กีฬาพื้นบ้านเป็นกิจกรรมหรือการละเล่นของชาวบ้านเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อพละกำลัง หรือเพื่อผ่อนคลาย
ความเครียดทางด้านจิตใจ ซึ่งกีฬาพื้นบ้านทุกชนิดส่งเสริมให้ได้พบปะกัน มีสุขภาพดี และการได้ปรับตัวเข้ากับสังคม
ซึ่งแสดงถึงความเป็นพวกพ้องกัน นอกจากนั้นยังฝึกให้เฉลียวฉลาด มีน้ำใจ และเป็นสุภาพชน โดยเฉพาะภาคใต้กีฬาพื้นบ้าน
หลายประเภทช่วยให้เกิดการประสานกลมเกลียวระหว่างกลุ่มชนไทยพุทธและไทยมุสลิม เพราะกีฬาพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่ขัดแย้ง
กับความเชื่อและศาสนา ครั้นเมื่อกีฬาแบบตะวันตกแพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศและมีการกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร
ในสถานศึกษา ทำให้เกิดการนิยมยกย่องกีฬาตะวันตกเป็นกีฬาสากล กีฬาพื้นบ้านต่าง ๆ จึงค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงไป
ตามลำดับ
บ้านพอแม็ง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ตำบลกายูบอแกะ อำเภอรามัญ จังหวัดยะลา ชุมชนแห่งนี้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับ
ขนมธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ที่สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาพื้นบ้านได้ถูกนำมา
ฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้หลายชนิด
กีฬาพื้นบ้านที่จะขอนำเสนอในกาลนี้คือ แฆและตัมปุรง เป็นการนำกะลามะพร้าวที่มีอยู่มากมายในชุมชนมาเป็น
อุปกรณ์ในการละเล่น โดยใช้มือและเท้า เป็นลีลาท่าทางประกอบการเล่น ซึ่งเป็นการฝึกพละกำลังและออกกำลังกายไปในตัวด้วย
คุณตีพะลี อะตะบู อายุ 54 ปี ผู้อาวุโสในชุมชน เป็นแกนนำในการสืบสานตำนานวัฒนธรรมขนมธรรมเนียม
ประเพณีของชุมชนมาโดยตลอด เป็นระยะเวลายาวนานเล่าว่า แฆและตัมปุรงหรือที่ชาวไทยพุทธเรียกว่า กลิ้งกะลามะพร้าว
เป็นกีฬาพื้นบ้านภาคใต้ที่เล่นกันในกลุ่มชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรมชนิดนี้มีมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย
แล้ว เมื่อครั้งอยู่ในวันเด็กก็เล่นมาตลอดกระทั่งปัจจุบันก็ยังเล่นอยู่ เนื่องจากในชุมชนมีมะพร้าวมากและมะพร้าวสามารถ
นำไปใช้ประโยชน์ในการทำอาหาร เมื่อใช้เนื้อและน้ำมะพร้าวแล้ว ก็จะมีกะลามะพร้าวเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ ในอดีตนั้น
เด็กในชุมชนไม่มีของเล่น จึงนิยมนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นของเล่น โดยนำเอากะลามะพร้าวที่ใช้งานเรียบร้อยแล้ว
มาขูดให้ลื่นแล้วนำมาตัดด้วยเลื่อยให้เป็นวงหรือที่เรียกว่าห่วง โดยจะใช้สนามพื้นที่กว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ
4 เมตร ที่เป็นพื้นเรียบ ซึ่งจะมีกติกาในการเล่น โดยแบ่งเป็น 3 หมากคือ
หมากที่ 1 กลิ้งกะลาที่จุดกลิ้งให้โดนกะลาที่ตั้งรับไว้ที่จุดรับ หากโดนแสดงว่าผ่านหมากที่ 1 และผลัดกันเล่น
หมากที่ 2 เมื่อกลิ้งไปโดนกะลาที่ตั้งรับไว้แล้ว อาจใช้นิ้วเท้ามาคืบกะลาแล้วยกตีกะลาที่ตั้งรับให้โดน หากโดน
แสดงว่าผ่านหมากที่ 2 หลังจากนั้นต้องผลัดกันเล่นโดยจะต้องตั้งต้นเล่นกันใหม่ตั้งแต่หมากที่ 1
หมากที่ 3 เมื่อยกตีกะลาด้วยเท้าโดยกะลาแล้วมาตีกะลาที่ตั้งรับ จับกะลาด้วยมือ แล้วโยนตัวไปด้านหลัง
หลังจากนั้นจึงตีกะลาที่ตั้งรับ หากโดนแสดงว่าจบเกมส์ แล้วตาต่อไปก็ต้องผลัดกันเล่น โดยเริ่มตั้งต้นใหม่จากหมากที่ 1
คุณตีพะลี เล่าให้ฟังจบแล้วก็ให้คณะกลุ่มกริชจากรามัญสาธิตให้ดูในลานวัฒนธรรม งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรม
ครั้งที่ 11 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในพิธีเปิดเมื่อวันพุธที่ 2 กรกฎาคม 2546 พร้อมกำชับว่า เกรงว่า
กีฬาพื้นบ้านชนิดนี้และชนิดอื่น ๆ จะสูญหายไป เพราะปัจจุบันนี้พวกเด็ก ๆ หันมาเห่อวัฒนธรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ที่มาจาก
ภายนอกมากขึ้น ทั้งที่กีฬาพื้นบ้านนั้นจะแฝงไปด้วยภูมิปัญญาที่น่ายกย่อง นอกจากจะเป็นสิ่งที่ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง
คนในชุมชนเป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นกุศโลบายที่คนโบราณใช้เป็นจุดดึงดูดให้ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมผสานกลมเกลียวกัน
โดยจะใช้กิจกรรมดังกล่าวเป็นสื่อกลางในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันสงกรานต์ งานเมาลิดหรือเทศกาลอื่น ๆ ที่มีการนัดหมาย
กันอีกด้วย
**********************************
|