: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 08 ประจำเดือน 08 2546
หัวข้อข่าว : 30 ปี ทบวงมหาวิทยาลัยสู่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประวัติทบวงมหาวิทยาลัย
รายละเอียด :
         การจัดการอุดมศึกษาของไทยได้เริ่มมาแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและ
อุดมศึกษาสมัยนั้นมีหลากหลายเช่น  โรงเรียนกฎหมาย  โรงเรียนแพทย์  และโรงเรียนข้าราชการพลเรือน  
เป็นต้น  ซึ่งต่อมาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รับการยกฐานะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อันเป็น
มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย  จากนั้นได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งอื่น  ๆ  ขึ้นอีกได้แก่  มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และมหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัย
เหล่านี้สังกัดอยู่ในกระทรวงต่าง  ๆ  เช่น  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  มหาวิทยาลัย
แพทยศาสตร์  สังกัดกระทรวงสาธารณสุข  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สังกัดกระทรวงเกษตร  เป็นต้น
         จนถึงปี  พ.ศ. 2502  รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์  เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้ตราพระราชบัญญัติโอนมหาวิทยาลัยทุกแห่งไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เนื่องจากได้มี
พระราชบัญญัติจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  และเห็นว่าการที่
มหาวิทยาลัยแยกกันอยู่ต่างกระทรวงเป็นเรื่องยากลำบากในการปกครองและการสร้างมาตรฐานการศึกษา  
การโอนมารวมอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งหมด  จะเป็นการสะดวกในการดำเนินการทั้งในด้านวิชาการและ
ธุรการ  และจะบรรลุตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ  เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อการเร่งรัด
การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้น
         ในปี  พ.ศ. 2514  สภาการศึกษาแห่งชาติและที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ  ได้ร่วมกัน
เสนอความเห็นต่อจอมพลถนอม  กิตติขจร  หัวหน้าคณะปฏิวัติ  ว่ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีอิสระใน
การปกครองตนเอง  มีเสรีภาพทางวิชาการในการถ่ายทอดและแสวงหาความรู้โดยถือหลักความเป็นเลิศทาง
วิชาการ  จึงควรแยกมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการเป็นมหาวิทยาลัยกำกับของรัฐบาล  หากไม่สามารถ
ดำเนินการได้  ควรจัดตั้งทบวงอิสระหรือทบวงในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เพื่อเป็นหน่วยงานต้นสังกัด
ของมหาวิทยาลัยต่าง  ๆ
         ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับการจัดตั้งโดยประกาศคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  216  ลงวันที่  29  กันยายน  
2515  ในชื่อทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ  ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  มีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการและกำกับ
การศึกษาของรัฐในระดับอุดมศึกษา  นอกเหนือจากที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ  ดังนั้นวันที่  
29  กันยายน  2515  จึงเป็นวันสถาปนาทบวงมหาวิทยาลัย  นอกจากนี้ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  320  
ลงวันที่  13  ธันวาคม  2515  กำหนดระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย  มีอำนาจในการกำหนด
นโยบายและแผนการจัดการศึกษา  กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาและการบริหารงานบุคคล  
พิจารณาการเสนอและพิจารณาอนุมัติการจัดตั้ง  ยุบรวม  และเลิกศูนย์ประสานงานด้านการจัดการศึกษา
ระหว่างมหาวิทยาลัย  เป็นต้น  ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจหน้าที่แตกต่างจากกระทรวงและทบวงอื่น  ๆ  
ที่ไม่ได้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้โดยเฉพาะ
         ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตรา  “วชิระ”  อันเป็นตราประจำทบวง
มหาวิทยาลัย  เนื่องจากพระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ให้กำเนิดและบุกเบิกการอุดมศึกษาของ
ประเทศไทย  ตราพระราชทานนี้จึงหมายถึง  ทบวงมหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบการอุดมศึกษาของประเทศไทย
         สีประจำทบวงมหาวิทยาลัยคือ  สีม่วง – สีน้ำเงิน
         สีม่วง  คือสีประจำวันเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
         สีน้ำเงิน  คือสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์
         ตราประจำทบวงมหาวิทยาลัยคือ  ตราวิชระ  เป็นรูปวงกลม  สีเส้นรอบวง  3  เส้น  ภายในวงกลมตรงกลาง
เป็นรูปวชิระ  ซึ่งเป็นตราประจำองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ข้างวงกลมด้านในมีลายกนก  3  ชั้น  
เริ่มจากฐานด้านวชิระโค้งไปจนเกือบจรดปลายแหลมของวชิระ
         ในปี  พ.ศ. 2520  รัฐบาลสมัยนายธานินทร์  กรัยวิเชียร  เป็นนายกรัฐมนตรี  ได้ตราพระราชบัญญัติ
เปลี่ยนชื่อทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ  เป็นทบวงมหาวิทยาลัย  เนื่องจากมีการโอนงานกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา
เอกชนจากกระทรวงศึกษาธิการมาอยู่ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยด้วย  และให้ยกฐานะเป็นทบวงอิสระ  มีฐานะ
เทียบเท่ากระทรวง  ไม่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี  เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานและได้
ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ  ฉบับที่  320  โดยตราพระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวง
มหาวิทยาลัย  พ.ศ. 2520  ขึ้นแทน  เพื่อให้ทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษา
ที่เป็นของรัฐและเอกชนในสังกัดด้วย
         ต่อมาพระราชบัญญัตินี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี  พ.ศ. 2537  เพื่อให้มีอำนาจครอบคลุม
มหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและอยู่ภายใตการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย  
ซึ่งปัจจุบันได้ตั้งขึ้นแล้ว  4  แห่งคือ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  มหาวิทยาลัย
เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
ธนบุรีเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพจากสถาบันที่เป็นส่วนราชการ  ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ
ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งที่เป็นส่วนราชการออกจากระบบราชการ
         ปัจจุบันในปี  พ.ศ. 2546  มีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและในกำกับทบวงมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น  78  แห่ง  
โดยแยกเป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยรวม  20  แห่ง  มหาวิทยาลัย
ของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย  รวม  4  แห่ง  มหาวิทยาลัย / สถาบัน  และวิทยาลัยเอกชน
รวม  54  แห่ง
สู่…สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
         สืบเนื่องจากการที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  ได้ประกาศใช้โดยประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  116  ตอนที่  74  ก  วันที่  19  สิงหาคม  2542  ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ
ฉบับนี้ก็คือ  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2540  กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้
เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม  จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ  ปรับปรุงการศึกษา
ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง
เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  สนับสนุนการค้นคว้า
วิจัยในศิลปวิทยาการต่าง  ๆ  เร่งรัดการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ  พัฒนาวิชาชีพครู  
และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ  รวมทั้งในการจัดการศึกษาของรัฐให้คำนึงถึงการมี
ส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นและเอกชนตามที่กฎหมายบัญญัติ  และให้ความคุ้มครองการจัดการศึกษาอบรม
ขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ  จึงควรมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติเพื่อ
เป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและจัดการศึกษาอบรม  ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย  โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติให้มีการหลอมรวมหน่วยงานด้านการศึกษาเดิมได้แก่  
กระทรวงศึกษาธิการเดิม  ทบวงมหาวิทยาลัย  และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี  
เข้าด้วยกันรวมขึ้นเป็นกระทรวงใหม่ชื่อว่า  กระทรวงการศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม  โดยมีโครงสร้างในการ
แบ่งส่วนราชการในรูปของคณะกรรมการชุดต่าง  ๆ  กำกับดูแลการศาสนาและวัฒนธรรม  การศึกษาขั้นพื้นฐาน  
การศึกษาด้านการอาชีวศึกษา  และการศึกษาด้านการอุดมศึกษา  โดยทบวงมหาวิทยาลัยจะแปรสภาพตาม
พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
         ต่อมารัฐบาลภายใต้การนำของพันตำรวจโททักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  มีนโยบายปฏิรูประบบ
ราชการเข้าสู่  “ระบบราชการยุคใหม่”  โดยปรับภาคราชการให้มีคุณลักษณะธรรมาภิบาล  เพื่อยกระดับขีดความ
สามารถและเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการ  ให้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชาชน  
สังคม  และประเทศชาติได้  ซึ่งได้มีการปรับบทบาท  ภารกิจ  และการจัดโครงสร้างระบบบริหารราชการและ
ระบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ  ในการจัดโครงสร้างส่วนราชการใหม่นั้นได้กำหนดให้แยกภารกิจเกี่ยวกับงาน
ด้านศิลปวัฒนธรรมออกจากภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ  ศาสนา  และวัฒนธรรม  ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  ไปจัดตั้งเป็น  “กระทรวงวัฒนธรรม”  จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษา
แห่งชาติแก้ไขเพิ่มเติม  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2545  โดยภายใต้กระทรวงศึกษาธิการใหม่ที่จัดตั้งขึ้นตาม
พระราชบัญญัตินี้  ได้ปรับปรุงการบริหารและจัดการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา  ประกอบกับสมควรให้มีคณะ
กรรมการการอาชีวศึกษาทำหน้าที่พิจารณา  เสนอนโยบายแผนพัฒนามาตรฐาน  และหลักสูตรการอาชีวศึกษา
ทุกระดับที่สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และแผนการศึกษาแห่งชาติ
สนับสนุนทรัพยากร  ติดตาม  ตรวจสอบ  และประเมินผลการจัดการอาชีวศึกษาด้วย
         การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการใหม่  มีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภา
หรือในรูปคณะกรรมการ  จำนวน  4  องค์กร  ได้แก่  สภาการศึกษา  คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  คณะ
กรรมการการอาชีวศึกษา  และคณะกรรมการการอุดมศึกษา  เพื่อพิจารณาให้ความเห็นหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี
หรือคณะรัฐมนตรี  และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดไว้
         คณะกรรมการการอุดมศึกษา  มีหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายแผนพัฒนาและมาตรฐานการศึกษาที่
สอดคล้องกับความต้องการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และแผนการศึกษาแห่งชาติ  การ
สนับสนุนทรัพยากร  การติดตาม  ตรวจสอบ  และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  โดยคำนึงถึง
ความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการของสถานศึกษาระดับปริญญา  ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง
สถานศึกษาแต่ละแห่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
         สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล  มีตำแหน่งเลขาธิการ  (ข้าราชการ  
ระดับ  11)  เป็นผู้บริหารสูงสุด  แบ่งโครงสร้างการบริหารงานออกเป็น  9  สำนัก  ได้แก่
         1.  สำนักอำนวยการ
         2.  สำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา
         3.  สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ
         4.  สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา
         5.  สำนักทดสอบกลาง
         6.  สำนักส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะบุคลากร
         7.  สำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา
         8.  สำนักประสานและส่งเสริมกิจการอุดมศึกษา
         9.  สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน
         สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  มีสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดจำนวน  133  แห่งทั่วประเทศได้แก่
         1.  สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในระบบราชการ  20  แห่ง
         2.  สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ  4  แห่ง
         3.  สถาบันอุดมศึกษาเอกชน  54  แห่ง
         4.  มหาวิทยาลัยสงฆ์ในกำกับของรัฐ  2  แห่ง
         5.  สถาบันราชภัฏ  41  แห่ง
         6.  สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  1  แห่ง  (40  วิทยาเขตทั่วประเทศ)
         7.  สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
         8.  วิทยาลัยชุมชน  10  แห่ง
         พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ. 2546  ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา  
เล่มที่  120  ตอนที่  62  ก  วันที่  6  กรกฎาคม  2546  โดยพระราชบัญญัตินี้ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบการ
ปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย  (ฉบับที่  2)  พ.ศ. 2537  ทำให้ทบวงมหาวิทยาลัยต้องแปรสภาพเป็นสำนักงาน
คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายใหม่  รวมระยะเวลาดำเนินภารกิจ  30  ปี  9  เดือน  7  วัน  มีรัฐมนตรี
ว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและรักษาราชการแทนรัฐมนตรี  บริหารราชการทั้งสิ้น  38  ท่าน  มีปลัดทบวงมหาวิทยาลัย
บริหารราชการ  6  ท่าน
         ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  (Commission  on  Higher  Education)  
มีที่ทำการ  ณ  อาคารเลขที่  328  ถนนศรีอยุธยา  แขวงทุ่งพญาไท  เขตราชเทวี  กรุงเทพฯ  10400  (อาคาร
ทบวงมหาวิทยาลัยเดิม)  มีศาสตราจารย์ร้อยตำรวจเอก  ดร. วรเดช  จันทรศร  นักบริหารระดับ  11  (ปลัดทบวง
มหาวิทยาลัยเดิม)  รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา

                                          *******************************


โดย : * [ วันที่ ]