ศูนย์บริการวิชาการและชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี ได้ดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจฐานรากจากทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐในปีงบประมาณ
2545 จนโครงการประสบความก้าวหน้าในชุมชนต่าง ๆ ของพื้นที่ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัด
ปัตตานี รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณในปี
2546 สนับสนุนให้ดำเนินการในลักษณะต่อยอดจากโครงการเดิม
ผศ.ดร.เพ็ญพักตร์ ทองแท้ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการระยะที่หนึ่ง เปิดเผยว่า
ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบประมาณปี 2546 ให้ดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจฐานราก เป็น
โครงการต่อยอดในชุมชนเดิมที่เคยทำมาแล้ว ดังนั้นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เห็นว่าชุมชนตำบล
คลองช้างซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเดิมในปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นพัฒนาศักยภาพกลุ่มทอผ้าของ
แม่บ้าน เป็นพื้นที่ซึ่งเหมาะสมน่าจะดำเนินการต่อไปได้ จึงได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ต่อยอดโครงการที่จะ
ทำต่อไปในปีงบประมาณ 2546
ลักษณะของโครงการจะเป็นการพัฒนาทักษะในการทอผ้าไหมของชาวบ้าน ซึ่งโครงการเมื่อปี 2545
เป็นการเริ่มทำพื้นผ้า ชาวบ้านทำได้สวยงามมาก แต่ยังไม่สามารถยกดอกหรือทอลายผ้าที่ซับซ้อนได้ ในปี
2546 จึงได้มีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความสามารถในการทอผ้าให้ได้ยกลายผ้ายากขึ้นและสวยงามขึ้นกว่าเดิม
ในกระบวนการฝึกอบรมและพัฒนาดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้กลุ่มแม่บ้านคลองช้างมีความเข้มแข็งขึ้นและมีความ
สามารถในการจัดการได้มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลโคกโพธิ์ ก็ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการสร้างโรงเรือนใหม่สำหรับ
กลุ่มทอผ้าและมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบไว้แล้วสำหรับโครงการดังกล่าว
เราหวังว่าชุมชนบ้านคลองช้างจะได้มีการพัฒนากลุ่มของตนเองให้เข้มแข็งเช่นเดียวกับชุมชน
ทรายขาว ซึ่งในโครงการนี้เราจะให้วิทยากรจากกลุ่มทอผ้าชุมชนทรายขาวไปช่วยพัฒนากลุ่มแม่บ้านคลองช้าง
ด้วย ผศ.ดร.เพ็ญพักตร์ ทองแท้ กล่าว
ผศ.ดร.สนธยา อนรรฆศิริ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่าคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีพันธกิจหลักในการสร้างบุคลากรใน
สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อประโยชน์
ต่อสังคมทั้งในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การดำเนินการตามพันธกิจดังกล่าวจะสำเร็จได้ก็ต้อง
อาศัยความร่วมมือร่วมใจ ตลอดจนการสร้างสรรค์ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
และชุมชน เพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าไปสู่ระดับชาติและระดับสากลต่อไป
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ได้รับการสนับสนุนจากทบวง
มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาให้มีศักยภาพสูงและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง โดยใช้การ
ถ่ายทอดความรู้และศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาสู่ชุมชน คณาจารย์ และนักศึกษาในคณะฯ ได้ร่วมกัน
ทำงานกับประชาชนในตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้อย่างดี
*********************************
|