รายละเอียด :
|
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2544 จำนวน 3,819 คน เมื่อวันที่ 21 22 กันยายน ที่ผ่านมา
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยรถยนต์พระที่นั่งถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2545 ในเวลา 14.00 น. ทรงวางพานพุ่มดอกไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ และของส่วนพระองค์ ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
โดยมีอธิการบดี รองอธิการบดี และคณบดี เฝ้ารับเสด็จฯ จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
อาคารเรียนรวมและหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ เพื่อพระราชทานปริญญาบัตร
ในโอกาสดังกล่าวศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กราบทูลรายงานกิจการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ความว่า พุทธศักราช 2545 เป็นปีที่ 35 ในการปฏิบัติงานภายใต้บริบทแห่งภารกิจหลักอุดมศึกษา
ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มุ่งพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำหน้าที่ผลิต
บัณฑิต บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีการวิจัยเป็นฐานและเลือกเป็นผู้นำทางวิชาการในบางสาขา ขณะเดียวกัน
การปฏิบัติภารกิจภายในบทบาทความเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค ซึ่งต้องเอื้อต่อการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นอย่างมี
ประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น ชุมชน และการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งทางด้านการผลิตกำลังคน
ที่มีคุณภาพสูง การสร้างองค์ความรู้ในอันที่จะลดการพึ่งพาวิทยาการและเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยความ
มุ่งมั่นที่ให้ได้ผลผลิตและบริการที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองตามระบบมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและภายนอก
ประเทศ โดยในรอบปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีทิศทางการพัฒนาและผลการดำเนินงานตามภารกิจต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ปรับทิศทางการพัฒนาให้มีภารกิจด้านการวิจัยและการผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาโท
และปริญญาเอกมากขึ้น แต่จะมีการเพิ่มการรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีด้วยเช่นกัน โดยมีแผนการผลิตบัณฑิตทุกระดับในปริมาณ
ที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศชาติ และให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพทัดเทียมนานาชาติ การส่งเสริมการศึกษา
จะเน้นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนในภาคใต้ ให้สิทธิในการเข้าถึงการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส และให้สังคมเข้าถึง
แหล่งความรู้อย่างกว้างขวางและเปิดกว้างด้วยรูปแบบการรับนักศึกษาใหม่ที่หลากหลาย
สำหรับการวิจัยและบัณฑิตศึกษา จะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัย (Research oriented University)
เน้นการขยายตัวระดับบัณฑิตศึกษา และการเผยแพร่และตีพิมพ์ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่หลักสูตรที่
เน้นการวิจัยและหลักสูตรที่เป็นสหสาขาวิชา งานวิจัยของบัณฑิตศึกษาและงานวิจัยของอาจารย์ จะเน้นให้มีความสอดคล้องกับความ
ต้องการของประเทศและของท้องถิ่น ให้มีความเชื่อมโยงกับปัญหาจากอุตสาหกรรมและภาคเอกชน ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น
โดยได้เลือกสาขาวิชาที่จะสนับสนุนให้เกิดความเป็นเลิศ เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสาขาที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง
แล้วหลายสาขา อาทิ สาขาชีวเคมี ระบาดวิทยา พลังงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อาหารทะเล สิ่งแวดล้อม และอิสลามศึกษา
รวมทั้งมีการพัฒนาภาระงานทุกด้าน โดยให้ประชาคมมีส่วนร่วมในการพัฒนามากที่สุด
สำหรับผลการดำเนินงานแต่ละด้านสรุปได้ดังนี้
- ด้านการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีพื้นที่ให้บริการการศึกษา ณ วิทยาเขตต่าง ๆ ใน 5 จังหวัดคือ
สงขลา ปัตตานี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และตรัง แต่ละวิทยาเขตจะมีจุดเน้นที่ต่างกัน เป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง
และหลากหลาย และขยายศักยภาพให้สามารถรับนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ตอบสนองกับพระราช
บัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย จะใช้ฐานการพัฒนาสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อ
บูรณาการให้บัณฑิตเกิดปัญญา สมรรถนะ และโลกทัศน์สากล ในปีการศึกษา 2545 มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนใน
หลักสูตรต่าง ๆ รวม 203 สาขาวิชา เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 96 สาขาวิชา ปริญญาตรีต่อเนื่อง 8 สาขาวิชา ประกาศนียบัตร
บัณฑิต 2 สาขาวิชา ปริญญาโท 74 สาขาวิชา และปริญญาเอก 22 สาขาวิชา มีนักศึกษารวม 21,142 คน คณาจารย์
1,556 คน และบุคลากรอื่น ๆ รวมทั้งหมดประมาณ 6,900 คน โดยคาดหวังว่าในปีการศึกษา 2549 จะมีหลักสูตรระดับ
ปริญญาโทขยายเพิ่มเป็น 100 สาขาวิชา หลักสูตรปริญญาเอกขยายเป็น 40 สาขาวิชา และจะมีนักศึกษาปริญญาตรี / เอก
ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของนักศึกษาปริญญาตรี
- ด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยสนับสนุนงานวิจัยเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการ มีการจัดตั้งกองทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย
ขยายงานวิจัยของบัณฑิตศึกษา เสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของนักวิจัยและผู้ให้บริการวิชาการ สนับสนุนทุนวิจัยทั้งประเภทที่
มหาวิทยาลัยกำหนดทิศทางอย่างมีเป้าหมาย สอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาภูมิภาค รวมทั้งการแก้ปัญหาท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่
พิเศษในภาคใต้ และสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอโครงการเป็นชุดโครงการวิจัย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยได้รับการ
สนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยจากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานจากต่างประเทศรวม 203 โครงการ เป็นเงินประมาณ 46.4 ล้าน
บาท ผลงานวิจัยที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน การพัฒนาไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม การใช้สมุนไพรและพืชท้องถิ่นเพื่อ
สุขภาพในมนุษย์และสัตว์ การพัฒนาการผลิตอาหารทะเล การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพารา และผลงานประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น การ
ผลิตเครื่องกะเทาะและแยกเปลือกเมล็ดยางพาราเพื่อนำมาเป็นอาหารสุกร เครื่องช่วยกลืนสำหรับผู้ป่วยที่กลืนอาหารลำบาก การผลิต
ถ้วยย่อยสลายจากส่วนผสมของยางพาราและแป้งมันสำปะหลังแทนการใช้โฟม เป็นต้น
- ด้านการบริการวิชาการ มีการให้การบริการวิชาการทั้งแบบให้เปล่าแก่ผู้ด้อยโอกาส แบบเก็บค่าบริการโดยไม่มุ่งผลกำไร
และแบบเก็บค่าบริการโดยมีกำไร งานบริการวิชาการที่สำคัญเช่น การพัฒนาศักยภาพของผู้ด้อยโอกาสเพื่อประกอบอาชีพอิสระ
การพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง การบริการการวิเคราะห์ทางเคมีเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา
ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาต่าง ๆ และการให้การสนับสนุนทางวิชาการแก่
โครงการความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ IMT GT นอกจากนี้ยังให้การบริการรักษาพยาบาล
ซึ่งจัดบริการโดยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคและมีระบบบริการที่ผ่านการประกันคุณภาพโรงพยาบาล
(HA) เป็นแห่งแรก สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกวันละ 2,400 ราย ผู้ป่วยในเดือนละ 2,600 ราย มีจำนวนเตียงผู้ป่วย 764
เตียง และการให้บริการโดยโรงพยาบาลทันตกรรม ให้บริการผู้ป่วยวันละ 300 ราย พร้อมทั้งมีงานบริการทางเภสัชกรรม ศูนย์บริการ
สุขภาพช่องปากชุมชนเมือง งานบริการสาธารณสุขตามโครงการทันตสาธารณสุขชนบทภาคใต้ และโครงการรณรงค์เพื่อป้องกัน
โรคเอดส์
- ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยตระหนักถึงโอกาสที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในภาคใต้ ท้องถิ่นที่อุดมด้วย
ศิลปะและวัฒนธรรมและความเข้มแข็งทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม อีกทั้งยังตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับ
ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยจึงมีแผนพัฒนาที่จะสร้างความ
แข็งแกร่งทางศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคใต้ โดยการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดตั้งสถาบันวัฒนธรรมศึกษา
กัลยาณิวัฒนา และให้มีศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมในทุกวิทยาเขต สนับสนุนให้บุคลากรศึกษาและวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้รู้ซึ้ง
และรู้จริง มีการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทยออกสู่สังคมโลก และเริ่มดำเนินการรวบรวมพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชชนก
ให้สมกับที่ได้รับพระราชทานพระนามเป็นชื่อมหาวิทยาลัย
- ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมีความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศในรูปของการ
พัฒนางานวิจัย การทำวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากรและนักศึกษา การพัฒนาหลักสูตรและการสอน การศึกษาดูงานและ
ฝึกอบรม และการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ในรอบปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ
มหาวิทยาลัย / สถาบันในต่างประเทศ รวม 74 ฉบับ จาก 18 ประเทศ กิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยนนักศึกษาประมาณ
200 คน แลกเปลี่ยนอาจารย์และบุคลากรประมาณ 150 คน โครงการวิจัยร่วม 17 โครงการ และการจัดหลักสูตรสัมมนา ประชุม
ฝึกอบรม ระดับนานาชาติ 19 ครั้ง
การดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดังได้กราบทูลพระกรุณามาโดยสังเขปนี้นับว่าก้าวหน้าไปด้วยดี ในปี
การศึกษา 2544 มหาวิทยาลัยมีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนและได้รับอนุมัติปริญญาบัตร
จากสภามหาวิทยาลัย จำนวน 3,819 คน แบ่งเป็นปริญญาเอก 3 คน ปริญญาโท 699 คน และปริญญาตรี 3,120 คน นอกจากนี้
ยังมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยพยาบาลสมเด็จพระราชชนนีในภาคใต้ ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์ 5 แห่งคือที่จังหวัดสงขลา ตรัง นราธิวาส นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี อีกประมาณ 600 คน ในปี
พุทธศักราช 2545 นี้ สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีมติให้ถวายปริญญาและมอบปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ
ที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ 1 พระองค์ และ 5 ราย รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2545
1 ราย อาจารย์ดีเด่นกองทุน เอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ 1 ราย อาจารย์ตัวอย่างในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ราย
พระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ 1 พระองค์ และ
5 ราย ดังนี้
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติ
พระราชกรณียกิจทั้งปวง เพื่อสนองพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่ง
พระราชกรณียกิจต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ทรงคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม
พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งคือทรงสนพระทัยและห่วงใยทุกข์สุขของประชาชนคนไทยที่ถูกคุกคามด้วยโรคเอดส์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในเด็ก ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงดำเนิน
งานร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยทรงพระกรุณารับเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุนพระวรราชาทินัดดามาตุ เพื่อลดการติดเอดส์
จากแม่สู่ลูก ทรงจัดตั้งกองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอดส์โดยทั่วไป ทรงมีเมตตารับเป็นองค์อุปถัมภ์กองทุนนมสำหรับ
เด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์
จากพระราชกรณียกิจในด้านที่เกี่ยวกับโรคเอดส์มานานกว่า 10 ปี ดังเป็นที่ประจักษ์ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ
(UNAIDS) ได้ยกย่องและสดุดีพระเกียรติคุณด้วยการถวายโล่เกียรติคุณในฐานะทรงเป็นผู้นำในการอุทิศพระองค์และทรงงานด้วย
พระวิริยะอุตสาหะเพื่อประชาชนในการรณรงค์ต่อต้านการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ การป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก และ
การรณรงค์กระตุ้นเตือนชุมชนให้เกิดการยอมรับการดูแลและการช่วยเหลือแก่ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัวไทย
นอกจากโครงการเอดส์สภากาชาดไทยแล้ว ยังทรงมีพระกรณียกิจอีกมากมาย อาทิ โครงการอาสากาชาดฟื้นฟูสุขภาพถึงบ้าน
HOME HEALTH CARE โครงการเพื่อนพึ่ง (ภาฯ ) และพระกรณียกิจอีกประการหนึ่งที่ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรผู้ได้รับ
พระกรุณาจากพระองค์ท่านคือ การเสด็จเยี่ยมและประทานกำลังใจแก่คนชรา พระกรณียกิจอันเปี่ยมด้วยพระเมตตานี้เกิดขึ้นเนื่องจาก
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเข้าพระทัยปัญหาต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะปัญหา
เกี่ยวกับเด็กและคนชรา
- ศาสตราจารย์ ดร. สุรินทร์ เศรษฐมานิต สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยม สาขาวิศวกรรมโยธา
จากอิมพีเรียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน ปัจจุบัน
ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชานประจำสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์เกียรติคุณประจำ
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มและผลักดันให้เกิด
โครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการเสริมสร้างสมรรถนะของกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โครงการมิติ
ใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการทางเศรษฐศาสตร์ โครงการความเหมาะสมในการเก็บค่าบริการบำบัดน้ำเสียสำหรับ
กรุงเทพฯ โครงการแผนหลักการจัดการมลพิษทางอากาศจากอุตสาหกรรม ฯลฯ ในส่วนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศาสตราจารย์
ดร. สุรินทร์ เศรษฐมานิต เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2528 2544 และได้ให้การสนับสนุนงานพัฒนา
บัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยให้ข้อเสนอแนะและคำปรึกษาต่าง ๆ อย่างเต็มกำลังทั้งเวลาและความสามารถ
ในการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการร่างหลักสูตรทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งหลักสูตรระดับ
ปริญญาตรี โท และเอก
- นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้อุทิศตนให้กับงานการพัฒนา
ชุมชน เริ่มตั้งแต่การเป็นนักพัฒนา จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการโครงการฝึกอบรมผู้นำชุมชนในภาคเหนือ จากความมุ่งมั่นและ
อุทิศให้กับการพัฒนาชุมชน นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ได้ก่อตั้งสมาคมหยาดฝนและปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหยาดฝน
- ศาสตราจารย์ ดร. โดนัลด์ รอย แมคแนล สำเร็จการศึกษาระดับปริญยาตรีและปริญญาโทจาก University of
Tasmania ปริญญาเอกสาขาสถิติจาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณใน Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย ศาสตราจารย์ ดร. โดนัลด์ รอย แมคแนล เป็นผู้
เชี่ยวชาญสูงในด้านสถิติจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงนักสถิติระดับนานาชาติและเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลา
นครินทร์ในการพัฒนาหลักสูตร การสอน และการวิจัยในสาขาวิธีวิทยาการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นับตั้งแต่
เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีบทบาทยิ่งในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านสถิติของมหาวิทยาลัย โดยเป็นผู้
ประสานงานกับมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอกของคณาจารย์และยังเป็นผู้ประสานงานในการ
เชิญผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศด้านสถิติและคอมพิวเตอร์มาบรรยายที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่เนือง ๆ ตลอดระยะเวลา
5 ปีที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร. โดนัลด์ รอย แมคแนล ได้เสียสละทรัพย์ส่วนตัวโดยการนำนักศึกษาปริญญาโทในความดูแลไป
ศึกษาเพิ่มเติม ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ นับว่าเป็นความเสียสละและเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้
วิทยาการใหม่ ๆ ที่นักศึกษาได้รับสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้อย่างดียิ่ง
- ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
มีความสามารถในการบริหารจัดการทำให้เป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และคณะแพทย
ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นที่ยอมรับทั้งวิชาการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ด้านสาธารณสุขและวงวิชาการอื่น ๆ
อาทิ ในนามคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรรมการความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างสำนักงานกรรมการ
วิจัยแห่งชาติกับสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการ
ป้องกันและควบคุมโรคธาลัสซีเมีย กรรมการระบาดวิทยาแห่งชาติ ฯลฯ
- รองศาสตราจารย์ ดร. โคทม อารียา สำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Registrar สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นผู้มีผลงานเด่นในองค์กรพัฒนาเอกชน
โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิวัฒนธรรมเอเซียเพื่อการพัฒนา ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ประธานคณะกรรมการมูลนิธิ
สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เป็นต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองศาสตราจารย์ ดร. โคทม อารียา ได้รับ
เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฉบับใหม่ (รูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ)
โดยที่รองศาสตราจารย์ ดร. โคทม อารียา เป็นนักวิชาการที่อุทิศตนในการทำงานโดยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน
รางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2545 1 ราย ได้แก่ นายบู นวลศรี
นายบู นวลศรี อายุ 67 ปี เป็นชาวจังหวัดตรัง ในด้านการศึกษาได้อ่านเขียนด้วยตนเอง เป็นผู้นำชุมชนและเครือข่ายเพื่อการ
จัดการทรัพยากรชายฝั่งและลุ่มน้ำจังหวัดตรัง เป็นผู้นำที่โดดเด่นในการคิดปลูกป่าชายเลนชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย (ที่บ้าน
ทุ่งทอง บ้านแหลมไทย บ้านแหลมมะขาม) ได้ทำงานร่วมกับสมาคมหยาดฝนในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง จนทำให้เกิดรูปแบบ
ที่เด่นชัด กล่าวได้ว่านายบู นวลศรี เป็นผู้มีส่วนทำให้ชุมชนบ้านแหลมมะขามได้รับรางวัล พระสิทธิธาดาทองคำ และยังเป็นผู้ที่ต่อสู้
ให้เลิกใช้อวนรุน อวนลาก อย่างได้ผลโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงและใช้งบประมาณ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ดำเนินการปกป้องชุมชน
ให้พ้นจากยาเสพติดโดยใช้ศาสนาเข้ามาช่วยชุมชนด้าน ชุมชนบำบัด
อาจารย์ดีเด่นกองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ 1 ราย ได้แก่ ดร. เมธี เอกะสิงห์
ดร. เมธี เอกะสิงห์ สำเร็จการศึกษาสูงสุดคือระดับปริญญาเอก สาขาวิชา Soil Science จาก Oregon State
University ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ ระดับ 7 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้อุทิศตน
อย่างเต็มที่ให้กับการเรียนการสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการ และงานอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการเกษตรเช่น
เป็นผู้ริเริ่มนำเอาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มาจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของดิน เป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ระบบ
เครือข่ายข้อมูลและข่าวสารในการเรียนการสอนและการวิจัยด้านการเกษตร นอกจากนี้ยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารและกรรมการต่าง ๆ
เช่น เป็นอนุกรรมการระดับชาติทางด้านระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อพัฒนาเขตเมืองและชนบทของกระทรวงวิทยาศาสตร์และ
เทคโนโลยี เป็นที่ปรึกษาด้านระบบฐานข้อมูลดินของกรมพัฒนาที่ดิน ฯลฯ
อาจารย์ตัวอย่างในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ราย คือ
ด้านการวิจัย
- รองศาสตราจารย์ ดร. ฉวีวรรณ จั่นสกุล สำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดคือปริญญาเอก สาขาวิชาเภสัชวิทยา ที่ Monash University
ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าและ
วิจัยอย่างต่อเนื่องทางด้านสรีรวิทยาและเภสัชวิทยาของระบบหัวใจและหลอดเลือดมาโดยตลอด งานวิจัยทางเสรีรวิทยาเชิงประยุกต์ โดย
ศึกษาผลและกลไกการแสดงฤทธิ์ของสารจากพืชสมุนไพรต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้รองศาสตราจารย์ ดร. ฉวีวรรณ จั่นสกุล
ได้เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับนานาชาติ เป็นผู้ที่มีศักยภาพสูงทางการวิจัย โดยได้รับทุน STA fellowship สำหรับนักวิจัยอาวุโสที่มี
ผลงานระดับนานาชาติให้เข้ารับการฝึกอบรมการทำวิจัยที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับทุนกาญจนาภิเษกสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกสาขาชีวเวชศาสตร์
รุ่นที่ 2 4 ได้รับรางวัลจาก The Federation of Asian and Oceanian Physiological Societies ให้ไปเสนอ
ผลงานการประชุมนานาชาติระดับสูงทางสรีรวิทยา ได้รับ Travel Award จาก 14 World Congress of Pharmacology
ให้ไปเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่มีผลงานวิจัยที่นำไปใช้อ้างอิงสูงที่สุดในมหาวิทยาลัย
สงขลานครินทร์
ด้านการเรียนการสอน
- รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอุ่นใจ กออนันตกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรอง
ศาสตราจารย์ ระดับ 9 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นที่ตั้งมั่นและดำรงตนในมาตรฐานของความเป็นครูแพทย์ เป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่น
ในด้านการเรียนการสอนคือ การให้ความสำคัญในเรื่องของการสอนแบบการใช้ปัญหาเป็นที่ตั้ง PBL (Problem based learning)
เพื่อให้นักศึกษาได้มีความสามารถในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหาของผู้ป่วยได้อย่างเป็นขั้นตอน ในด้านการวิจัย มีผลงานวิจัยในแขนงวิชาที่
รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องโดยได้นำความรู้และผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน การดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยทาง
สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาด้วยคลื่นความถี่สูง ในด้านวิชาการได้ริเริ่มก่อตั้งหน่วยบริบาลทารกในครรภ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย
บริบาลทารกในครรภ์ ซึ่งหน่วยดังกล่าวมีผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นทุกปี
- รองศาสตราจารย์ช่อฟ้า นิลรัตน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง ไม่ได้สอนเพียงแค่เนื้อหาของวิชาเท่านั้น ยังได้สอดแทรกจริยธรรมและคุณธรรมควบคู่ไปด้วย สร้างจิตสำนึกถึง
ความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคมหลังจากที่จบการศึกษาแล้ว รองศาสตราจารย์ช่อฟ้า นิลรัตน์ จึงเป็นอาจารย์ที่นักศึกษาประทับใจและระลึกถึง
อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นที่พึ่งของอาจารย์รุ่นใหม่ของภาควิชาคณิตศาสตร์มาตลอดทั้งในด้านการสอนและด้านอื่น ๆ
ด้านการบริหารวิชาการ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุทธนา ศิริวัธนนุกูล สำเร็จการศึกษาระดับสูงสุดคือปริญญาเอกจาก University of the Philippienes at Los
Banos ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากร
ธรรมชาติ เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านวิชาการที่ถูกต้อง ทันสมัย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและได้ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการดังกล่าวไปยังผู้ใช้
อย่างกว้างขวางและเป็นระบบ เช่น มีการฝึกอบรมการใช้สมุนไพรในสุกรให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ และมีการประเมินผลการฝึกอบรมอย่าง
ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
- รองศาสตราจารย์ ดร. อาภรณ์ เชื้อประไพศิลป์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรอง
ศาสตราจารย์ ระดับ 9 ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะ
พยาบาลศาสตร์ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการบูรณาความรู้ จารีตประเพณี จะเห็นได้จากการศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน เป็นผู้
พยายามสืบสานศีลธรรมอันดีงามและธรรมะให้เป็นหนึ่งเดียวกับวิถีชีวิตประจำวัน โดยได้ผลักดันและร่วมกับหมู่คณะจัดกิจกรรมอันเป็น
ประโยชน์ เช่น โครงการสมาธิเพื่อการเริ่มต้นที่ดีของวันใหม่ การตักบาตรและสนทนาธรรมทุกเช้าภายในมหาวิทยาลัย ฯลฯ
********************************
|