกือบสองร้อยได้เข้าใจเรื่องที่พวกเราช่วยกันจัดกิจกรรมขึ้นมาเท่านั้นก็พอแล้ว ผู้จัดคิดว่า
กิจกรรมครั้งนี้คือการเริ่มต้นการเรียนรู้ โดยการนำนิทานมาเป็นเครื่องมือ จึงได้วาดหวังไว้ว่าเรื่องดังกล่าวจะสามารถ
นำไปศึกษาวิจัยแบบบูรณาการกับนักเรียน นักศึกษาในกลุ่มนี้และกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป
*******************************
|