: : : รายละเอียดข่าว : : :

ข่าว ปีที่ :ข่าวปีที่ 6 ฉบับที่ 05 ประจำเดือน 05 2546
หัวข้อข่าว : นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี ผลิตไรน้ำเค็มจากน้ำทิ้งของโรงงานแปรรูปอาหารทะเล
รายละเอียด :
         นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ศึกษาการผลิตไรน้ำเค็มจากน้ำทิ้งของโรงงานแปรรูป

อาหารทะเล  เป็นการเพิ่มคุณค่าน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้รับผลกระทบจาก

การปล่อยน้ำทิ้ง

         ผศ.ดร. ชลธี  ชีวะเศรษฐธรรม  ภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรม  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่าไรน้ำเค็มเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยง

สัตว์น้ำเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากสามารถนำไปเป็นอาหารสดเพื่อเลี้ยงและอนุบาลสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่าง  ๆ  ได้หลากหลาย  

มีผลทำให้สัตว์น้ำที่กินไรน้ำเค็มเป็นอาหารมีโอกาสรอดตายและการเติบโตดีขึ้น  ดังนั้นความต้องการไรน้ำเค็มเพื่อใช้ประโยชน์

ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  จึงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง  อย่างไรก็ตามการเพาะเลี้ยงไรน้ำเค็มเพื่อการใช้ประโยชน์  ส่วนใหญ่จำกัด

พื้นที่อยู่แต่เพียงเขตภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ  ในขณะที่เขตพื้นที่ภาคใต้ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หลักที่มีการเพาะเลี้ยง

สัตว์น้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  แต่ยังไม่มีการนำเอาไรน้ำเค็มมาเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง  

ทั้ง  ๆ  ที่ภาคใต้มีวัตถุดิบที่หลากหลายและมีศักยภาพสูงเพื่อการนำมาผลิตไรน้ำเค็ม

         จากศักยภาพที่มีอยู่และความเป็นไปได้ที่มีค่อนข้างสูงของพัฒนาการเพาะเลี้ยงไรน้ำเค็มในเขตพื้นที่ภาคใต้  

แผนกวิชาเทคโนโลยีการประมง  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  จึงได้ศึกษาวิจัยภายใต้การสนับสนุนของทบวงมหาวิทยาลัย

เพื่อพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงไรน้ำเค็ม  จากการใช้น้ำทิ้งที่ยังไม่ได้รับการบำบัดจากโรงงานแปรรูปอาหารทะเล  โดยเริ่มต้นได้

ทดลองใช้น้ำทิ้งจากโรงงานปลาป่นมาผลิตให้อยู่ในรูปของอาหารที่ไรน้ำเค็มสามารถเติบโตได้  ซึ่งได้แก่สาหร่ายเซลล์เดียว

และแบคทีเรียที่ผู้วิจัยได้คัดแยกสายพันธุ์ที่เหมาะสมออกมาจากอ่าวปัตตานีและบริเวณใกล้เคียง  เพื่อนำมาเป็นอาหารให้กับ

ไรน้ำเค็ม  ผลการศึกษาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ  โดยผลผลิตต่ำสุดต่อเดือนของไรน้ำเค็มที่สามารถผลิตได้อยู่ที่ประมาณ  450 กรัม

ถึง  600  กรัมต่อปริมาตรน้ำหนึ่งตัน  และไรน้ำเค็มที่ผลิตได้ก็สามารถนำไปเป็นอาหารให้กับสัตว์น้ำชนิดอื่นได้เป็นอย่างดี  

ซึ่งปัจจุบันไรน้ำเค็มจากงานวิจัยที่ผลิตได้มาจากอาคารต้นแบบการเลี้ยงไรน้ำเค็มของแผนกวิชาเทคโนโลยีการประมง  คณะ

วิทยาศาสตร์และเทคโนดลยี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  ขั้นตอนต่อไปจะมีการขยายระบบการเลี้ยงให้

สามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ต่อไปในอนาคต

         ผศ.ดร. ชลธี  ชีวะเศรษฐธรรม  กล่าวถึงผลพลอยได้จากการผลิตไรน้ำเค็มจากน้ำทิ้งโรงงานแปรรูปอาหารทะเลว่า  

จากการเลี้ยงไรน้ำเค็มด้วยการใช้น้ำทิ้งจากโรงงานแปรรูปอาหารทะเลคือ  การเพิ่มคุณค่าน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อนำกลับมาใช้

ประโยชน์  อีกทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้ได้รับผลเสียจากการปล่อยน้ำทิ้งสู่ภายนอกอีกด้วย  



                                                                           ******************************

โดย : 192.168.148.54 * [ วันที่ 2005-06-12 10:29:37 ]