ทุกวันนี้โลกได้เปลี่ยนไปอย่างไร ?
ภาคใต้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ?
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่ศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และ
สังคมศาสตร์ ได้จัดประชุมวิชาการ เปิดโลกวิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ภาคใต้ ครั้งที่ 1 : การ
แสงหาทางจิตวิญญาณและพลังทางภูมิปัญญา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2544 สถานการณ์ทางด้านสังคม
เศรษฐกิจ และการเมือง ในภาคใต้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
ในทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้เกิดความเจริญ
เติบโตทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก ทั้งจากนโยบายประชานิยมและการปรับราคาผลผลิตที่สำคัญในภาคใต้
คือยางพารา
ในทางการเมืองและความมั่นคง กระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองของโลกและภูมิภาคได้เกิดขึ้น
นับจากรณี 11 กันยายน ที่สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยสงครามในอัฟกานิสถานและอิรัก อันเป็นผลจาก
กระแสการต่อต้านการก่อการร้ายในโลก ซึ่งมีผลอย่างมากต่อกรณีระเบิดที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ผลกระทบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคใต้คือ กระแสเหตุการณ์ความรุนแรงเรื่องการก่อ
ความไม่สงบและการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเมื่อเร็ว ๆ นี้คือ การจับกุมผู้ที่
ทางการอ้างว่าเป็นเครือข่ายขององค์การก่อการร้ายนานาชาติ ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความรู้สึกของ
ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อภาคใต้คือ กรณีการก่อสร้างท่อก๊าซและ
โรงแยกก๊าซไทย มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่มีการประท้วงจากชาวบ้านอย่างยืดเยื้อ
จนอาจเกิดเหตุการณ์บานปลาย เป็นความไม่สงบอีกเหตุการณ์หนึ่งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ภาพที่ซับซ้อนของเหตุการณ์ที่รุนแรงในภาคใต้และในภูมิภาค แม้ว่าจะมีเหตุปัจจัยทั้งจากภายใน
และภายนอกหลายอย่าง แต่มันสะท้อนให้เห็น ความเป็นจริง อันเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่เชื่อมโยง
เรากลับไปสู่ความรู้และความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองในภาคใต้ รวมทั้งในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
ในยุคปัจจุบันด้วย ความเป็นจริง ที่แสดงออกในสองด้านก็คือด้านหนึ่งเป็นการดำรงอยู่ของ ความแตกต่าง
ทางสถานภาพสังคม เศรษฐกิจ ความคิด ความเชื่อ และ ความหลากหลาย ทางสังคม วัฒนธรรม
ชาติพันธุ์ และความเชื่อทางศาสนา ความจริงประการที่สองคือ การยอมรับ และ ความอดทน อดกลั้น
ต่อการดำรงอยู่ของความแตกต่างหลากหลายเหล่านั้น ซึ่งมีอยู่น้อยเกินไปหรืออาจจะไม่มีอยู่เลยในหลาย ๆ
เหตุการณ์
เมื่อมีเหตุการณ์ปัจจุบันมีทีท่าว่าจะลุกลามบานปลายออกไป สิ่งที่เราจะทำได้ในฐานะสถาบันทาง
วิชาการและนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในพื้นที่ก็คือ เฝ้าติดตามและหาเหตุหาผลหาคำอธิบาย
ที่ดี ซึ่งเป็นทางออกของคนในสังคมอย่างสมเหตุสมผล มิใช่งุนงงและไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวที่อยู่ใกล้กับ
เหตุการณ์ที่สุด จึงควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์และให้คำอธิบาย ตีความ ให้ความหมาย
แก่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีและการเสนอทางเลือกหรือทางออกที่ดีที่สุดในการ
ช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ความเป็นจริงที่ดำรงอยู่และจะต้องยอมรับกันในโลกทุกวันนี้ก็คือ ความแตกต่างและหลากหลาย
ทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติศาสนา ทางออกจึงมิใช่การ ปะทะกันของอารยธรรม เพราะความเป็นจริง
อีกด้านหนึ่งก็คือโลกและสรรพชีวิตอยู่มาได้ด้วยความแตกต่างและหลากหลายเช่นนี้มานานนับร้อยพันปี
วิถีการดำรงอยู่ด้วยความสงบสันติและอดทนอดกลั้นก็เป็นความจริงอีกด้านหนึ่งของประชาสังคมที่ต้องสร้าง
ขึ้นมาด้วยความสมดุล การแสวงหาวิธีการดำรงอยู่ด้วยความสันติ ด้วยภูมิปัญญาและสติปัญญา จะเป็น
ทางออกที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคแห่งนี้
ดังนั้น ศูนย์วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จึงได้จัดการประชุมนำเสนอผลการวิจัย เปิดโลก
วิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ขึ้น ภายใต้หัวเรื่องหลักคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
และสันติภาพ
ณ เวทีแห่งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งในด้านภาษาและวรรณกรรม พหุวัฒนธรรม การสื่อสาร
ชุมชน พหุลักษณ์แห่งภูมิปัญญา และพลวัตแห่งประชาสังคมในภาคใต้ การเมือง และความมั่นคง ในการ
ประชุมดังกล่าวศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเป็นผู้เปิด
เวทีความคิดเรื่อง ภาคใต้ : ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสันติภาพ ในช่วงท้าย รศ.ดร. ชัยวัฒน์
สถาอานันท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะอภิปรายสรุปเชิงวิพากษ์ผลงานวิจัยที่ได้นำเสนอทั้งหมดด้วย
หัวข้อ สันติภาพท่ามกลางความหลากหลาย : จากสถานการณ์โลกสู่ภาคใต้ เราจะได้เห็นภาพที่หลากหลาย
ได้รู้จักและยอมรับความหลากหลายนั้นจากเวทีวิชาการครั้งนี้
***********************************
|