รายละเอียด :
|
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รายงานสรุปผลการประชุมทางวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับภาคใต้ ประเมินผล
การประชุมในแต่ละหัวข้อพบว่าหัวข้อการอภิปรายและการปฏิบัติ : แนวคิดขององค์กรพัฒนาเอกชนในภาคใต้ และศิลปะการแสดงและ
การอภิปรายทางสังคม ได้ระดับความพึงพอใจจากผู้เข้าร่วมประชุมในระดับดีมาก ส่วนหัวข้ออื่น ๆ ได้รับความพึงพอใจในระดับดี
รศ.ผดุงยศ ดวงมาลา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่าตามที่มหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ
The First Inter Dialogue Conference on Southern Thailand เมื่อวันที่ 13 15 มิถุนายน 2545
ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยใช้หัวข้อหลักในการประชุมว่า ประสบการณ์ถิ่นไทยทักษิณ : การปริวรรตทาง
สังคมในทัศนะประชาชน (Experiencing Southern Thailand : Current Social Transformations from
Peoples Perspectives) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยและการแลกเปลี่ยน
ข้อมูลความรู้ความคิดเห็นเกี่ยวกับพื้นที่ภาคใต้ระหว่างนักวิชาการไทย นักวิชาการต่างประเทศ ภาครัฐ เอกชนและประชาชน และ
เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงของภาคใต้ ตลอดจนเป็นการสนับสนุนให้มีการขยายขอบเขตการนำผลงาน
วิจัยไปใช้ในเชิงพัฒนา รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและความร่วมมือที่ดีในระดับต่าง ๆ ต่อไป
ในการประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
เปิดการประชุมฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2545 และมีผู้บรรยายนำการประชุมประกอบด้วย ศาสตราจารย์ Stanley Tambiah
จากมหาวิทยาลัย Harvard , ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย
วินิจกุล จากมหาวิทยาลัย Wisconsin, รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการนี้
มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศคือ มูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิโตโยต้า และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่าง ๆ 20 ประเทศ รวม 454 คน เป็นชาวไทย 363 คน และชาวต่างประเทศ 91 คน
ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ออสเตรีย อังกฤษ เยอรมัน มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ กัมพูชา แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย
ปากีสถาน เวียดนาม ศรีลังกา ฟินแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และไทย โดยมีผลงานทางวิชาการจากนักวิชาการไทย จำนวน 61
เรื่อง ผลงานทางวิชาการของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 19 เรื่อง และผลงานทางวิชาการจากต่างประเทศ 38 เรื่อง
รวมเป็น 118 เรื่อง เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมฯ แล้วจะได้คัดเลือกผลงานทางวิชาการ เพื่อนำ proceedings เผยแพร่ทั้งในและ
ต่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้การประชุมครั้งนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างดีเช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (15 มิถุนายน 2545) ,
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (17 มิถุนายน 2545) , The Nation (14 June 2002 , 24 June 2002 , 28 June 2002)
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวอีกว่าการประชุมทางวิชาการครั้งนี้ได้
สำเร็จลุล่วงเรียบร้อยไปด้วยดีตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมและการดำเนินงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งจากผลการประเมินของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้รับแบบประเมินผลคืนมาจำนวน 37 ชุด โดยภาพรวมมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สามารถจัดประชุมนานาชาติได้ในระดับที่ดี โดยจากการประเมินผลการประชุมในแต่ละหัวข้อพบว่า
หัวข้อการอภิปรายและการปฏิบัติ : แนวคิดขององค์กรพัฒนาเอกชนในภาคใต้ และศิลปะการแสดงและการอภิปรายทางสังคม ได้ระดับ
ความพึงพอใจจากผู้เข้าร่วมประชุมในระดับดีมาก ส่วนหัวข้ออื่น ๆ ได้รับความพึงพอใจในระดับดี
********************************
|